ไขปริศนา ทำไม หอเอนเมืองปิซา ทนต่อแผ่นดินไหว

ไขปริศนา ทำไม หอเอนเมืองปิซา ทนต่อแผ่นดินไหว

ไขปริศนา ทำไม หอเอนเมืองปิซา ทนต่อแผ่นดินไหว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บรรดาวิศวกรสงสัยกันมานานแล้วว่า ทำไมหอเอนแห่งเมืองปิซายังยืนหยัดอยู่ได้ แม้จะเจอกับแรงสะเทือนแผ่นดินไหวมานานหลายร้อยปี?

ส่วนหนึ่งของหอระฆังเก่าแก่แห่งนี้สร้างขึ้นบนพื้นดินที่อ่อนตัว ซึ่งเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด และเริ่มเอียงตัวตั้งแต่ก่อนที่จะสร้างเสร็จเสียอีก และกลายเป็นสถานที่เก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ที่น่าทึ่ง

หน้าเว็บไซท์ Phys.org ที่เสนอข่าวสารด้านการวิจัย รายงานว่า หอเอนแห่งเมืองปิซา ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิตาลี ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานหลายร้อยปี รวมทั้งสงครามโลกถึงสองครั้ง การเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยวหลายล้านคน และเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงอย่างน้อย 4 ครั้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตั้งเเต่ปี ค.ศ. 1280 เป็นต้นมา และหนึ่งในเหตุแผ่นดินไหวมีความแรงถึงกว่า 6.0 บนมาตรริกเตอร์

ไมลอนนากิส (Mylonakis) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมที่ศึกษาปฏิกิริยาระหว่างธรณีเทคนิคกับโครงสร้างของพื้นดิน กับวิศวกรอีกหลายสิบคน ได้เสนอคำตอบของพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้

เว็บไซท์ Phys.org รายงานว่า วิศวกรเหล่านี้ได้ค้นพบว่า ความสูงของตัวหอระฆังและรูปทรงกระบอก ผสมผสานกับความอ่อนตัวของฐานพื้นดิน ทำให้เกิดลักษณะการสั่นของโครงสร้างของหอระฆังรอบจุดสมดุล ที่ถูกปรับเปลี่ยนไปในทางที่ช่วยให้ตัวหอระฆังไม่โยกหรือแกว่งไปมาตามแรงสะเทือนของแผ่นดินไหว

ดังนั้นในระหว่างที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว หอเอนแห่งเมืองปิซา จึงสั่นน้อยกว่าแรงสั่นสะเทือนใต้พื้นดิน

ศาสตราจารย์ไมลอนนากิส กล่าวว่า เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงที่พื้นดินที่มีความนิ่มตัวจุดเล็กๆ จุดเดียวกันนี้ ที่ทำให้หอระฆังเอียงตัวมาตั้งเเต่ต้นจนเกือบจะล้มนี้ กลับมีบทบาทในการช่วยให้หอระฆังเลื่องชื่อแห่งนี้ผ่านพ้นเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงมาได้หลายครั้งเเล้ว

นิตยสารซอนญา รายงานว่า ในปี ค.ศ. 1990 รัฐบาลอิตาลีได้ปิดหอเอนแห่งเมืองปิซาไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชม และเริ่มต้นโครงการบูรณะนาน 10 ปี ทีมงานบูรณะได้นำแท่งตะกั่วน้ำหนัก 900 ตันไปหนุนโครงสร้างทางด้านเหนือของตัวหอระฆังเอาไว้เพื่อถ่วงน้ำหนักและเพื่อเพิ่มความสมดุล ในขณะที่พยายามหาวิธีที่ดีกว่านี้ในการชะลอการเอียงตัวของหอระฆัง

เจน มอร์เลย์ (Jane Morley) ผู้สื่อข่าวของวอชิงตันโพสต์ เขียนในรายงานข่าวเมื่อปี ค.ศ. 1998 ว่าปฏิบัติการกู้หอเอนแห่งเมืองปิซา มีการสร้างโครงสร้างรูปตัวอักษรเอขึ้นทางเหนือของตัวหอ และต่อสายเคเบิลเข้ายึดตรงกลางของหอระฆังเอาไว้

มอร์เลย์เขียนในรายงานว่า วิธีนี้ช่วยดึงตัวหอให้อยู่กับที่ ในขณะที่ทีมงานค่อยๆ เริ่มขุดเอาดินปริมาณเล็กน้อยจากทางเหนือสุดของหอระฆัง ทำให้พื้นดินในทิศนี้ของตัวหอยุบตัวลงไปเล็กน้อย ช่วยแก้ไขระดับการเอนของหอไปทางทิศเหนือได้ราวครึ่งองศา

ทีมวิศวกรยังได้ติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถปรับความดันของน้ำใต้ตัวหอระฆังด้วย เพื่อช่วยควบคุมการเอนตัวของหอ

งานบูรณะเหล่านี้ช่วยลดการเอียงตัวของหอระฆังลงมาจาก 5.5 องศา เป็น 3.9 องศาจากมุมตั้งฉาก ในขณะที่ยังช่วยรักษาความเอนเอาไว้ตามชื่อ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น การบูรณะดังกล่าวช่วยป้องกันไม่ให้หอระฆังเสี่ยงต่อการล้มเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก

จอห์น เบอร์เเลนด์ (John Burland) หนึ่งในผู้นำในโครงการบูรณะหอเอนแห่งเมืองปิซา กล่าวกับนิตยสารซอนญาว่า มีความเป็นไปได้น้อยนิดมากที่ฐานของหอระฆังจะล่ม เขาคิดว่ามีเพียงสาเหตุเดียวที่อาจจะทำให้หอเอนแห่งเมืองปิซาล้ม นั่นก็คือเหตุแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงมาก

แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่หอเอนชื่อก้องโลกของอิตาลีแห่งนี้ อาจจะรอดพ้นจากเหตุแผ่นดินไหวต่อไปได้อีกอย่างที่ได้เห็นตลอดเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook