ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทางเลือกใหม่ของคนไทย

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทางเลือกใหม่ของคนไทย

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทางเลือกใหม่ของคนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ประเทศไทยยังคงขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในหลายสาขา โดยเฉพาะสาขาที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และทรงมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาสุขอนามัยของพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด พระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาและวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อพัฒนาบุคลากร การบริการรักษา ตลอดจนเทคโนโลยีทางการแพทย์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานระดับสากล จึงมีพระดำริจัดตั้ง “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” เมื่อปีพ.ศ. 2559

     ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นวิทยาลัยการแพทย์แห่งแรกที่มีราชบัญญัติจัดตั้งเป็นการเฉพาะของตนเอง มีพันธกิจหลักคือการเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และการแพทย์ชั้นนำของภูมิภาค ที่ผลิตพัฒนาบุคลากรและทำการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมไปถึงสัตวแพทย์  และการเป็นสถาบันทางการแพทย์ ที่ให้บริการดูแลรักษาแบบบูรณาการ ครอบคลุมทุกโรคโดยแพทย์ที่เชี่ยวชาญและด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล สำหรับประชาชนชาวไทยทุกระดับ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศในการพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ประกอบไปด้วย ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ ที่เน้นการบำบัดรักษาโรคมะเร็งโดยเฉพาะ ศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ สำหรับการบริบาลรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ และคลินิกจักษุ  และศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ ที่จะเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ รักษาครอบคลุมทุกโรคอย่างครบวงจร ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ปัจจุบัน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็นองค์ประธานราชวิทยาลัย และอยู่ภายใต้การบริหารงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รักษาการอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์  

     เป้าหมายของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คือการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพื่อเติมเต็มในสิ่งที่ขาดทั้งองค์ความรู้และบุคลากรให้กับวงการสาธารณสุขไทย โดยมีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาในระดับปริญญาตรี ประกอบด้วย หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ที่จะเข้าศึกษา 3 วิธี คือ แบบรับตรงที่พิจารณาคะแนนจากสถาบันศึกษาและการสัมภาษณ์ แบบคัดเลือกผ่านการสอบจากข้อสอบกลางของรัฐ และแบบโควต้าจากโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ เป็นสถาบันการศึกษาระดับปริญญาโทและเอก ที่มุ่งเน้นทักษะในการทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ และสามารถนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ เพื่อเผยแพร่ต่อยอดความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม

     ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ กล่าวว่า การเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดให้วงการสาธารณสุขไทยในอนาคตของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นั้น ไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มจำนวนบุคลากร แต่หมายถึงการเพิ่มคุณภาพเฉพาะด้านที่จำเป็นสำหรับปัจจุบันและอนาคต โดยมีมาตรฐานที่สูงขึ้นด้วย บางครั้งการวินิจฉัยและการรักษาโรคช้าไม่ใช่เพราะขาดแคลนแพทย์  แต่แพทย์ต้องไปทำงานหน้าที่อื่น ๆ ด้วย เช่น การตรวจอัลตราซาวด์ แพทย์ที่ทำเป็นมีจำนวนจำกัด ในขณะที่เครื่องมือมีอยู่ ทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวตรวจนาน หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เขามีนักอัลตราซาวด์โดยเฉพาะ ทำการตรวจแล้วบันทึกภาพผลตรวจไว้อย่างเป็นระบบ ให้แพทย์มาอ่านผลภายหลัง การบริการก็จะเร็วขึ้น รักษาคนไข้ได้มากขึ้น ดังนั้น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงจัดตั้งโรงเรียนอัลตราซาวด์ สำหรับการผลิตนักอัลตราซาวด์โดยเฉพาะ

     นอกจากการผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ยังมีโครงการระยะยาว คือ โรงพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อรองรับประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยตัวอาคารโรงพยาบาลจะออกแบบสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เนื่องจากผู้สูงอายุมีความแตกต่างจากผู้ป่วยหรือผู้พิการทั่วไป ต้องมีการเตรียมพร้อมที่แตกต่างกัน  ซึ่งในบริเวณโรงพยาบาลจะมีศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพ ตลอดจนบ้านพัก ซึ่งมุ่งเน้นการออกแบบที่ถูกต้อง ทั้งตัวโครงสร้างและการบริการที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพในการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง

     ด้วยพระปณิธานอันมุ่งมั่นของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในการช่วยเหลือให้พสกนิกรของพระองค์มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีพลานามัยที่แข็งแรง

     ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จึงเป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดในการปฏิรูปรูปแบบการศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อคุณภาพชีวิตของชาวไทย เป็นทางเลือกใหม่ทางการศึกษา ที่มุ่งผลิตและพัฒนาบัณฑิตให้สามารถคิดวิเคราะห์ ค้นคว้าวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาทางสาธารณสุขใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต



[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook