“เอ็ม ชัยชนะ” จากความรุนแรงในบ้าน สู่ความรุนแรงในโลกออนไลน์

“เอ็ม ชัยชนะ” จากความรุนแรงในบ้าน สู่ความรุนแรงในโลกออนไลน์

“เอ็ม ชัยชนะ” จากความรุนแรงในบ้าน สู่ความรุนแรงในโลกออนไลน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โลกออนไลน์ถึงคราวเดือดอีกครั้ง เมื่อนายชัยชนะ ศิริชาติ หรือ เอ็ม ลงมือทำร้ายร่างกายแฟนสาวจนบาดเจ็บสาหัส พร้อมไลฟ์บนเฟซบุ๊ก ซึ่งนอกจากจะเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญแล้ว กรณีนี้ยังจุดประเด็นให้เกิดดราม่าในโลกโซเชียล โดยเฉพาะกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความชอบธรรมในการทำร้ายร่างกายครั้งนี้

จริงอยู่ว่าทุกวันนี้ แนวคิดที่ว่า “ผัวเมียตีกันไม่ใช่เรื่องของเรา” ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะความรุนแรงในครอบครัวควรถูกสอดส่องดูแล และผู้ที่ถูกกระทำควรได้รับความช่วยเหลือ แต่สำหรับกรณี “เอ็ม ชัยชนะ” ดูเหมือนจะเลยเถิดไปเกินกว่าที่ควรจะเป็น เพราะชาวเน็ตได้ใช้ประโยชน์จากโลกโซเชียลอย่างเกินคุ้ม ตั้งแต่การเผยแพร่ไลฟ์ต่อไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลว่าเป็นการ “ขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน” ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือการติดตามดูไลฟ์ดังกล่าว พร้อมวิพากษ์วิจารณ์อย่างเมามันตามสไตล์ชาวเน็ต

นอกจากความรุนแรงครั้งนี้จะสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอในจิตใจของมนุษย์คนหนึ่ง ที่ไม่อาจรับมือกับความผิดหวัง จนกระทั่งทำร้ายร่างกายคนที่เป็นต้นเหตุ แม้เธอจะเป็นคนรักที่เพิ่งคบหากันได้ไม่ถึงปีก็ตาม ยังแสดงถึงพฤติกรรมสุดโต่งของคนบางกลุ่มที่มุ่งแต่จะหาคนผิด และสร้างความชอบธรรมให้กับการทำร้ายร่างกายผู้อื่น โดยเฉพาะคอมเมนต์สนับสนุนให้ฝ่ายชายทำร้ายฝ่ายหญิงเพื่อลงโทษที่ฝ่ายหญิงนอกใจ หรือคำพูดตีตราอย่าง “หญิงร้าย ชายเลว” ที่เป็นการสรุปง่ายๆ แบบที่ไม่ต้องเข้าข้างใคร แต่ถูกประณามกันทั้งคู่

แต่ถ้าคุณตัดเรื่องเพศสภาพออกไป นี่คือ “การทำร้ายร่างกาย” ที่ไม่ว่าเพศไหนก็สามารถกลายเป็นเหยื่อได้ไม่ใช่หรือ???

ในความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน หรือหลายคน แน่นอนว่าเราไปบังคับใครให้รักและภักดีกับเราไปชั่วชีวิตไม่ได้ และเมื่อรักไม่เท่ากันแล้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมผิดหวัง แต่คนที่ผิดหวังก็ไม่มีสิทธิที่จะไปทำร้ายหรือฆ่าแกงอีกฝ่าย เพราะถึงที่สุดแล้ว ความรุนแรงก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่ายอย่างแน่นอน

อีกประเด็นที่น่าสนใจในกรณีนี้ คือบทบาทของชาวเน็ตที่ช่วยกันแชร์คลิปและภาพของผู้เสียหาย โดยมองว่าเป็นการช่วยเหลือ แสดงความสงสาร เห็นใจ หรือแม้กระทั่งเพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจ แต่คุณอาจไม่รู้ตัวว่าการที่คุณดูไลฟ์นี้ในพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง ให้ผลที่แตกต่างจากการเห็นเหตุการณ์จริงตรงหน้า เพราะเหตุการณ์ที่น่าสยดสยอง หากปรากฏต่อหน้า จะทำให้เกิดความกลัว และนำไปสู่กลไกการยับยั้งตามธรรมชาติ ทำให้คุณไม่อยากดูซ้ำหรือเผยแพร่ต่อ ในขณะที่เมื่อคุณดูไลฟ์ผ่านหน้าจอที่มีระยะห่างจากเหตุการณ์ ความรู้สึกปลอดภัยจะไม่สร้างการยับยั้งการแชร์ต่อ ทำให้คุณเผยแพร่เรื่องเหล่านี้ได้อย่างสบายใจ จนกลายเป็นไวรัลในที่สุด ผลก็คือ ผู้เสียหายถูกกระทำซ้ำ ดังนั้นการแชร์ไลฟ์ในกรณีนี้จึงควรถูกตั้งคำถามด้วยว่าการแชร์เพราะสงสารนี้แตกต่างอย่างไรกับการที่นายเอ็มลงโทษผู้เสียหายออกสื่อ และอ้างว่าทำไปเพราะรัก

แล้วถ้าไม่แชร์ไลฟ์ จะช่วยชีวิตคนได้อย่างไร สิ่งที่คุณควรทำเมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้นก็คือแจ้งต้นตอของไลฟ์นั้นต่อเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สืบหาตัวผู้ก่อเหตุ และสถานที่ที่เกิดเหตุเอง เพื่อลดผลกระทบในระยะยาว เพราะถึงที่สุดแล้ว เบาะแสที่ได้จากไลฟ์ ก็มาจากการสืบหาตัวบุคคลและจุดเกิดเหตุ ไม่ใช่มาจากผู้ชมเป็นหลัก

เชื่อว่าทุกคนคงรู้ว่าการแชร์ไลฟ์ที่ลุกลามเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากเราลดความเป็นผู้พิพากษาหรือเหยี่ยวข่าวทรงคุณธรรมลง และมองผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์นี้ในฐานะมนุษย์ให้มากขึ้น เพราะมนุษย์ทุกคนสามารถทำเรื่องผิดพลาดได้เสมอ แต่ไม่มีใครที่สมควรถูกประณามหรือลงโทษราวกับไม่ใช่มนุษย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> "เอ็ม ชัยชนะ" ไลฟ์ทำร้ายแฟน สารภาพหึงหวง ปมโอนหุ้น 40 ล้านยังไม่ชัด
>> ตร.เผย "เอ็ม ชัยชนะ" เมายาหลอน คิดว่าเป็นโจ๊กเกอร์ ใช้ไฟช็อตแฟน
>> กู้ภัยเผยนาทีเข้าช่วยสาวถูกทำร้าย “เอ็ม ชัยชนะ” พูดซ้ำๆ ทำไมต้องโกหกพี่
>> “เอ็ม ชัยชนะ” ยังยืนยันแฟนสาวปันใจชายอื่น ตร.จ่อฝากขัง
>> "เอ็ม ชัยชนะ" ยอมรับเครียด อ้างแฟนนอกใจ หลับนอนกับเพื่อน 3 คน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook