วิกฤติ “พิษสุนัขบ้า” ระบาดในวัว ประกาศควบคุม 22 จังหวัด

วิกฤติ “พิษสุนัขบ้า” ระบาดในวัว ประกาศควบคุม 22 จังหวัด

วิกฤติ “พิษสุนัขบ้า” ระบาดในวัว ประกาศควบคุม 22 จังหวัด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้าเริ่มส่อวิกฤติ เมื่อกรมปศุสัตว์ ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว 30 วัน ชนิดโรคพิษสุนัขบ้า 22 จังหวัด หลังพบผู้เสียชีวิต 3 ราย ขณะที่สถานการณ์สัตว์ติดเชื้อ พบแพร่ระบาดมากสุดในสุนัข อันดับที่ 2 คือ วัว และ แมว อยู่ในอันดับที่ 3

[ประกาศ! กทม.-นนทบุรี และอีกหลายจังหวัด เป็นพื้นที่พิษสุนัขบ้าระบาดชั่วคราว 30 วัน]

      สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศเขตควบคุมโรค “โรคพิษสุนัขบ้า” ชั่วคราว 30 วัน ใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ สุรินทร์ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา น่าน บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ร้อยเอ็ด สงขลา ระยอง ตาก ศรีสะเกษ มหาสารคาม นครราชสีมา ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ อำนาจเจริญ ยโสธร สมุทรสงคราม นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร

[เตือน "โรคพิษสุนัขบ้า" กำลังระบาดหนักทั่วประเทศ]

      ความคืบหน้าของสถานการณ์ความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งระบาดในสัตว์เลี้ยงของแต่ละจังหวัดในประเทศไทย ล่าสุดข้อมูลสัตว์ติดเชื้อพบว่า สุนัข เป็นอันดับ 1 มีมากถึง 89.38% ขณะที่ วัว มีการติดเชื้อเป็นอันดับ 2 คือ 6.48% และอันดับ 3 แมว พบการติดเชื้อ 3.42%

      ขณะที่ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แจ้งการพบผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวแล้ว 3 ราย ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ สงขลา ตรัง สถานการณ์โรคเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ปี 2561 พบหัวสุนัขที่มีเชื้อบวก หรือเชื้อพิษสุนัขบ้าสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2560 ถึง 2 เท่า

[โรคพิษสุนัขบ้ารักษาไม่หาย สาธารณสุขแนะฉีดวัคซีนให้ครบ]

โดยปี 2560 เฉพาะเดือนมกราคมพบหัวสุนัขเชื้อบวก จำนวน 81 ตัว ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ปี 2560 พบหัวสุนัขเชื้อบวก 79 ตัว โดยในปีนี้ในเดือนมกราคม พบหัวสุนัขเชื้อบวก 155 ตัว และเดือนกุมภาพันธ์พบหัวสุนัขมีเชื้อบวก จำนวน 160 ตัว

      ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้แจ้งเตือนประชาชนและเจ้าของสัตว์เลี้ยง เมื่อเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ดังนี้

       1. ผู้ที่เลี้ยงสุนัขและแมว ควรนำสัตว์เข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี 

       2. เลี้ยงสุนัขให้อยู่ในบริเวณบ้าน ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มระวังการป้องกันเพิ่มเติม และหมั่นสังเกตอาการของสุนัขที่เลี้ยงด้วย

       3. เพิ่มความระมัดระวัง ดูแลปกป้องเด็กและผู้เฒ่า เลี่ยงการสัมผัสหรือถูกสัตว์กัดข่วน โดยปฏิบัติตามหลัก 5 ย. คือ

1) อย่าแหย่ สัตว์ให้กลัวหรือตกใจ อาจถูกแว้งกัดได้

2) อย่าเหยียบ หัว ตัว หาง ควรเดินด้วยความระมัดระวัง

3) อย่าหยิบ สิ่งของหรือจานข้าวที่สัตว์กำลังครอบครอง

4) อย่าแยก สัตว์ที่กำลังต่อสู้กัน ด้วยมือเปล่าอย่างเด็ดขาด

5) อย่ายุ่ง หรือสัมผัสกับสัตว์อื่น ๆ โดยเฉพาะไม่รู้แหล่งที่มา

นอกจากนี้ หากถูกสัตว์กัด/ข่วน ให้รีบชะล้างแผลด้วยน้ำเปล่าที่สะอาดและสบู่ รีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้น รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบถ้วนตามกำหนดนัด

        ขณะเดียวกันจะต้องกักสัตว์ที่กัดข่วนสัมผัสหรือสงสัย ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กักสัตว์ที่กัดข่วนหรือสงสัย ดูอาการผิดปกติอย่างน้อย 10 วัน ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ และหากสุนัขเสียชีวิตให้นำหัวสุนัขส่งทางห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

[เจ้าของเผยอุทาหรณ์ หมาติดเชื้อพิษสุนัขบ้า พาหะนำโรคคือหนู]

        นอกจากนี้ จากการพบการติดเชื้อในวัว ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 2 ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเนื้อวัวซึ่งไม่ได้มาตรฐาน หรือพบว่ามีการตายผิดปกติ และการบริโภคเนื้อวัว ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่มีรายงานการติดเชื้อของคนจากวัวและควายก็ตาม ด้านผู้ที่ชำแหละและผู้ปรุงเนื้อวัวซึ่งไม่ทราบแหล่งที่มา ควรที่จะต้องไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า

        เมื่อเกิดสัตว์ตายผิดปกติในหมู่บ้านไม่ควรนำมารับประทานและรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทราบโดยด่วน

        อย่างไรก็ตาม ประชาชนและเจ้าของสัตว์เลี้ยง ควรให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กรมปศุสัตว์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายเฝ้าระวังสังเกตสัตว์ หากพบสัตว์เลี้ยง/ต่างถิ่น มีนิสัยดุร้ายหรือมีอาการผิดปกติคล้ายโรคพิษสุนัขบ้า หรือเมื่อเกิดสัตว์ตายผิดปกติในหมู่บ้าน (กรณีของ วัว ควาย) ไม่ควรนำมารับประทาน ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือสัตวแพทย์หรืออาสาในพื้นที่ทันทีเพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook