ภาคเอกชนใช้ซัลเฟอร์ขู่ปิดกิจการ ประท้วงเสียค่าปรับ4เท่า เปรียบขับรถฝ่าไฟแดงแต่รับโทษประหาร

ภาคเอกชนใช้ซัลเฟอร์ขู่ปิดกิจการ ประท้วงเสียค่าปรับ4เท่า เปรียบขับรถฝ่าไฟแดงแต่รับโทษประหาร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ภาคเอกชนเล็งอุทธรณ์คำสั่งศาลทุเลาถอนซัลเฟอร์ ประท้วงถูกกกรมศุล-ดีเอสไอจับปรับเงิน4เท่าของราคาสินค้าแรงเกินไป เปรียบฝ่าไฟแดงแต่โทษประหารชีวิต หวั่นล้มละลายขู่ปิดกิจการ วอนตักเตือนลดโทษเหลือปรับไม่เกิน2แสน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้ถอนกำมะถันหรือสารซัลเฟอร์ ออกจากบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองว่า ภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าว คงจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลเช่นกัน ภาคเอกชนยืนยันว่าไม่มีการเอื้อประโยชน์ที่มิชอบใดๆ แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น การลงโทษผู้ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนนำเข้าสารซัลเฟอร์โดยปรับสูงสุด 4 เท่าของมูลค่าสินค้าเป็นโทษที่รุนแรงเกินไป จนถึงขั้นต้องปิดกิจการได้ ทั้งที่ไม่มีเจตนากระทำผิดแต่อย่างใด และจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นและการประกอบกิจการของภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

นายพยุงศักดิ์กล่าวว่า ควรจะนำโทษปรับตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ในความผิดการไม่ขออนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 มาใช้ โดยมีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท เพื่อเป็นการตักเตือน และช่วยให้ผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินกิจการต่อไป

เหมือนกับว่าเราขับรถฝ่าไฟแดง แต่โทษที่เราได้รับเหมือนโทษประหารชีวิต หากกรมศุลกากรและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยังคงโทษปรับ 4 เท่าของมูลค่าสินค้า เอกชนคงจะล้มละลายไปตามๆ กัน นายพยุงศักดิ์กล่าว

นายพยุงศักดิ์กล่าวว่า การนำเข้าสารซัลเฟอร์เพื่อมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม เป็นชนิดที่ไม่ละลายน้ำและใช้งานมาหลายสิบปีแล้ว ในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐ อินเดีย อินโดนีเซีย จีน และประเทศในอาเซียนก็ไม่มีการขึ้นบัญชีเป็นวัตถุอันตราย แต่ที่มีการควบคุมการนำเข้าสารซัลเฟอร์เป็นวัตถุอันตรายนั้นเป็นชนิดที่ละลายน้ำได้ ที่นำไปใช้ในภาคการเกษตรในการกำจัดเชื้อราและศัตรูพืช ซึ่งเป็นคนละชนิดกับที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม

นายพยุงศักดิ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกรงว่าจะมีการนำสารซัลเฟอร์จากภาคอุตสาหกรรมข้ามไปใช้ในภาคเกษตร จึงยื่นขอให้จดทะเบียนและต้องขออนุญาตนำเข้า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2549 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงออกประกาศกระทรวงให้ซัลเฟอร์เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่จำเป็นที่ต้องขออนุญาตนำเข้า

ตลอดกว่า 2 ปีหลังกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศดังกล่าว ทางผู้ประกอบการยังคงนำเข้าซัลเฟอร์อย่างสม่ำเสมอตามปกติ และผ่านขั้นตอนถูกต้องตามพิธีการศุลกากรมาตลอด ทางศุลกากรก็ไม่ได้ทักท้วงแต่อย่างใด อีกทั้งอัตราภาษีนำเข้ากำมะถันในกรณีที่ไม่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ (คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) อยู่ในอัตรา 1% ของมูลค่าสินค้า ขณะนี้ผู้ได้รับการบีโอไอจะเสียภาษีในอัตรา 0% ดังนั้นไม่มีเหตุจูงใจอะไรที่จะต้องหลีกเลี่ยงภาษี จึงต้องการให้ทั้งศุลกากรและดีเอสไอ เข้าใจและผ่อนผันการคิดค่าปรับในอัตรา 4 เท่าให้กับภาคเอกชนด้วย นายพยุงศักดิ์กล่าว

นายที.เอ็ม.บิจาจ ประธานคณะกรรมการบริหารกลุ่ม อทิตยา เบลลา กรุ๊ป ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ไทย เรยอน จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ กล่าวว่า บริษษัท ไทย เรยอน นำเข้าซัลเฟอร์ชนิดไม่ละลายน้ำมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการเมื่อปี 2517 และไม่เคยมีปัญหา แต่ช่วงที่มีการประกาศให้ซัลเฟอร์เป็นวัตถุอันตราย บริษัทยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาที่ทำผิดกฎหมาย แต่เพียงรู้เท่าไม่ถึงการ จึงไม่ได้ไปจดทะเบียนขออนุญาตนำเข้า ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางกรมศุลกากรน่าจะมีการผ่อนผันให้ได้

ทางกลุ่มลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก 66 ประเทศ ซึ่งไม่มีประเทศใดที่มีประกาศอย่างนี้ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน หากกรมศุลกากรและดีเอสไอยืนยันที่จะปรับในอัตรา 4 เท่าของราคาสินค้า ทางบริษัทคงได้รับผลกระทบจนอาจจะต้องปิดบริษัท เพราะการนำเข้าช่วงที่มีปัญหามีมูลค่านำเข้ากว่า 868 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน อีกทั้งบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จำเป็นที่จะต้องชี้แจงให้ผู้ถือหุ้น และบริษัทแม่ในต่างประเทศด้วย นายบิจาจกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีเอกชน 11 บริษัท เตรียมขออุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง เช่น บริษัท ไทยเรยอน มิชิลิน บริดจ์สโตน ซึ่งนำเข้าซัลเฟอร์ชนิดที่ไม่ละลายน้ำมาใช้ในอุตสาหกรรมจำนวนมาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook