สุเทพยันไม่งดประชุม ครม.เล็งยื่นศาลแพ่งเปิดทาง 31มี.ค. ปชป.เผย2แผนก่อรุนแรง-กดดันนิรโทษกรรม

สุเทพยันไม่งดประชุม ครม.เล็งยื่นศาลแพ่งเปิดทาง 31มี.ค. ปชป.เผย2แผนก่อรุนแรง-กดดันนิรโทษกรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เทพไทยันสุเทพไม่งดประชุม ครม. เล็งยื่นศาลแพ่งนำคำสั่งไปเจรจาเปิดทางประชุม 31มี.ค. เตรียมที่สำรอง 4 แห่ง รบ.มั่นใจยูเออีส่งตัวแม้วให้ ชี้วิดีโอลิงก์แค่บันทึกเทปธรรมดามั่นใจไม่ได้โฟนอินในปท. วอร์รูมปชป.ประเมิน2แผนก่อรุนแรง ชี้หวังเผด็จศึกก่อนสงกรานต์ นายกฯลุยงานนอกทำเนียบเจอกระพือตีนตบรับใกล้ยูเอ็น ยื่นศาลแพ่งเปิดทางครม.31มี.ค.

นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกส่วนตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 30 มีนาคมว่า สอบถามนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกฯได้รับการยืนยันว่าในวันที่ 31 มีนาคม จะยังมีการประชุม ครม.เหมือนเดิม ถ้ากลุ่มเสื้อแดงเปิดประตูให้ข้าราชการหรือ ครม.คนอื่นเข้าไปทำงานได้ก็จะเข้าประชุม ขณะนี้ยังไม่มีการเตรียมสถานที่สำรองแต่อย่างใด แต่หากไม่สามารถประชุม ครม.ได้ก็จะงดไม่มีการประชุม ครม. เพราะไม่มีวาระเร่งด่วนใดที่จำเป็นต้องนำเสนอเข้าที่ประชุมในสัปดาห์นี้เลย

นายเทพไทกล่าวว่า นายสุเทพสั่งให้รัฐมนตรีทุกคนเตรียมพร้อมเข้าประชุม ครม. เพราะปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สลน.) ได้ไปยื่นศาลแพ่งเพื่อไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองการเปิดประตูเข้าออกทำเนียบรัฐบาล ถ้าหากว่าศาลมีคำสั่งคุ้มครองตามที่ยื่นฟ้องก็สามารถเข้าไปทำงานได้ ถ้าหากกลุ่มผู้ชุมนุมยังฝ่าฝืนคำสั่งศาล ปิดประตูเข้าทำเนียบอยู่อีก ก็คงจะให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบนำคำสั่งศาลไปเจรจา เพื่อให้กลุ่มผุ้ชุมนุมปฏิบัติตามกฎหมาย และหวังว่าเจตนาแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมก็คงเคารพในคำวินิจฉัยของศาล

รายงานข่าวแจ้งว่า เบื้องต้นได้มีการประสานสถานที่ประชุม ครม. ไว้ 4 แห่ง หากไม่สามารถเข้าประชุม ครม.ในทำเนียบรัฐบาลได้ คือ 1.อาคารรัฐสภา 2.กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์ 3.กองบัญชาการกองทัพไทย และ 4.ห้องประชุมบริษัทการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ภายในสนามบินสุวรรรภูมิ

ผมเชื่อว่าสังคมจะเข้าใจเองว่าระหว่างประธานองคมนตรีกับนักโทษหนีคดี และรัฐบุรุษกับโทสะบุรษ อย่างไหนที่น่าเชื่อถือกว่ากัน และการระบุว่า พล.อ.เปรม ไม่ใช่ราชวงศ์แต่เป็นไพร่นั้น ถือว่ามีเจตนาแอบแฝงต้องการแบ่งแยกชนชั้น ประชดประชันไปถึงสถาบันเบื้องสูง ซึ่งไม่สมควร

รบ.มั่นใจยูเออีส่งตัวแม้วให้

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ที่นครรัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี กลับมาดำเนินคดีว่า กระทรวงการต่างประเทศหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายการเมือง และฝ่ายกฎหมายอย่างใกล้ชิด เตรียมข้อมูลและเอกสารให้พร้อม ขณะนี้สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กำลังประสานช่วงเวลาการนัดหมายต่อไปและรอความพร้อมจากทางการดูไบ แต่คงไม่เดินทางไปด้วยตนเอง

ด้านนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ว่า 2 ประเทศจะไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน แต่ก็มีความร่วมมือหลายรูปแบบ เชื่อว่าที่สุดแล้วคนที่ทำผิดกฎหมาย ก่อความวุ่นวายในระบอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็จะมีความร่วมมือระหว่างประเทศที่สามารถนำตัวมาดำเนินการตามกฎหมายได้

ชี้วิดีโอลิงก์แค่บันทึกเทปธรรมดา

แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคมกล่าวว่า วิดีโอลิงค์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณถ่ายทอดมายังกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นลักษณะของการบันทึกเทปวิดีโอธรรมดา เพียงแต่การส่งสัญญาณมายังประเทศไทยสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ ทั้งผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) และการเช่าช่องสัญญาดาวเทียม ทั้งนี้ หากใช้บรอดแบนด์ที่ความเร็วตั้งแต่ 2 เมกะบิตต์ขึ้นไปก็สามารถทำให้ภาพและเสียงที่ถ่ายทอดมานั้นนิ่ง โดยเฉพาะถ้าช่องสัญญาณ (แบนด์วิธ) กว้างถึง 4 เมกะบิตต์ภาพและเสียงที่ได้รับเทียบเท่ากับการชมโทรทัศน์ปกติ สำหรับการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมนั้น การดำเนินการต้องขอปลดล็อคเพื่อขอใช้ช่องสัญญาณก่อน ซึ่งการตรวจสอบสามารถทำได้ แต่บนท้องฟ้าของประเทศไทยค่อนข้างมีดาวเทียมจำนวนมากถึง 100 ดวง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

บช.น.แจงไม่มีการสลายชุมนุม

ต่อมา พล.ต.ต.สุพร พันธุ์เสือ รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น. ชี้แจงถึงการประกาศเตือนของ บช.น.ว่า ไม่มีนโยบายให้สลายการชุมนุม ยืนยันว่าเมื่อช่วงเช้าเป็นการเตรียมการป้องกันเพราะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะไปปฏิบัติหน้าที่ที่ยูเอ็น อาจจะเข้าใจผิดขึ้น สำหรับเรื่องการส่งเสบียงให้ผู้ปฏิบัติ ทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ชุมนุมและทยอยส่งเสบียงเข้าไปแล้ว ในการปราศรัยของผู้ชุมนุม ศูนย์เฝ้าฟังตรวจสอบอยู่ ยังไม่ยืนยันว่าเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง แต่เรื่องหมิ่นตัวบุคคลมี แต่ยังไม่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ

นายกฯลุยงานนอกทำเนียบ

ส่วนความเคลื่อนไหวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี วันเดียวกัน ยังคงปฏิบัติภารกิจอยู่ภายนอกทำเนียบรัฐบาลทั้งวัน หลังกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมปิดล้อมทำเนียบ โดยเวลา 07.00 น. นายอภิสิทธิ์ออกจากบ้านพักซอยสุขุมวิท 31 ไปบันทึกเทปรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ (ไอพียู) ที่อาคารรัฐสภา ทั้งนี้ ขบวนรถนายกฯหลีกเลี่ยงที่จะลงด่านยมราชตามปกติ เนื่องจากใกล้สถานที่ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง

จากนั้น เวลา 08.00 น. นายกฯออกจากรัฐสภา ไปเปิดประชุมระดับรัฐมนตรี สำหรับการประชุมสมัชชาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 29 ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีนายจั๊ค ดิอุฟ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและการเกษตร (เอฟเอโอ) ต้อนรับ ทั้งนี้ ขบวนรถของนายกฯเลี่ยงการใช้เส้นทางถนนราชดำเนินอีกเช่นกัน ท่ามกลางการอารักขาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ยูเอ็น และรปภ.นายกฯอย่างหนาแน่น

เจอกระพือตีนตบรับใกล้ยูเอ็น

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลุ่มคนเสื้อแดงทราบข่าวว่านายกฯเดินทางมายูเอ็น ได้ทยอยมารวมกลุ่มที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ และกลุ่มเสื้อแดงประมาณ 50 คน ข้ามมาอยู่บริเวณเกาะกลางถนน ตะโกนขับไล่ พร้อมเขย่าตีนตบ ขณะที่กลุ่มวิทยุชุมชนคนรักแท็กซี่ยังนำรถมาจอดปิดถนนราชดำเนินอีกหลาย 10 คันด้วย จากนั้นกลุ่มคนเสื้อแดงกว่า 500 คน เคลื่อนมาประชิดยูเอ็น ชุมนุมอยู่ฝั่งตรงข้ามสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และมีการปราศรัยโจมตีรัฐบาลเป็นระยะๆ

กระทั่งเวลา 09.40 น. คณะนายอภิสิทธิ์ออกจากยูเอ็น ไปเป็นประธานพิธีเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปี 2551 จำนวน 645 ราย ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์ แทนที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบ แบบกะทันหัน

หาช่องทางกม.เอาผิดจาบจ้วง

ทางด้านนายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภา ถึงกระแสข่าวสั่งงดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 มีนาคม ที่ทำเนียบว่า ต้องคุยกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงก่อน แต่ตนประชุมไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากในช่วงเช้าจะนำ ครม.เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ จากนั้นไปร่วมประชุม จี 20 ที่ประเทศอังกฤษ ส่วนการตัดสินใจงด หรือย้ายสถานที่ประชุม ครม. ในวันที่ 31 มีนาคมนั้น ให้เป็นเรื่องของนายสุเทพจะทำหน้าที่รักษาราชการแทน ต้องดูวาระการประชุมอีกครั้งว่ามีประเด็นสำคัญเร่งด่วนหรือไม่ แต่ไม่ใช่เพราะกลุ่มคนเสื้อแดง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทระทรวงการต่างประเทศ ระบุการชุมนุมขณะนี้เป็นสงครามอุดมการณ์ว่า ถ้าเกินเลยอย่างที่เห็นว่ามีการพาดพิงสถาบันอื่น ต้องพยายามหยุด เพราะไม่อยากให้สังคมขัดแย้งถึงจุดนั้น ไม่เป็นธรรม อยู่ที่การวิจารณ์ของประชาชน และอีกส่วนหนึ่งคือกฎหมาย ทั้งนี้ ได้ดูแง่มุมกฎหมายในบางเรื่องว่ามีส่วนไหนจะใช้กฎหมายดูแลได้ ก็เอามาพิจารณาหลายๆ จุด ทั้งในเรื่องเทคโนโลยีและต่างประเทศ

มั่นใจแม้วไม่ได้โฟนอินในปท.

เมื่อถามว่า กลุ่มคนเสื้อแดงระบุว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นไพร่ นายอภิสิทธิ์ปฏิเสธตอบคำถามดังกล่าว เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกต พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ อาจอยู่ในประเทศไทย เพราะสัญญาณวิดีโอลิงก์ชัดเจนมาก นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คิดว่าไม่ใช่ และยังมั่นใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้อยู่ในประเทศไทย เมื่อถามว่า ทราบหรือไม่ว่า พ.ต.ท. ทักษิณใช้พื้นของประเทศใดในการส่งสัญญาณมาที่ประเทศไทย นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จะมีการดำเนินการทั้งด้านต่างประเทศและเทคโนโลยี เมื่อถามว่า เป็นประเทศที่อยู่ใกล้ๆ ประเทศไทยหรือไม่ นายกฯเลี่ยงจะตอบ

ไล่ไปแก้ความสับสนตัวเอง

เมื่อถามคิดว่าจะเดินทางไปต่างประเทศด้วยความสบายใจหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องสบายใจหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ตนต้องไปทำหน้าที่เพราะเป็นตัวแทนของอาเซียน ส่วนการดูแลความเรียบร้อยของผู้ชุมนุม ฝ่ายความมั่นคงยังยืนยันว่าสถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุม ไม่มีปัญหา

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่กังวลครับ ส่วนในช่วงที่ไม่อยู่ ใครคือผู้มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นายสุเทพ แต่ความจริงแล้วนายสุเทพก็ติดต่อสอบถามตนได้เวลาที่อยู่ต่างประเทศ

เมื่อถามว่า ยืนยันการยุบสภาไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหา นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องทำเช่นนั้น เมื่อถามว่า แต่ พ.ต.ท.ทักษิณต่อรองว่าหากมีการยุบสภา จะไม่กลับเข้าสู่เวทีการเลือกตั้งอีก นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า

อย่างที่ผมบอกว่าท่านยังสับสนในตัวเองมาก รัฐธรรมนูญก็จะให้แก้ สภาก็จะให้ยุบ กฎหมายก็จะให้ออก มันทำไม่ได้หรอกครับทั้ง 3 อย่าง ผมคิดว่าท่านต้องไปแก้ความสับสนของตัวเองก่อน

ชี้หวังเผด็จศึกก่อนสงกรานต์

เวลา 13.30 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ไปที่พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมเรียกประชุม ส.ส.ประเมินสถานการณ์ชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ภายหลังการประชุม นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรค เปิดเผยว่า ประเมินสถานการณ์ว่ากลุ่มเสื้อแดงพยายามระดมคนให้ได้มากที่สุด และคงจะใช้แผนเผด็จศึกให้เสร็จก่อนสงกรานต์ เพราะถ้าชุมนุมยืดเยื้อไปถึงสงกรานต์ มวลชนคนเสื้อแดงจะมีปัญหา เนื่องจากเป็นช่วงที่ตรงกับการประชุมอาเซียนซัมมิทรอง 2 ที่พัทยา อาจจะทำให้ได้รับการคัดค้านจากคนส่วนใหญ่ และที่ผ่านมาแกนนำคนเสื้อแดงก็เคยประกาศว่าเคยยุติการเคลื่อนไหวตอนประชุมอาเซียนซัมมิทรอบแรก เพื่อรักษาหน้าประเทศ ดังนั้น การประชุมรอบนี้หวังว่าจะยึดแนวความคิดเดิม

นอกจากนี้ในช่วง 13-15 เมษายน ช่วงเทศกาลสงกรานต์มวลชขนคนเสื้อแดงจะกลับบ้านเพื่อร่วมเทศกาลสงกรานต์ จะทำให้ผู้ชุมนุมบางตาและน้อยลง เชื่อว่าแกนนำต้องรีบให้การชุมนุมประสบผลสำเร็จก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์

วอร์รูมปชป.ประเมิน2แผนก่อรุนแรง

ด้าน นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษก ปชป. กล่าวว่า คณะทำงานปฏิบัติการเพื่อประเมินสถานการณ์ทางการเมืองของพรรค (วอร์รูม) วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ร่วมกันขับเคลื่อน 2 แผนการ คือ 1.การดำเนินการขับเคลื่อนมวลชนสู่การเผชิญหน้าทำให้เกิดความรุนแรง โดยนอกจากปิดศาลากลาง 4 จังหวัด ยังมีการก่อความรุนแรงที่ทำเนียบรัฐบาล โดยทำร้ายผู้ที่ใส่เสื้อเหลืองเข้าไปในพื้นที่ โดยทั้งหมดมีเป้าหมายนำไปสู่การเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ของมวลชนใน 2 ลักษณะ คือ 1.เผชิญหน้าโดยทันที 2.ชุมนุมยืดเยื้อตามยุทธศาสตร์หรือแดงทั้งแผ่นดิน

นพ.บุรณัชย์กล่าวว่า 2.ขับเคลื่อนผ่านพรรคเพื่อไทย โดยอาศัยแผนที่ 1 กดดันสภาให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งทั้ง 2 แผน เป็นการสร้างปฏิวัติโดยมวลชนทั่วประเทศ ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐและสถาบันหลักของชาติ โดยมีการพูดว่าทำให้เกิดสงครามชนชั้นและสงครามกลางเมืองขึ้นมาได้ รวมถึงทำให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมือง โดยการยื่นเรื่องให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของพรรคในการแก้ปัญหาวิกฤตของบ้านเมือง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook