ข้าราชการที่ดี เป็นยากและเจ็บปวด

ข้าราชการที่ดี เป็นยากและเจ็บปวด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ข้าราชการเป็นประชาชนที่มีภาระพิเศษ การรับราชการไม่ใช่การมุ่งหากำไรเหมือนเอกชน แต่มุ่งให้เกิดสาธารณประโยชน์ และเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฏหมายด้วย คนที่รับราชการจึงต้องมีคุณสมบัติมากกว่าคนทั่วไป นั่นคือความคาดหวังต่อบุคคลที่เป็นข้าราชการของศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช นายกราชบัณฑิตยสถาน อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นผู้มีประสบการณ์สูงด้านการเมือง การปกครอง ดร. ชัยอนันต์ กล่าวในการอภิปรายเรื่อง "จากแนวทางสู่การปฏิบัติ ในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน ประจำปี 2552 ณ หอประชุมสุขุมนัยประดิษฐ์ สำนักงาน ก.พ. จังหวัดนนทบุรี ว่า ข้าราชการต้องมีคุณสมบัติที่พึงปรารถนา นั่นคือ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน แสวงหาความสามัคคีปรองดองอยู่เสมอ มีวินัย รู้จักควบคุมตนเองได้ มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้สำเร็จโดยไม่ย่อท้อ และมีความประหยัดคือความพอเพียง "ข้าราชการมีวิถีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง ต่างจากประชาชนทั่วไป คือมุ่งมั่นให้บริการแก่ประชาชนและสังคม แต่คนที่เข้ามารับราชการ มีน้อยคนที่จะฝึกตนเองให้มีคุณสมบัติเหล่านี้เพิ่มขึ้น ข้าราชการต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้เป็นนิสัย จิตสำนึกจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้บังคับบัญชาต้องช่วยสั่งสอนและเพื่อนร่วมงานต้องช่วยวิเคราะห์ร่วมกัน การสร้างจิตสำนละจริยธรรมเป็นเรื่องต้องทำควบคู่กันไป "ในด้านการปฏิบัติหน้าที่ ข้าราชการต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรม ไม่โอนอ่อนไปตามความเย้ายวน อย่างอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ หรืออาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ สังคมไทยมีความเสื่อมโทรมในระยะ 4 - 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแผ่กระจายไปจากวงราชการ นักการเมืองเข้ามาใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ก่อให้เกิดการแบ่งแยกประชาชนเป็น สองฝ่ายอย่างชัดเจนและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการจึงต้องมีความรับผิดชอบ มีการตอบสนองอย่างถูกต้อง "ข้าราชการสมัยใหม่ต้องมีความฉับไว เห็นปัญหาเร็ว คิดริเริ่มแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องรอใครมาเรียกร้อง ข้าราชการต้องแก้ปัญหาก่อนประชาชนหมดความอดทน ประชาชนต้องได้รับบริการอย่างพึงพอใจ ในเวลาอันสั้นที่สุด นายชัยอนันต์ กล่าวด้วยว่า การเป็นคนดี และเป็นข้าราชการที่เก่ง เป็นคนละเรื่องกัน ในการปฏิบัติหน้าที่ ข้าราชการต้องให้ความเสมอภาคกับบุคคลทั่วไปอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ต้องรักษากฏระเบียบอย่างเคร่งครัด ไม่บิดไปตามผู้มาวิ่งเต้นหาผลประโยชน์ การแสวงหาผลประโยชน์โดยเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นเพราะไม่มีความพยายามที่จะปลูกฝังจิตสำนึกให้ข้าราชการตระหนักว่าเกียรติยศและความซื่อสัตย์สุจริตนั้นมีความหมายมากกว่าอำนาจเงิน ข้าราชการในหลายจังหวัดก็ยังหวั่นเกรงต่อพลังเหล่านั้น เพราะฉะนั้นข้าราชการต้องคิดและมีความกล้าหาญ ไม่เอาตัวรอดไปวันๆ ท้ายที่สุดนายชัยอนันต์ ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการน้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้ในการปฏิบัติงานว่า แนวทางทรงงานคือ สัมผัสกับประชาชน รับรู้ถึงความต้องการอย่างแท้จริงของประชาชน ซึ่งข้าราชการละเลย ทำให้เกิดโครงการพระราชดำริมากมาย ในโครงการส่วนพระองค์ทรงใช้หลัก Area, Function, Participation คือมอง 3 ด้าน ได้แก่ ภารกิจของหน่วยงาน ลักษณะพื้นที่เป็นอย่างไร และการมีส่วนร่วมของประชาชน ข้าราชการต้องประสานทฤษฎีกับการปฏิบัติ ต้องลงพื้นที่เพื่อให้รู้ภูมิสังคม และรับแนวทางทั้งสามประการไปใช้ นายชัยอนันต์ กล่าวด้วยว่าข้าราชการนั้นเป็นยาก เพราะต้องมีคุณสมบัติมากกว่าคนทั่วไป ต้องซื่อสัตย์กว่า อดกลั้นกว่า ขยันกว่า มีวินัยในตัวเองมากกว่า สิ่งเหล่านี้ ข้าราชการต้องน้อมนำเป็นนิสัย ในปัจจุบันมีตัวแปรแทรกซ้อนคือฝ่ายการเมืองซึ่งเข้ามาใช้ข้าราชการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ข้าราชการไม่ได้รับตำแหน่งอันควร การเป็นข้าราชการที่ดีจึงยากและเจ็บปวด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook