สถิติเผย มอเตอร์เวย์ กรุงเทพ-ชลฯ ครองแชมป์ถนนอันตรายสุดในประเทศ

สถิติเผย มอเตอร์เวย์ กรุงเทพ-ชลฯ ครองแชมป์ถนนอันตรายสุดในประเทศ

สถิติเผย มอเตอร์เวย์ กรุงเทพ-ชลฯ ครองแชมป์ถนนอันตรายสุดในประเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยข้อมูลจากการศึกษาพฤติกรรมการขับขี่ อาทิ ตำแหน่ง ทิศทางการเดินทาง และความเร็ว ผ่านเทคโนโลยี Global Positionning System : GPS ที่ติดตั้งกับรถในระบบประมาณ 250,000 คัน พบว่า เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา รถบรรทุกและรถบัสสาธารณะกระทำผิดด้วยการขับเร็วกว่ากำหนดสูงถึง 17,218,811 ครั้ง ส่งผลให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตบนท้องถนนในประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก หากรัฐไม่แก้ไขก็มีโอกาสที่ไทยจะขยับขึ้นเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าปีละ 5 แสนล้านบาท

ผลวิจัยระบุว่า รถบรรทุกใช้ความเร็วเฉลี่ยที่ 101.58 กิโลเมตร/ชั่วโมง จำนวนครั้งที่ทำความผิดประมาณ 1.66 ล้านครั้ง ขณะที่รถบัสสาธารณะใช้ความเร็วเฉลี่ยที่ 99.37 กิโลเมตร/ชั่วโมง จำนวนครั้งที่กระทำความผิดประมาณ 15.55 ล้านครั้ง ตลอดจนมี 8 เส้นทางสุดอันตราย เนื่องจากการขับขี่ที่ใช้ความเร็วสูง ซึ่งเป็นปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุ และก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิต 

นอกจากนั้น การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกใน 8 เส้นทางสุดอันตรายพบว่า เส้นทางที่เกิดการกระทำความผิดด้วยการขับรถเร็ว และกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศรวม 40,500 กิโลเมตร จากระยะทางหลวงทั้งสิ้น 54,000 กิโลเมตร โดยเส้นทางที่ครองแชมป์การขับขี่เร็วคือ

อันดับ 1 ทางหลวงหมายเลข 7 หรือถนนมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี ช่วงกิโลเมตรที่ 0-6 

อันดับ 2 ทางหลวงหมายเลข 34 หรือถนนบางนาตราด ช่วงกิโลเมตรที่ 1-8 

อันดับ 3 ทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย ช่วงกิโลเมตรที่ 7-12

อันดับ 4 ทางหลวงหมายเลข 1 หรือถนนพหลโยธิน ช่วงกิโลเมตรที่ 73-82

อันดับ 5 ทางหลวงหมายเลข 31 หรือถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงกิโลเมตรที่ 9-16 

อันดับ 6 ทางหลวงหมายเลข 4 หรือถนนเพชรเกษม ช่วงกิโลเมตรที่ 160-165

อันดับ 7 ทางหลวงหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพ ช่วงกิโลเมตรที่ 54-58

อันดับ 8 ทางหลวงหมายเลข 35 หรือถนนพระราม 2 ช่วงกิโลเมตรที่ 45-51 

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์เส้นทางอันตรายสำหรับรถบรรทุกและรถโดยสารจากฐานข้อมูล HAIMS ในปี 2560 พบว่า ทั่วประเทศมีบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งและมีผู้เสียชีวิต จึงต้องมีการแจ้งเตือนให้ระมัดระวังเป็นพิเศษอย่างน้อย 7 จุดสำคัญ ได้แก่

1.ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงกิโลเมตรที่ 708-726

2.ทางหลวงหมายเลข 2 ช่วงกิโลเมตรที่ 20-36

3.ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงกิโลเมตรที่ 126-130 (บริเวณใกล้ทางแยกตัดกับถนนพระราม 2)

4.ทางหลวงหมายเลข 9 ช่วงกิโลเมตรที่ 30-38 (บริเวณทางแยกเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัช)

5.ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วงกิโลเมตรที่ 132-137

6.ทางหลวงหมายเลข 41 ช่วงกิโลเมตรที่ 366 – 379

7.ทางหลวงหมายเลข 304 ช่วงกิโลเมตรที่ 165-176 บริเวณทางแยกจากทางหลวงหมายเลข 33 และ กิโลเมตรที่ 190-250 (บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน)

ด้าน รศ.ดร. เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตบนท้องถนนในประเทศไทยเท่ากับ 36.2 คนต่อประชากร 100,000 คน หรือสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก สะท้อนให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา หรือลดสถานการณ์ดังกล่าว เพราะประเทศไทยมีแนวโน้มขยับขึ้นเป็นอันดับ 1 อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวที่มีการเดินทางออกต่างจังหวัดหนาแน่น 

“ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 มียอดผู้เสียชีวิต 390 ราย เกิดอุบัติเหตุ 3,650 ครั้ง ทำให้ศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะจับมือกับกรมการขนส่งทางบก พัฒนานวัตกรรมระบบขนส่งอัจฉริยะ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ควบคุม กำกับ และดูแลความปลอดภัยของคนใช้รถใช้ถนน ขณะเดียวกันยังพัฒนาแอปพลิเคชัน DLT-GPS ให้ประชาชนตรวจสอบเส้นทาง และร้องเรียนปัญหาแบบเรียลไทม์” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook