อดีต คมช.เตือนรบ.อย่าประเมิน ทักษิณ ต่ำ

อดีต คมช.เตือนรบ.อย่าประเมิน ทักษิณ ต่ำ

อดีต คมช.เตือนรบ.อย่าประเมิน ทักษิณ ต่ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อดีต คมช.เตือน รบ.อย่าประเมิน "ทักษิณ" ต่ำเกินไป กองทัพโยน ตร.คุมม็อบเสื้อแดง "นพดล"ชี้ นิการากัวไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน "ยัน"ไม่ได้จ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์ใหญ่ ท้าปชป.เปิดหลักฐาน "สุรพงษ์"ยันทำประชามติก่อนแก้รธน.ทุกอย่างจบ

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองขณะนี้ว่า รัฐบาลต้องไม่นิ่งนอนใจ และอย่าประมาทการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่นัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 17-20 พฤษภาคมนี้ เพราะการชุมนุมเล็กๆอาจขยายวงกว้างได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและปัจจัยอื่นไๆ

ทั้งนี้ อยากเตือนรัฐบาลอย่าคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่ายแพ้แล้วจะยุติการเคลื่อนไหว เพราะเป้าหมายของเขาคือการนิรโทษกรรมและการทวงคืนเงิน 7.6 หมื่นล้านบาท ยังไม่บรรลุผล เพียงแต่ตอนนี้เป็นการหลบรักษาบาดแผลและปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการต่อสู้เท่านั้น

"รัฐบาลอย่าประเมินศักยภาพของการชุมนุมต่ำเกินไป โดยเฉพาะศักยภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งที่ผ่านมาสังคมไทยเห็นแล้วว่า คนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถทำได้ทุกอย่าง แม้แต่ทำลายชาติบ้านเมือง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ตัวเองวางไว้ ดังนั้น การปรับแผนยุทธวิธีของเขา เพื่อกลับมาต่อสู้ใหม่ รัฐบาลต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ" พล.อ.สมเจตน์ กล่าว

ด้าน พล.ต.จิตตสักก์ เจริญสมบัติ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยหลังแกนนำ นปช. ประกาศนัดชุมนุมในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ ว่า การดูแลความสงบเรียบร้อยเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ดังนั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลรับผิดชอบหลัก แต่การทำงานอาจจะมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนให้มีความรัดกุมมากขึ้น และเมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติไม่มีประกาศใช้พระราชกำหนดบริการราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งทหารก็กลับเข้าเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานเช่นเดิม โดยมีตำรวจเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลความปลอดภัยของประชาชน

กลาโหมเชื่อ"อาวุธ-กระสุน"กองทัพหลุดก่อเหตุยาก

พล.ต.จิตตสักก์ กล่าวถึงกรณีที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตร ระบุว่ามีทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษให้ตรวจสอบ เพราะ พล.อ.ประวิตร ให้เป็นหน้าที่ของตำรวจในการรับผิดชอบ ซึ่งเป็นคนละหน้าที่กับกองทัพ สำหรับการตรวจสอบอาวุธสงครามและกระสุนของกองทัพที่ตั้งข้อสังเกตว่าอาจรั่วไหลมาก่อเหตุร้ายนั้น เรื่องนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงและเจ้ากรมสรรพาวุธตรวจสอบว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ อาวุธสงครามที่ใช้ในกองทัพจะมีการตรวจสอบเป็นประจำทุกปีตามวงรอบ โดยมีจเรทหารเข้าไปตรวจสอบคลังอาวุธทุกปี รวมทั้งแต่ละหน่วยจะตรวจสอบอาวุธของตนเองว่ามีจำนวนยอดเท่าไหร่ ดังนั้น อาวุธสงครามของกองทัพไม่น่าจะเล็ดลอดออกมาได้ แต่อาวุธสงครามมีการซื้อขายในตลาดมืด อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการจัดหามากระทำการก่อเหตุร้ายที่ผ่านมา ซึ่งสามารถตรวจสอบได้

เมื่อถามว่า กองทัพได้รายงานข้อเท็จจริงประเด็นที่มีกระสุนของกองทัพรั่วไหลมาใช้ก่อเหตุร้ายหรือไม่ พล.ต.จิตตสักก์ กล่าวว่า กระสุนของกองทัพในแต่ละหน่วยจะมีการตรวจสอบอยู่เป็นประจำ ซึ่งกระสุนในอัตราเป็นเรื่องยากที่จะหลุดรั่วออกมาได้ แต่อาจจะมีกระสุนที่ใช้ในการฝึกซ้อมที่สามารถหลุดมาได้บ้าง ทั้งนี้ กองทัพยังไม่มีการรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรมาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรับทราบ แต่เป็นหน้าที่ในระดับกองทัพที่ต้องตรวจสอบอยู่แล้ว

"นพดล"ชี้ "นิการากัว"ไม่มีสัญญาผู้ร้ายข้ามแดน

นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศและที่ปรึกษากฎหมายส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่อัยการสูงสุดทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อใช้มาตรการทางการทูตประสานไปยังรัฐบาลประเทศนิการากัว และประเทศสหรัฐอาหรับอามิเรตส์ เพื่อขอให้แจ้งเบาะแสและตามจับกุมพ.ต.ท.ทักษิณว่า ตามกฎหมายระหว่างประเทศทางอัยการสูงสุดมีสิทธิดำเนินการ แต่ต้องดูว่าทั้ง 2 ประเทศให้ความร่วมมือแค่ไหน เนื่องจากไม่มีข้อตกลงสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ขั้นตอนจึงไม่เหมือนกับประเทศที่ตกลงกันไว้ ตอนนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยังทำธุรกิจอยู่ และไม่ได้ว่าจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์ตามที่โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวหา เท่าที่ตรวจสอบไม่มีการจ้างแน่ ถ้ามีหลักฐานขอให้นำมาเปิดเผย

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะกระทำต่อพ.ต.ท.ทักษิณแค่ไหน นายนพดล กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับรัฐบาลในแต่ละประเทศว่าจะให้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหน คิดว่าไม่น่าจะมีผลอะไร ทาง ยูเออี เคยบอกไว้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ในประเทศได้ในฐานะนักธุรกิจ ในส่วนของนิการากัว เบื้องต้นความสัมพันธ์กับไทยมีไม่มาก ห่างไกลกันมาก และข้อตกลงสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ไม่มี จะต้องใช้หลักปฏิบัติต่างตอบแทน เราไม่สามารถไปพูดแทนรัฐบาลเขาได้ว่า จะให้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหน

เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเดินทางเข้าออก 2 ประเทศดังกล่าวอยู่ นายนพดล กล่าวว่า เท่าที่ทราบยังบินไปประเทศต่างๆและเข้า-ออก 2 ประเทศนี้ได้อยู่ ซึ่งจะต้องดูท่าทีรัฐบาล 2 ประเทศนี้ว่าเป็นอย่างไร

"ขอฝากหน่อยว่าข้อกล่าวหาที่บอกว่าท่านไปจ้างล็อบบี้ยิสต์ทำร้ายประเทศไทยว่ามันไม่มี คนไทยไม่ควรทำอยู่แล้ว ท่านไม่ได้ทำ ขณะเดียวกันในปัจจุบันไม่ได้จ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์ใดๆด้วย"นายนพดลกล่าว

"สุรพงษ์"ยันทำประชามติก่อนแก้รธน.ทุกอย่างจบ

ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเสนอให้รัฐบาลทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เราต้องการทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อชี้ให้เห็นว่าไม่ได้ทำเพื่อตัวเองหรือพ.ต.ต.ทักษิณ รวมถึงการนิรโทษกรรมเราก็ไม่ต้องการ เพราะกลัวถูกกล่าวหาว่าทำเพื่อนายใหญ่ อีกแค่ 2-3 ปีก็พ้นโทษ ถ้าเราต้องการทำ คงเดินหน้าตั้งแต่สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช หรือรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ไปแล้ว ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการนิรโทษกรรม ที่ประชุมเห็นว่าเป็นความต้องการของพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทยมากกว่า ที่ประชุมจึงได้ข้อสรุปว่าอย่าหลงประเด็นฝ่ายอื่นเด็ดขาด

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่เครือข่ายยุติความรุนแรงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมปฏิบัติตามปฎิญญา 9 ข้อ เพื่อไม่ทำร้ายประเทศไทย ไม่ใช้ความรุนแรงนั้น พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง โดยตนตั้งใจจริงให้ประเทศสันติและได้ติดธงชาติที่เป็นสัญญลักษณ์แสดงถึงต้องการสันติของการณรงค์ครั้งนี้ที่หน้าบ้านแล้ว และได้โทรศัพท์พูดคุยกับพ.ต.ท.ทักษิณเมื่อคืนวันที่ 4 พ.ค.ท่านก็เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาได้เรียกร้องให้กระบวนการมีความเป็นธรรมมาโดยตลอด แต่ขณะนี้ขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามปฎิญญาดังกล่าวด้วย เพื่อให้เกิดความปรองดองขึ้นในประเทศ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook