มิติใหม่ข้าราชการไทย

มิติใหม่ข้าราชการไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เนื่องในสัปดาห์วันข้าราชการพลเรือน ซึ่งกำหนดจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 23 มีนาคม 3 เมษายน 2552 สำนักข่าวแห่งชาติยังคงเกาะติดความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาระบบราชการไทย มานำเสนอ โดยภายหลังการแสดงปาฐกถาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีให้กับข้าราชการไปเมื่อเร็วๆ นี้ในหัวข้อเรื่อง "ข้าราชการรุ่นใหม่กับการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน ที่ได้กล่าวถึงคุณสมบัติข้าราชการรุ่นใหม่ที่ดีควรมีคุณลักษณะ 7 ข้อ ได้แก่ 1.ต้องฝึกตัวเองให้ใฝ่รู้ตลอดเวลา ต้องพยายามฝึกตัวเอง พยายามอ่านข่าวการเมืองให้น้อย และดูข่าวต่างประเทศ ข่าวเทคโนโลยีให้มาก 2.ต้องฝึกการคิดวิเคราะห์กลั่นกรองก่อนตัดสินใจ หากมีข้อมูลมากกว่า 2 ด้าน ต้องคิดว่าข้อมูลจากฝ่ายไหนน่าเชื่อถือมากกว่า ไม่เช่นนั้นจะเป็นได้แค่บุรุษไปรษณีย์ 3.ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพัฒนาตลอดเวลา ยืนอยู่กับที่ไม่ได้ 4.ต้องกล้าลงมือปฏิบัติ 5.ต้องรู้จักใช้การสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจและได้รับความร่วมมือ 6.ต้องมีคุณธรรมจริยธรรม และ 7.ต้องฝึกฝนตนเองให้ทำงานแบบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีการสานต่อให้เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้างนั้น สำนักข่าวแห่งชาติได้ติดตามขยายประเด็นจากนายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่า 7 ข้อที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ นับเป็น 7 ข้อที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของทางราชการ ที่ต้องการให้ข้าราชการเป็นคนที่มีคุณภาพและมีคุณธรรม จะเห็นว่ากฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ที่แก้ไขแล้วนั้นจะ มุ่งเน้นให้ข้าราชการมีทั้งคุณภาพและคุณธรรม ซึ่งในเรื่องคุณภาพนั้น ต้องมีการประเมินประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีการพิจารณาเรื่องการบริหารการปฏิบัติงานอย่างแท้จริง ถ้าทำได้ก็จะตรงกับที่นายกรัฐมนตรี เสนอไว้ นั่นคือ ข้าราชการต้องมีการใผ่รู้รู้ตลอดเวลา นอกจากนี้ การทำงานต่างๆ ต้องมีการคิด วิเคราะห์กลั่นกรอง ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพัฒนา อยู่กับที่ไม่ได้ อีกข้อที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ คือ ต้องเป็นคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม และสามารถทำงานอย่างบูรณาการ ซึ่งข้อนี้จะทำให้ข้าราชการมีคุณภาพและคุณธรรมในเวลาเดียวกัน ตรงกับกฎหมายที่ก.พ.พยายามบริหารทรัพยากรบุคคล ประเภทข้าราชการ เพื่อให้ได้ข้าราชการที่มีประสิทธิภาพในการให้บริการและมีผลการปฏิบัติงานที่ดี โดยระบบการบริหารที่มีสมรรถนะ และยังเป็นการทำให้ข้าราชการเหล่านั้นเป็นผู้ที่คุณธรรมและจริยธรรมควบคู่ไปด้วย ซึ่งในกฎหมายได้ระบุไว้ในหมวดหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่อง จรรยาของข้าราชการ ในส่วนคดีความที่ข้าราชการได้มีการฟ้องร้องระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกัน เลขาธิการ ก.พ. เปิดเผยว่า การฟ้องร้องทางราชการ ผู้ที่เป็นข้าราชการก็จะทำหน้าที่เรื่องการอุทธรณ์ การร้องทุกข์ ถ้าหากข้าราชการคนใดถูกลงโทษทางวินัย หากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชา ก็สามารถร้องทุกข์ ตามกระบวนการทางกฎหมายได้ ซึ่งในปีหนึ่งๆ จะมีข้าราชการมาร้องทุกข์กับ ก.พ. ประมาณ 100 กว่าเรื่อง ทั้งประเภท ถูกลงโทษทางวินัย คือถูกไล่ออก ถูกภาคฑัณฑ์ ถูกตัดเงินเดือน ซึ่งไม่น่าเป็นห่วง เพราะถ้าเป็นความทุกข์ร้อนของข้าราชการ กฎหมายก็ให้สิทธิ์ในการร้องทุกข์ได้ และข้าราชการก็ต้องมาอุทธรณ์ หน่วยงานราชการ ก็มีหน้าที่ดำเนินการวินิจฉัยให้ ซึ่งในกฎหมายใหม่ก็ให้กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เป็นผู้วินิจฉัยหรือพิจารณา อุทธรณ์คำสั่งลงโทษ ตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ เชื่อว่าจะเป็นระบบที่เป็นกลางและเป็นธรรมมากขึ้น ส่วนการร้องทุกข์จะเป็นการร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป เพราะฉะนั้นเรื่องร้องทุกข์ต่างๆ จะไม่ได้พุ่งมาที่ ก.พ.ทั้งหมด ผู้บังคับบัญชาก็จะพิจารณาว่าทุกข์ที่ร้องนั้นจริงหรือไม่ จะมีกระบวนการหลายขั้นตอน นั่นคือ เริ่มจาก ข้าราชการร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป , อุทธรณ์ต่อองค์กรกลาง บริหารงานบุคคลของข้าราชการประเภทนั้นๆ และถ้าหากว่าพิจารณาอุทธรณ์ไปแล้ว ข้าราชการเห็นว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม จะไปขอให้ศาลปกครองพิจารณาก็ได้ ทั้งหมดนี้ คิดว่าเป็นกระบวนการที่ได้ให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการในยุคปัจจุบันได้มากขึ้น สิ่งที่ข้าราชการทุกคนต้องตระหนักไว้เสมอ ก็คือการรับราชการก็คืออาชีพๆ หนึ่ง ขณะที่ทำงานอยู่ต้องนึกเสมอว่าเราต้องมีความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง ต้องใช้ความรู้ต่างๆ ในหน้าที่ และต้องใฝ่หาความรู้ให้มากที่สุด เพื่อจะทำงานให้เป็นข้าราชการมืออาชีพได้ ซึ่งข้อนี้ตรงกับที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ ประการสำคัญคือข้าราชการที่เป็นผู้บังคับบัญชาต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา ส่วนเรื่องการตอบแทนบุญคุณของแผ่นดินนั้น เห็นว่า เป็นเรื่องที่คนไทยทุกระดับชั้นรวมทั้งข้าราชการก็ไม่ยกเว้น ที่จะต้องตระหนักเสมอว่า เราอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ การเข้ามาเป็นข้าราชการ คือ การมาทำงานให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ต้องปฎิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณพระองค์ท่าน ซึ่งในแต่ละปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะพระราชทานพระบรมราโชวาทให้กับข้าราชการพลเรือน ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา 30 ปี โดยปีนี้เป็นปีที่ 30 แล้ว เพื่อให้ข้าราชการได้ตระหนักและสำนึกในหน้าที่ และเชื่อว่าข้าราชการพลเรือน 1 ล้าน 4 แสนคนต่างก็เฝ้ารอวันที่ 1 เมษายน เพื่อที่จะรับฟังพระบรมราโชวาทนั้นใส่เกล้าใส่กระหม่อมน้อมนำมาปฏิบัติ ให้สมกับเป็นข้าของพระบาทพระเจ้าแผ่นดิน!!!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook