ประกาศห้ามดื่มน้ำเมาเจอคนนั่งดื่มในรถริบเททิ้ง-ร่วมโดยสารมากับคนขับเมาถือมีความผิดด้วย

ประกาศห้ามดื่มน้ำเมาเจอคนนั่งดื่มในรถริบเททิ้ง-ร่วมโดยสารมากับคนขับเมาถือมีความผิดด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ประกาศห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในยานพาหนะยกเว้นเรือข้ามฝาก-แพลอยน้ำ ตลอด 7 วันอันตรายหากพบในคนนั่งดื่มในรถจะริบไปเททิ้งและปล่อยให้คนขับดื่มถือว่ามีความผิดด้วย ยกเว้นผู้ที่ไม่บรรลุนิติภาวะ

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน ว่าได้ส่งร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี 2 ฉบับ คือ 1.กำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา 4 วัน ได้แก่ วันมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ตลอด 24 ชั่วโมง และ 2.การกำหนดสถานที่ หรือบริเวณที่ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในยานพาหนะบนถนนทุกชนิด รวมถึงเรือข้ามฟาก แต่ยกเว้นเครื่องบิน ร้านอาหารแพลอยน้ำ ให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ พิจารณารายละเอียดขอบเขตความเหมาะสมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยได้เลื่อนกำหนดการประชุมเป็นวันที่ 2 เมษายน

นายมานิตกล่าวว่า สำหรับการห้ามดื่มในยานพาหนะ จะเน้นห้ามดื่มตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วันอันตราย ยังไม่รวมถึงเทศกาลหรือวันอื่นๆ ส่วนการบังคับใช้กฎหมายในปีแรกจะมีการรณรงค์ให้รับทราบกฎหมายและตักเตือน นอกจากนี้ หากพบว่าผู้ที่ร่วมนั่งอยู่ในรถมีอาการมึนเมาก็จะริบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ตรวจพบในยานพาหนะเพื่อนำไปเททิ้งด้วย เช่น ในต่างประเทศมีข้อบังคับให้ผู้ที่ร่วมนั่งอยู่ ในยานพาหนะ หากพบว่าผู้ขับขี่ดื่มเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์มึนเมาถือว่าผู้ที่นั่งอยู่ในรถมีความผิดด้วย เนื่องจากไม่ห้ามคนขับดื่มเหล้า และปล่อยให้คนเมาขับรถ อีกทั้งถือเป็นการสมยอม ที่นั่งไปกับคนเมาด้วย ยกเว้นผู้ที่ไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่มีความผิด ซึ่งในอนาคตก็ควรมีการศึกษาเพื่อนำไปปรับใช้ต่อไป

นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้นวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ในวันที่ 2 เมษายน เวลา 13.30 น. จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ที่กระทรวงมหาดไทย รวมถึงให้หน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้องประชุมทางไกลผ่านทางวิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์ ไปยังศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และนายตำรวจระดับผู้บังคับการทั่วประเทศ ร่วมประชุมหารือถึงแผนการรณรงค์การลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และชี้แจงมาตรการการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย อย่างไรก็ตาม ร่างประกาศที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอยังไม่ถือว่าเป็นที่สุด อาจมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขได้อีก

ด้านนายชนรรจน์ อินทระ ผู้อำนวยการสำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 3 นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน ถึงการเตรียมการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่าสรรพสามิตภาคที่ 3 ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่รับผิดชอบ 9 จังหวัดอีสานใต้ คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และอำนาจเจริญ เพื่อลดอุบัติเหตุและปัญหาที่เกิดจากการเมาสุรา ที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้รัฐต้องสูญเสียบุคลากรและรายได้ ถ้าหากทุกภาคส่วนร่วมใจอย่างจริงจังก็สามารถป้องกันและบรรเทาได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ

เราจะจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว โดยสนธิกำลังร่วมกับตำรวจในพื้นที่ ออกตระเวนตรวจสอบตามสองข้างทางทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางรอง รวมทั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อบังคับใช้กฎหมาย ทั้งในส่วนของตำรวจ สรรพสามิต และสาธารณสุข ที่สามารถกวดขันตั้งแต่การจำหน่ายสุรา และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดให้แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และให้จำหน่ายสุราในลาที่กำหนด คือตั้งแต่เวลา 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. นายชนรรจน์กล่าว และว่า ชุดเคลื่อนที่เร็ว ไม่ใช่จะจ้องจับกุมดำเนินหรือใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว ยังมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เมาไม่ขับ เพื่อปลุกจิตสำนึกให้พี่น้อง ประชาชน ขับขี่รถด้วยความระมัดระวังและรักษาวินัยจราจร พร้อมกับติดตั้งแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ตามจุดชุมชน โดยมีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด แต่ละพื้นที่ให้การสนับสนุน

พ.ต.ท.ชลาสินธุ์ ชลาลัย รอง ผกก.ปป.สภ.เมืองนครราชสีมา กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา ระบุว่า การเกิดอุบัติเหตุ และการทะเลาะวิวาทในช่วง เทศกาลสงกรานต์ ส่วนใหญ่จะเกิดจากการเมาสุรา ปีนี้จึงปรับเปลี่ยนแผนจากเดิมที่ใช้ชุดเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่เผชิญเหตุหลังรับแจ้งเหตุ เพื่อระงับเหตุให้ทันท่วงที ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ทำให้ยอดผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้เสีย ชีวิต และการสูญเสียทรัพย์สินไม่ได้ได้ลดลงแต่อย่างใด จึงใช้แผนป้องปราม โดยจะมีการเพิ่มจุดตรวจบูรณาการ 24 ชั่วโมง และเดิมจะตั้งจุดตรวจแค่เส้นทางหลัก ปีนี้จะสนธิกำลังร่วมกับตำรวจหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่สรรพสามิต ตั้งจุดตรวจในเส้นทางที่เข้าสู่ชุมชนให้ครบทุกจุด เพื่อจับผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และยังออกตระเวนตรวจสอบร้านค้าตามสองข้างทางอีก คาดน่าจะได้ผลพอสมควร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook