ฉลาดสุด ๆ : ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ

ฉลาดสุด ๆ : ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ปัญหาการจราจรถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้นยิ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพราะกลายเป็นปัญหาประจำวัน ที่ส่งผลเสียทั้งด้านมลพิษ สิ่งแวดล้อม สุขภาพจิต สิ้นเปลืองพลังงานและเกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ

ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะหรือเรียกสั้น ๆ ว่า ITS จึงถือเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการแก้ปัญหาการจราจรและขนส่งของประเทศ

...อะไรคือ ITS ?

ดร.ภาสกร ประถมบุตร ผู้อำนวยการโปรแกรมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือเนคเทค บอกว่า ระบบ ITS คือ แนวคิดการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อช่วยปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิ ภาพให้กับระบบการจราจรและขนส่ง เช่น ความปลอดภัย และความคล่องตัวในด้านต่าง ๆ

ซึ่งหัวใจสำคัญของระบบนี้ ก็คือ ข้อมูลและสารสนเทศ ที่จะต้องมีการประมวลผล เผยแพร่และแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้ใช้และผู้ให้บริการ โดยผ ่านระบบสารสนเทศและการสื่อสาร

ทั้งนี้ระบบ ITS ในเมืองไทยเริ่มมีมาเกือบ 20 ปีแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ระบบเก็บเงินบนทางด่วนที่ใช้บัตรค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติ หักเงินจากบัตรที่ติดหน้ารถแค่วิ่งผ่านด่านเก็บเงิน

ส่วนที่เนคเทค...เริ่มทำโครงการโปรแกรมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 นี้ โดยเริ่มจากเทคโนโลยีอิมเมจ โพรเซสซิ่ง หรือการใช้กล้องจับภาพบนพื้นถนน เพื่อวิเคราะห์ความเร็วของรถที่วิ่งผ่าน และ การใช้เซ็นเซอร์แสง

และด้วยความสำคัญของระบบ ITS กระทรวงคมนาคมได้กำหนดเป็นแผนแม่บทการพัฒนาระบบการขนส่งและจราจรอัจฉริยะ พ.ศ. 2549-2558 เป้าหมายระยะแรกเลืและพัฒนาด้านการให้ข้อมูลแก่ผู้เดินทาง เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร และเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ถนน

นอกจากการพัฒนาด้านกายภาพของรถยนต์อัจฉริยะไร้คนขับที่มีเครือข่ายการวิจัยจาก 12 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกหลายปี ที่ผ่านมา...เนคเทค ได้เปิดตัวผลงานการวิจัยและ พัฒนาด้านเทคโนโลยี ITS กันอย่างต่อเนื่อง

เช่น ป้ายทะเบียนรถอัจฉริยะพูดได้ ระบบอาร์เอฟไอดีสำหรับติดรถเมล์ ซึ่งใช้ในการเก็บข้อมูล อุปกรณ์ จี-บ็อกซ์ ที่คล้ายกับเทรคกิ้งรถยนต์ มีจีพีเอส สื่อสาร 2 ทาง ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของบริษัทที่เกี่ยวกับการใช้รถยนต์เอ็นจีวี เพื่อศึกษาพฤติกรรมของการขับที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน รวมถึงเทคโนโลยีเซ็นเซอร์เบรก อัตโนมัติ ที่อนาคตตั้งเป้าไว้ถึงขั้นให้รถยนต์ติดต่อสื่อสารกันเอง โดยคนขับไม่ต้องยุ่ง

และที่รู้จักกันดี...โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลก็คือ เว็บรายงานการจราจรออนไลน์ www. traffy.in.th จากห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเครือข่าย ที่รวมเอาเทคโนโลยี ITS มาประยุกต์ใช้เป็นบริการ ซึ่ง ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าโครงการ ฯ แจ้งว่า สงกรานต์ปีนี้ Traffy มีการปรับโฉมใหม่ให้เข้าถึงและดูเข้าใจง่ายขึ้น แถมฟีเจอร์เพิ่มเติมทั้งการค้นหาสถานที่ ดูแผนที่ ฟังก์ชั่นพิเศษที่ทำให้เป็นข้อมูลจราจรส่วนตัว ส่วนฐานข้อมูลจราจรมีเพิ่ม 2-3 เท่าตัว นอกจากจะดูได้ผ่านเว็บไซต์ บนพีซี หรือดูเวอร์ชั่นบนมือถือแล้ว ปีนี้ยังจะเปิดให้บริการผ่านไอ-โฟนอีกด้วย

ดร.วสันต์ ฝากมาอีกว่า เว็บนี้เปิดตลอดเวลา ดูได้ 24 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องเป็นช่วงเทศกาล และที่ต้องร้องขอก็คืออาสาสมัคร ให้ข้อมูลจราจร นนี้ยังมีไม่มาก...หากผู้ใช้บริการร่วมมือช่วยกันให้ข้อมูล แค่คลิกง่าย ๆ ก็จะเป็นเครือข่ายข้อมูลจราจรออนไลน์ที่สมบูรณ์

...กลับมาที่คำถามที่ว่า แล้ววันนี้ระบบ ITS เมืองไทยไปถึงไหน ดร.ภาสกร บอกว่า หากเปรียบเทียบ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำด้านการจราจรอัจฉริยะ ได้คะแนนเต็ม 10 แล้ว ไทยจะได้แค่ 0.5 แต่เราก็โชคดีที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการเริ่มวิจัยและพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ

...แต่สำหรับในภูมิภาคแล้ว เราอยากจะเป็นผู้นำ เพราะนอกจากสิงคโปร์แล้ว เราเป็นลำดับต้น ๆ และที่สำคัญคือเราทำเองได้ ขณะที่สิงคโปร์นำเข้าเทคโนโลยี !!!

วันนี้...อาจเป็นเพียงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของระบบ ทั้งด้านเทคโนโลยีและเครือข่ายข้อมูลที่จะต้องมีศูนย์ข้อมูลจราจรของประเทศ

แต่ในอนาคต....ระดับความอัจฉริยะของยานพาหนะรวมกับระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ อาจก้าวหน้าไปถึงขั้นที่จะทำหน้าที่ในการเดินทางและตัดสินใจในการขับขี่ยานพาหนะแทนมนุษย์ ได้

...ไม่ใช่มีแค่ในภาพยนตร์...แต่นี่...คือเรื่องจริง !!!. นาตยา คชินทร

nattayap@dailynews.co.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook