กรมควบคุมโรค ยอมรับ นทท.ติดเชื้อโรคลิเจียนแน จากเชียงใหม่

กรมควบคุมโรค ยอมรับ นทท.ติดเชื้อโรคลิเจียนแน จากเชียงใหม่

กรมควบคุมโรค ยอมรับ นทท.ติดเชื้อโรคลิเจียนแน จากเชียงใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมควบคุมโรคเชียงใหม่ ยอมรับพบมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ป่วยติดเชื้อโรคลีเจียนแน ย้ำไม่เป็นอันตราย คนไทยมีภูมิต้านทานโรคนี้

ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ ชี้แจง กรณีพบมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติติดเชื้อ "โรคลีเจียนแน" หลังเข้ามาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่จริง ติดจากถังพักน้ำร้อนรวมของโรงแรม ยืนยันไม่ใช่โรคอันตรายขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานโรคของแต่ละคน แต่ชาวต่างชาติไม่ค่อยมีภูมิต้านทานโรคนี้

(22 มิ.ย.) นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ ได้เปิดเผยถึงกรณีที่นักท่องเที่ยวยุโรปคนหนึ่ง ที่มีอาการป่วย หลังกลับจากท่องเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้แจ้งให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ เข้าไปตรวจสอบโรงแรมแห่งหนึ่งในตัวเมืองเชียงใหม่ที่นักท่องเที่ยวคนดังกล่าวเข้าพัก เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้จากการเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจพบว่ามีเชื้อ แบคทีเรียลีเจียนเนลลา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคลีเจียนแน จากน้ำร้อนในถังพักน้ำร้อนรวม น้ำร้อนจากฝักบัวห้องพัก หัวฝักบัวสระน้ำ และหัวก๊อกน้ำในห้องพัก ซึ่งน้ำมีอุณหภูมิประมาณ 32-35 องศาเซลเซียส ทำให้เชื้อดังกล่าวเจริญเติบโตอยู่ได้ และติดต่อสู่นักท่องเที่ยวที่หายใจเอาเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในละอองน้ำ

จึงได้ให้คำแนะนำในการทำความสะอาดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค และได้กลับไปตรวจซ้ำอีกครั้งแล้วไม่พบเชื้อโรคอีก สำหรับโรคลีเจียนแนนี้ ถือเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ไม่ได้เป็นโรคระบาดรุนแรง ซึ่งไม่พบว่ามีการแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คน ดังนั้นคนจึงไม่เป็นพาหะนำโรค

ส่วนอาการที่พบผู้ป่วยจะมีไข้คล้ายไข้หวัดใหญ่ เริ่มด้วยการปวดศรีษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตามตัว ขึ้นอยู่กับภูมิต้่านทานโรคของผู้รับเชื้อ บางรายอาจจะไม่มีอาการ แต่ก็สามารถติดเชื้อชนิดรุนแรงเรียกว่าโรคปอดอักเสบ

ทั้งนี้ในส่วนของการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้คำแนะนำและตรวจสอบตามโรงแรมที่พักอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระบบน้ำร้อนควรมีอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส ระบบระบายอากาศ ระบบไอน้ำคูลลิ่ง และระบบเครื่องปรับอากาศ ต้องมีการล้างทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคอยู่เสมอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook