คนกรุงแบกหนี้หลังแอ่นเพิ่ม 42%

คนกรุงแบกหนี้หลังแอ่นเพิ่ม 42%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
น.ส.วิริยา วรกิตติคุณ นายกสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ทำการสำรวจประชาชนในพื้นที่ กทม. รวมตัวอย่าง 500 คนตั้งแต่วันที่ 5-13 มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่า คน กทม. เป็นหนี้สูงถึง 42% จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนก่อนหน้านี้ ที่คน กทม. มีหนี้เพียง 13% เนื่องจากค่าครองชีพปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และมีรายรับลดลงตามปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ จึงต้องแบกรับหนี้เพิ่มขึ้น รวมทั้งออมเงินลดลงถึง 47% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 30-49 ปี ดังนั้นนโยบายที่ต้องการให้รัฐเร่งช่วยเหลือได้แก่ การลดค่าครองชีพของประชาชนลง ด้วยการลดราคาสินค้าและไม่ปรับขึ้นราคาน้ำมัน ออกมาตรการช่วยเหลือให้ประชาชนมีอาชีพ และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอีก 10%

สำหรับมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล 6 มาตรการ ที่ประกาศออกไปแล้ว ประชาชนมีความมั่นใจสูงถึง 67% ว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ แต่มีเพียง 16% ที่ไม่เชื่อว่าจะช่วยได้ ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจที่ชื่นชอบมากที่สุดได้แก่ เรียนฟรี 15 ปี รองลงมา มาตรการต่ออายุลดค่าใช้จ่ายน้ำประปา ค่าไฟ และรถประจำทาง และเบี้ยยังชีพคนชรา ส่วนนโยบายแจกเงิน 2,000 บาท ให้ประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท คนส่วนใหญ่ทั้งที่ได้รับเช็คและไม่ได้รับเช็ค 2,000 บาท เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ คน กทม. มีความเครียดลดน้อยลง และมีกำลังใจที่ดีขึ้น จากความเชื่อมั่นในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่เข้ามาบริหารงาน

ด้านการชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่เกิดขึ้นไม่ต้องการให้ชุมนุมยืดเยื้อเกิน 1 เดือน เพราะอาจจะมีผลกระทบที่รุนแรงไปยังภาคเอกชนและเศรษฐกิจไทยได้ เพราะการเมืองและเศรษฐกิจมีผลสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน และที่ผ่านมาสัญญาณการใช้จ่ายเงินของประชาชนเริ่มปรับตัวดีขึ้นแล้ว แต่ทั้งนี้ประชาชนจะใช้จ่ายซื้อสินค้าจำเป็นมากที่สุด สูงถึง 90% จากเดิมมีสัดส่วน 80% เมื่อเทียบกับผลการสำรวจครั้งที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มสินค้าที่ได้รับความสนใจมากที่สุดสำหรับคนกรุงเทพฯในขณะนี้คือ บ้านและรถยนต์ เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นและมีราคาปรับลดลง ทำให้คนกรุงเทพฯ หันมาสนใจซื้อสินค้าดังกล่าวมากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือย.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook