พิมพ์เขียวฉบับใหม่ รถไฟฟ้า 556 ก.ม. ทบทวนของเดิม-เพิ่มโครงข่ายใหม่

พิมพ์เขียวฉบับใหม่ รถไฟฟ้า 556 ก.ม. ทบทวนของเดิม-เพิ่มโครงข่ายใหม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4092

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำลังปรับแผนแม่บทรถไฟฟ้าใหม่ โดยใช้เวลาศึกษา 9 เดือน กำหนดแล้วเสร็จกลางเดือนสิงหาคมนี้ เนื่องจากแผนแม่เดิมปี 2547 ระยะทาง 291 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 5.5 แสนล้านบาท กรอบการดำเนินการ 6 ปี (2547-2552) ใกล้หมดอายุลง แต่บางสายล่าช้ายังไม่ได้ก่อสร้าง บางโครงการซ้ำซ้อนกับการพัฒนาโครงข่ายระบบอื่นๆ เช่น ถนน ทางด่วน เป็นต้น

จึงต้องทบทวนสถานะโครงการใหม่ พร้อมบรรจุโครงข่ายใหม่ผนวกเข้าไปด้วย เพื่อให้สอดรับกับสภาพเมืองในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง ที่สำคัญพฤติกรรมการเดินทางของคนเริ่มเปลี่ยนไปด้วย โดยเดินทางใกล้บ้านมากขึ้น เพราะคนย้ายบ้านมาอยู่ใกล้ที่ทำงานมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นการไขข้อข้องใจของหลายฝ่ายที่ยังสับสนกับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าว่ามีกี่สายทางกันแน่ เพราะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็จะมีการขีดแนวเส้นทางเพิ่ม อย่างสมัย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นั่งเก้าอี้ รมว.คมนาคม มีการปรับแผนแม่บทเดิม เมื่อปี 2547 เป็น 7 สาย ต่อมา พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เพิ่มเป็น 10 สายทาง ถึงยุครัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้เร่งรัดระยะแรก 5 สาย 7 โครงการ แต่ล่าสุดสมัยรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ปรับเปลี่ยนอีกเป็น 9 สาย 8 แฉก

สถานะรถไฟฟ้าปัจจุบัน

ตามแผนแม่บทแต่ดั้งเดิมปี 2537 ปัจจุบันมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือบีทีเอส ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร เปิดให้บริการ ตั้งแต่ปี 2542 และสายใต้ดินสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 19.7 กิโลเมตร เปิดให้บริการปี 2547

ส่วนแผนแม่บทปี 2547 มีโครงการรถไฟฟ้าที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่เปิดบริการ 41 กิโลเมตร มี สายสีแดง รถไฟเชื่อมสุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ต เรลลิงก์ 28.5 กิโลเมตร ที่จะเปิดบริการเดือนสิงหาคมนี้ สายสีเขียวอ่อน ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง 5.25 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการปี 2553 สายสีเขียวเข้ม ช่วงสะพานตากสิน-แยกตากสิน 2.2 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการเดือนพฤษภาคมนี้ และช่วงแยกตากสิน-บางหว้า 5.3 กิโลเมตร ที่จะเปิดให้บริการในปี 2553

จัดลำดับความสำคัญใหม่ แบ่งเป็น 3 เฟส

อย่างไรก็ตาม แผนแม่บทรถไฟฟ้าฉบับใหม่ ซึ่งแปลงร่างครั้งที่ 2 ชื่อว่า แผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือ Mass Transit Masterplan (M-MAP) ขณะนี้ยังสรุปไม่ลงตัวว่าจะมีกี่สายทาง อาจมากกว่า 10 สายทางก็ได้ โดยเป็นการบูรณาการทั้งโครงข่ายเดิมและต่อเติม โครงข่ายใหม่เข้าด้วยกัน ยึดตามแผนแม่บทเดิม 291 กิโลเมตร และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2549 ระยะทาง 145 กิโลเมตรเป็นหลัก แล้วจัดลำดับความสำคัญใหม่ โดยดูจากสถานะโครงการ ผลการศึกษาความเหมาะสม ปริมาณผู้โดยสารโดยแต่ละเส้นทางจะลากผ่านพื้นที่ ย่านธุรกิจและพาณิชยกรรมเป็นหลัก

ใช้เวลาดำเนินการ 20 ปี (2552-2571) รวม 556 กิโลเมตร แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือระยะแรกในเวลา 5 ปี (2552-2556) จะดำเนินการตามแนว เส้นทางเดิมที่ ครม.อนุมัติแผนก่อสร้าง เมื่อปี 2549 ระยะทาง 145 กิโลเมตร มี 5 สายทาง 7 โครงการ

ประกอบด้วยสายสีเขียวอ่อน ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 12.6 กิโลเมตร 25,248 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคา จะเปิดใช้ปี 2557 สายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ 11.4 กิโลเมตร 32,052 ล้านบาท เตรียมประกวดราคา เปิดบริการปี 2557

สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระและช่วงหัวลำโพง-บางแค 27 กิโลเมตร 79,904 ล้านบาท กำลังเจรจาเงินกู้และเตรียมประกวดราคา เปิดบริการปี 2559 สายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ 23 กิโลเมตร 56,599 ล้านบาท อยู่ระหว่างประกวดราคา เปิดใช้ปี 2556 สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต 26 กิโลเมตร 77,563 ล้านบาท เตรียมการประกวดราคา เปิดใช้ปี 2557 ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร กำลังก่อสร้าง เปิดใช้ปี 2557 และบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก 19 กิโลเมตร เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติ

ระยะที่ 2 เวลา 5 ปี (2557-2561) จะเป็นส่วนต่อขยายแนวเส้นทางเดิมออกไปชานเมืองมากขึ้น และเพิ่มเติมโครงข่ายใหม่ เบื้องต้นมีสายสีเขียวเข้ม ช่วงสะพานใหม่-ลำลูกกา 13.9 กิโลเมตร 22,800 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาและออกแบบรายละเอียด เปิดใช้ปี 2557 สายสีเขียวอ่อน ช่วงสมุทรปราการ (บางปิ้ง)-บางปู 9.1 กิโลเมตร อยู่ระหว่างศึกษาและออกแบบ เปิดใช้ปี 2557

สายสีส้ม ช่วงบางกะปิ-บางบำหรุ-มีนบุรี 34.8 กิโลเมตร 1.6 แสนล้านบาท โดยนำ สายสีน้ำตาล จากบางกะปิ-มีนบุรี มารวมเป็นสายเดียวกัน และตัดทำบางช่วงก่อน คือศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี

สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี สายสีเหลืองอ่อน ช่วงรัชดาฯ-ลาดพร้าว-พัฒนาการ 12.6 กิโลเมตร 30,810 ล้านบาท กำลังศึกษาความเหมาะสม สายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ 19.8 กิโลเมตร 49,647 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาปรับแผนแม่บท

ระยะที่ 3 เวลา 10 ปี (2562-2571) มีทั้งสายเดิมที่ทบทวนใหม่ ผสมผสานกับสายใหม่ที่บริษัทที่ปรึกษาเสนอแนะ อาทิ สายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา สายสีเขียวอ่อน ต่อขยายจากแยกบางนา-สุวรรณภูมิ

สายสีเขียว ช่วงบางหว้า-พุทธมณฑล สาย 4 สายสีเหลืองเข้ม ช่วงพัฒนาการ-สำโรง 17.8 กิโลเมตร 16,100 ล้านบาท กำลังศึกษาความเหมาะสม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดยังเป็นปฐมบทเบื้องต้น ส่วนบทสรุปสุดท้ายต้องอดใจรอ กลางเดือนสิงหาคมนี้ หน้า 9

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook