โครงการคิดดีมีทุนให้ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงาน กกพ.

โครงการคิดดีมีทุนให้ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงาน กกพ.

โครงการคิดดีมีทุนให้ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงาน กกพ.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเพื่อความสุขที่ยั่งยืน

มารู้จัก “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” กัน

     กองทุนพัฒนาไฟฟ้า จัดตั้งขึ้นตาม “พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550” ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.  โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เป็นผู้บริหารจัดการ และเก็บรักษาเงิน โดยการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเป็นไปเพื่อการพัฒนา หรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่เกิดผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดที่ว่า “เป็นกองทุนของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน มีธรรมาภิบาล ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าให้ได้รับความเจริญในด้านต่างๆ รวมถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้า และชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาจากไหน?

เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาได้จากหลายแหล่งกล่าวคือ

  • เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าจะมาจากเงินที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าประเภทใบอนุญาตผลิตไฟฟ้านำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าเป็นรายเดือน โดยคำนวณเงินที่นำส่งตามปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตเพื่อจำหน่าย และใช้เอง ดังนี้ ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้านำส่งในอัตรา 50,000 บาท/เมกะวัตต์/ปี นับแต่วันเริ่มก่อสร้าง และในช่วงระหว่างการผลิตไฟฟ้า นำส่ง ตามพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตในแต่ละเดือนตามประเภทเชื้อเพลิง  ได้แก่  ถ่านหิน ลิกไนต์ อัตรา 2 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า พลังหมุนเวียน ประเภทพลังน้ำ อัตรา 2 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า  น้ำมันเตา /ดีเซล อัตรา 5 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ อัตรา  1 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า พลังหมุนเวียนประเภทลมและแสงอาทิตย์ อัตรา 1 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า พลังหมุนเวียนประเภทอื่น เช่น ก๊าซชีวภาพ ชีวมวล กากและเศษวัสดุเหลือใช้ ขยะชุมชน และอื่นๆ อัตรา 1 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า ส่วนผู้รับใบอนุญาต ฯ รายปัจจุบัน จ่ายเฉพาะช่วงระหว่างการผลิตไฟฟ้า
  • เงินค่าปรับจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า และค่าปรับทางปกครอง
  • เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ 
  • ดอกผล หรือประโยชน์ใดๆที่เกิดจากเงิน หรือทรัพย์สินของกองทุน

กองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีทำไม และเพื่ออะไร

  • เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบริการไฟฟ้าที่ยั่งยืน ส่งเสริมการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น
  • เพื่อชดเชยค่าใช้ไฟฟ้าที่ผู้ใช้ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น จากการถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในการผลิตไฟฟ้า
  • เพื่อพัฒนา หรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า
  • เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
  • เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในการมีส่วนร่วมด้านไฟฟ้าของชุมชน
  • เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

อะไรคือบทบาท และภารกิจหลักของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า?

     กองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีวิสัยทัศน์การดำเนินงานคือ เป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาไฟฟ้าของไทยให้ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม เสริมสร้างการยอมรับและการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีพันธกิจคือ ชดเชย และอุดหนุนให้มีการบริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ทั่วถึง เป็นธรรม พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และส่งเสริมประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า

     มีเป้าประสงค์หลักคือ ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า และเครือข่ายพันธมิตรมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน ระบบบริหารจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้  มีนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ผลการศึกษาวิจัย ส่งเสริม สาธิต และการพัฒนาโครงการต้นแบบด้านพลังงานหมุนเวียน เสริมสร้างความตระหนักรู้ และเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านไฟฟ้า  และมีการบริหารจัดการ และติดตามประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ  เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่มุ่งสนับสนุนให้มีการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง มีความน่าเชื่อถือ และเป็นธรรม  บริหารจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน  และเพื่อสร้างพันธมิตร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กองทุนพัฒนาไฟฟ้า

ทั้งนี้ได้มีการกำหนดเงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการ โดยต้องมีการแยกบัญชีตามกิจการที่ใช้จ่ายอย่างชัดเจน ดังนี้ 

มาตรา 97(1)  เพื่อการชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งได้ให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส หรือเพื่อให้มีการบริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง หรือเพื่อส่งเสริมนโยบายในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค

มาตรา 97(2)  เพื่อการชดเชยผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งต้องจ่ายอัตราค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากการที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้ากระทำการฝ่าฝืนตามมาตรา 87 วรรคสอง

มาตรา 97 (3)  เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า

มาตรา 97(4) เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

มาตรา 97(5) เพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า

มาตรา 97(6) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน กองทุนพัฒนาไฟฟ้ากับการสนับสนุน และช่วยเหลือชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

พื้นที่ใดที่เข้าข่ายได้รับเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า?

เพื่อให้การจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์แก่ชุมชนอย่างทั่วถึง ได้มีการกำหนดพื้นที่ประกาศว่าชุมชนใด หรือพื้นที่ใดบ้างที่จะได้เข้ามาร่วมบริหารจัดการเงินกองทุน โดยพิจารณาจากแผนการผลิตไฟฟ้าของแต่ละโรงไฟฟ้าครอบคลุมถึงตำบลโดยรอบโรงไฟฟ้าที่อยู่ในรัศมีจากศูนย์กลางโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งเป็นระยะทางตั้งแต่ 1 กิโลเมตร 3 กิโลเมตร หรือ 5 กิโลเมตร

โดยการบริหารเงินกองทุน ฯ แบ่งการบริหารเงินกองทุนเป็น 3 ประเภท คือ กองทุนประเภท ก กองทุนประเภท ข และกองทุนประเภท ค  กล่าวคือ

กองทุนประเภท ก มีปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้ามากกว่า 5,000 ล้านหน่วยต่อปี ปริมาณเงินที่ได้รับ มากกว่า 50 ล้านบาทต่อปี และมีรัศมีของพื้นที่ประกาศ (เฉพาะโรงไฟฟ้าใหม่) 5 กิโลเมตร มีคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า  (คพรฟ.) จำนวนไม่ต่ำกว่า 15 คน และไม่เกินกว่า 35 คน และมีคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล จำนวน 17 คนขึ้นไป

กองทุนประเภท ข มีปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 5,000 ล้านหน่วยต่อปี ปริมาณเงินที่ได้รับประมาณ 1-50 ล้านบาทต่อปี และมีรัศมีของพื้นที่ประกาศ (เฉพาะโรงไฟฟ้าใหม่) 3 กิโลเมตร มีคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า จำนวนไม่ต่ำกว่า 15 คน และไม่เกินกว่า 35 คน

กองทุนประเภท ค มีปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 100 ล้านหน่วยต่อปี ปริมาณเงินที่ได้รับไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี และมีรัศมีของพื้นที่ประกาศ (เฉพาะโรงไฟฟ้าใหม่) 1 กิโลเมตร มีตัวแทน อบต. และเทศบาลจำนวน 3 คน

ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าได้ประโยชน์อะไร?

  • ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าสามารถคัดเลือกผู้แทนจากทุกหมู่บ้านเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกองทุนเพื่อบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นให้มีระบบการบริหารที่ โปร่งใส
  • ประชาชน/ชุมชนในพื้นที่จัดทำโครงการชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาศักยภาพชุมชน และเสริมสร้างระบบสวัสดิการของประชาชนเสนอรับการสนับสนุนจากกองทุน
  • มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชน และกับหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ
  • มีการชดเชยเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าทั้งด้านสุขภาพ อาชีพ และสิ่งแวดล้อม
  • มีการฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเฝ้าระวังทางสังคม สุขภาวะ สิ่งแวดล้อม

ประชาชน และชุมชนสามารถนำเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ได้หลากหลายตรงกับความต้องการของชุมชน อาทิ

                ด้านสุขภาพ และสุขภาวะ ได้แก่ การสร้างสาธารณสุข หรืออนามัยประจำชุมชน

                ด้านอาชีพ เช่น การสร้างศูนย์ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาอาชีพชุมชน

                ด้านการเกษตร เช่น การสร้างโรงสีชุมชน

                ด้านคุณภาพชีวิต เช่น การสร้างศูนย์สุขภาพ หรือลานกีฬาให้กับเยาวชน

                ด้านการศึกษา ศาสนา เช่น การสร้างห้องสมุด ศูนย์วัฒนธรรม

                ด้านการพัฒนาชุมชนและองค์กรชุมชน อาทิ การสร้างหอประชุมประจำหมู่บ้าน

                ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในชุมชน เช่น การจัดตั้งโรงแยกขยะในชุมชน

                ด้านการช่วยเหลือชาวชุมชนที่ทุกข์ยากเดือดร้อน ได้แก่ การจัดตั้งอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น

การพัฒนาศักยภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทุน เช่น การสร้างศูนย์รวมข่าวสาร การเรียนรู้ และมีส่วนร่วมของชุมชน

ผลการดำเนินงานที่โดดเด่นของกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีอะไรบ้าง?

สำนักงาน กกพ. มีผลการดำเนินงานในหลายด้านดังนี้

  • กกพ. ได้อนุมัติแผนงานประจำปีให้แก่กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อดำเนินโครงการชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 – 2561  รวมทั้งสิ้น 40,822 โครงการ มูลค่ารวม 15,303.35 ล้านบาท แยกเป็นงบบริหารจัดการ 1,521.45 ล้านบาท และงบโครงการชุมชน 13,781.90 ล้านบาท ภายใต้การดำเนินงานโครงการชุมชน ประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าได้รับประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้แก่  การส่งเสริมคุณภาพชีวิต สุขภาพ และสุขภาวะ  การพัฒนาอาชีพ  และเศรษฐกิจชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิต  การพัฒนาการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น  รวมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม อาทิ 
  • กองทุนพันธุ์ข้าวเพื่อชุมชน จ.ชัยภูมิ
  • โครงการโรงสีข้าวชุมชน บ้านซับหวาย จังหวัดนครราชสีมา
  • โครงการ Smart Classroom ห้องเรียนอัจฉริยะ จังหวัดลำปาง
  • โครงการคลินิกทันตกรรมมาตรฐานเคลื่อนที่ (รถบัส) จังหวัดตาก
  • โครงการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ กองทุนแม่ของแผ่นดิน ตำบลแสนสุข จังหวัดชลบุรี
  • โครงการเพิ่มศักยภาพนักเรียนชั้น ม.6 ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย และ
  • โครงการถนนใต้ร่มพระบารมี จังหวัดระยอง เป็นต้น

การได้มาซึ่งโครงการชุมชนเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโดยประชาชนในพื้นที่ประกาศสามารถเข้าร่วมการบริหารงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในช่องทางต่างๆ ดังนี้

    • เข้าร่วมการประชาคมหมู่บ้านหรือชุมชน เพื่อเลือกตัวแทนหมู่บ้านเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
    • เข้าร่วมการประชาคมหมู่บ้านที่คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบ โรงไฟฟ้าจะจัดให้มีขึ้นในแต่ละพื้นที่เพื่อเสนอโครงการชุมชนในการขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในการพัฒนาชุมชนนั้นๆ
    • เข้าร่วมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ และการใช้จ่ายเงินให้มีการดำเนินการตามระเบียบที่ กกพ. กำหนด เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้
    • กกพ.ได้อนุมัติแผนงานประจำปีเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยคำนึงถึง ความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า โดยปีงบประมาณ 2560 รวมทั้งสิ้น 4 โครงการ มูลค่ารวม 08 ล้านบาท  และในปีงบประมาณ 2561 ได้เตรียมงบประมาณรองรับการดำเนินงานดังกล่าวไว้ 1,050 ล้านบาท
    • กกพ. ได้อนุมัติแผนงานประจำปีเพื่อส่งเสริมสังคม และประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า โดยปีงบประมาณ 2560 รวมทั้งสิ้น 15 โครงการ มูลค่ารวม 95 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2561 ได้เตรียมงบประมาณรองรับการดำเนินงานดังกล่าวไว้ 440 ล้านบาท

 

 

 

 

[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook