20 มีนาคม วันวสันตวิษุวัต กลางวันยาวนานเท่ากลางคืน

20 มีนาคม วันวสันตวิษุวัต กลางวันยาวนานเท่ากลางคืน

20 มีนาคม วันวสันตวิษุวัต กลางวันยาวนานเท่ากลางคืน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)  เผย 20 มีนาคม 2561 เป็นวันวสันตวิษุวัต เวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน ถือเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาล ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า ในวันที่ 20 มีนาคมนี้ ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรโลก (ละติจูด 0 องศา ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ละติจูด 15 องศา) ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกพอดี จึงมีช่วงเวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “วันวสันตวิษุวัต” (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox) “วิษุวัต” (Equinox) หมายถึง จุดที่ดวงอาทิตย์ตรงตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี แปลเป็นภาษาไทยว่า “ราตรีเสมอภาค” นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศในซีกโลกใต้

สำหรับประเทศไทยในวันดังกล่าว ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06:22 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:28 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร)

แต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา หลังจากนี้ ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่เฉียงไปทางเหนือเรื่อยๆ และหยุดที่จุดเหนือสุดในวันที่ 21 มิ.ย. 61 หรือที่เรียกว่า วันครีษมายัน (ครีด-สะ- มา-ยัน) (Summer Solstice) หลังจากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนที่เฉียงลงมาทางใต้อีกครั้งหนึ่ง และในหนึ่งปี จะมีวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี เพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือ วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox) ตรงกับวันที่ 20 หรือ 21 มี.ค. และ วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ตรงกับวันที่ 22 หรือ 23 ก.ย.

ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากแกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับระนาบตั้งฉากวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกจึงได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณต่างกัน ทำให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงมีระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก จะสังเกตได้ว่า ในฤดูร้อน เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนในฤดูหนาว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่า ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ธ.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุดและตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า“ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook