เอดีบีชี้จีดีพีไทยปี52ติดลบ2% เห็นติดลบ5%หากการเมืองยืดเยื้อ

เอดีบีชี้จีดีพีไทยปี52ติดลบ2% เห็นติดลบ5%หากการเมืองยืดเยื้อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เอดีบีคาดจีดีพีไทยปี 2552 หดตัว 2% ดันคนว่างงานพุ่งแตะ 2 ล้านราย แต่หากการเมืองยืดเยื้อฉุดเศรษฐกิจหดตัว 4 - 5% แนะประเทศในภูมิภาคเอเชียจับมือแก้วิกฤติ ลดการพึ่งพาต่างประเทศหันพึ่งอุปสงค์ในประเทศ ด้านแบงก์ชาติแจงตัวเลขเศรษฐกิจ 2 เดือนแรกชะลอตัวต่อเนื่องแต่เห็นสัญญาณภาคธุรกิจเริ่มปรับตัวแล้ว

นายฌอง - ปิแอร์ เอ.เวอร์บีสท์ ผู้อำนวยการ สำนักงานผู้แทนประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี เปิดรายงานการวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเชีย ประจำปี 2552 โดยคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเฉลี่ยทั้งปีจะหดตัว 2.0% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2541 ซึ่งได้รวมผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไว้ แต่หากปัญหาทางการเมืองยืดเยื้ออาจส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวถึง 4.0 - 5.0% ขณะที่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกเป็นอีกปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ส่วนในปี 2553 นั้น จีดีพีของไทยจะกลับมาขยายตัวได้ที่ 3%

เอดีบีประเมินว่าเศรษฐกิจปรับลดลงทุกๆ 1.0 % จะส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 4 แสนราย ซึ่งเมื่อรวมกับการว่างงานสะสมอาจส่งผลให้ปี 2552 มีคนว่างงานทั้งหมดเกือบ 2 ล้านราย ภาคการส่งออกคาดว่าเฉลี่ยทั้งปีจะหดตัว 18 % และนำเข้าหดตัว 28.0% จากผลของอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอลง ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลมากกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8%ของจีดีพี ในปี 2552 และเกินดุล 4.5%ของจีดีพี ในปี 2553 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2552 อยู่ที่ 0.5% และปี 2553 อยู่ที่ 1.5%

ทั้งนี้ คาดการณ์จีดีพีของเอดีบี ยังได้คาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียขยายตัว 3-4 % เศรษฐกิจสหรัฐฯติดลบ 2.4% ยุโรปติดลบ 2.6% ญี่ปุ่น ติดลบ 3.5%

นายฌอง - ปิแอร์ เอ.เวอร์บีสท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ที่เกิดจากความไม่สมดุลของระบบเศรษฐกิจโลก ดังนั้นในระยะต่อไปจึงจำเป็นที่กลุ่มประเทศเอเชียจะต้องมีการสร้างสมดุลใหม่ เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ด้วยการใช้นโยบายทางการคลังและนโยบายอื่นเพื่อเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ สร้างบรรยากาศการลงทุน สนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีและภาคบริการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือในระดับภูมิภาคมากขึ้น

ทางด้านดร.อมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึง ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจโดยรวมสะท้อนการปรับตัวของเศรษฐกิจในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ในภาวะที่การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนจะยังชะลอตัว โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่มอยู่ในช่วงปรับตัวและปรับลดสต๊อก เพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ชะลอลง สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุนและวัตถุดิบที่ลดลง

ภาคส่งออกสุทธิปรับตัวสูงขึ้น เมื่อรวมกับการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งตัวสูงขึ้น จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยประคองให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อรวมกับราคาต้นทุนการผลิตและเงินเฟ้อที่ต่ำลง สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวเข้าหาความสมดุลมากขึ้น ทั้งภาคการผลิต การท่องเที่ยว ซึ่งต้องติดตามการปรับตัวของผู้ประกอบเพื่อให้สมดุลกับความต้องการทั้งภายในและภายนอกประเทศซึ่งเป็นการสร้างสมดุลใหม่จะยาวนานแค่ไหน

ดร.อมรา ยังได้กล่าวว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลถึง 4,418 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นการเกินดุลสูงสุดนับจากที่มีการจัดทำตัวเลขประมาณการตั้งแต่เดือนมกราคม 2534 แต่อย่างไรก็ตามหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การนำเข้าเพื่อการลงทุนน่าจะปรับสูงขึ้นจากโครงการลงทุนภาครัฐเป็นสำคัญ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook