รบ.เดินหน้ารีดภาษี ทรัพย์สิน-ที่ดิน ต่อ! พท.โวยพ.ร.ก.กู้4แสนล.แฝงการเมือง

รบ.เดินหน้ารีดภาษี ทรัพย์สิน-ที่ดิน ต่อ! พท.โวยพ.ร.ก.กู้4แสนล.แฝงการเมือง

รบ.เดินหน้ารีดภาษี ทรัพย์สิน-ที่ดิน ต่อ! พท.โวยพ.ร.ก.กู้4แสนล.แฝงการเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"กรณ์"เดินหน้าเก็บภาษีทรัพย์สิน-ที่ดินต่อ แจงคลังตกผลึกแนวคิดแล้ว ซักซ้อมความเข้าใจ-รับฟังความคิดเห็น ก่อนยื่นครม.พท.ซัด พ.ร.ก.กู้ 4 แสนล้าน แฝงภารกิจการเมือง จี้ทบทวน ขู่ยื่นศาล รธน.วินิจฉัย

มาร์คชี้ภาษีน้ำมันไม่กระทบปชช.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่โรงแรมดุสิตธานี กรณี กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ขยายเพดานการจัดเก็บภาษีสรรสามิตน้ำมันจากปัจจุบันเก็บภาษีสูงสุดลิตรละ 5 บาทเป็น 10 บาทว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานไปศึกษาการขยายเพดานการจัดเก็บภาษีน้ำมันแล้ว ที่มีข่าวว่าจะขึ้นราคาน้ำมัน 10 บาทเป็นแค่ความเข้าใจผิด เพราะต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างการขยายเพดานการจัดเก็บภาษีกับการจัดเก็บภาษีจริง ซึ่งหากมีการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันจะต้องไม่กระทบกับประชาชนคนทั่วไป และไม่มีผลต่อราคาหน้าปั๊ม เพราะมีกลไกของกองทุนน้ำมันดูแลอยู่

เชื่อนำกองทุนฯมาอุดได้อีกนาน

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการปรับเพิ่มภาษีน้ำมัน จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป เพราะกองทุนน้ำมันจะเข้ามาชดเชยส่วนต่าง โดยช่วงที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเก็บเงินเข้าในอัตราสูงมาก เช่น เบนซิน 91 เก็บในอัตรา 5 บาทต่อลิตร และดีเซลประมาณ 2 บาทกว่าต่อลิตร ซึ่งจากการคำนวณก่อนประกาศเพิ่มภาษีนั้นพิจารณาแล้วเห็นว่า อัตราที่การเพิ่มอยู่ในเกณฑ์ที่กองทุนน้ำมันจะดูแลได้ เพราะขณะนี้มีเงินกองทุน 2 หมื่นล้านบาท หากหักในส่วนของเอ็นจีวีออกจะเหลือประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท

"ตามสูตรที่เราดูแล้วจะเห็นว่ากองทุนน้ำมันยังสามารถดูแลได้อีกนาน แต่เราเองก็ไม่มีนโยบายที่จะให้ใช้น้ำมันราคาถูกอยู่แล้ว ขณะเดียวกันยังเป็นการเตรียมพร้อมในการปรับโครงสร้างการใช้เชื้อเพลงไปสู่การใช้พลังงานทดแทน เพราะเชื่อว่าในระยะยาวราคาน้ำมันจะไม่อยู่ในระดับนี้ต่อไป โดยจะเห็นจากปัจจุบันว่า แม้ช่วงเศรษฐกิจจะชะลอตัว ราคาน้ำมันยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่องและหากเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น ราคาน้ำมันจะปรับเพิ่มขึ้นมาก จึงต้องการใช้โอกาสนี้พัฒนาไปสู่การพัฒนาเอทานอล เพราะหากราคาเอธานอลยังคงต่ำ ก็จะไม่มีใครลงทุน ดังนั้นราคาน้ำมันต้องอยู่ใในระดับที่คุ้มค่าถึงเอธานอลด้วย"นายกรณ์กล่าว

ยกต่อไปขูดภาษีทรัพย์สิน-ที่ดิน

สำหรับกรณีผู่ประกอบการออกมาร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเพิ่มภาษีสรรพสามิตเบียร์นายกรณ์กล่าวว่า ยืนยันว่า การเพิ่มภาษีสรรพสามิคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ปรับโครงสร้างภาษีใหม่ แต่เป็นการเพิ่มกรอบเพดานที่มีอยู่แล้ว และไม่ได้ประกาศปรับราคาหน้าโรงงานใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่ภาษีสรรพาสามิตนั้นจะเป็นระบบที่เรียกว่าภาษีรวมใน คือจะนำอัตราภาษีที่จะต้องเสียมารวมเป็นต้นทุนในการผลิต เพื่อคำนวณภาษีที่จะต้องชำระ ซึ่งเมื่อภาษีเพิ่มขึ้น คำนวณมาแล้วต้นทุนก็จะเพิ่มและราคาหน้าโรงงานก็จะปรับเองอัตโนมัตอยู่แล้ว ไม่ใช่ผลกระทบ 2 ด้านแต่อย่างใด

นายกรณ์กล่าวว่า หลังจากปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิต เพื่อเป็นการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้รัฐมากขึ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการพิจารณาภาษีท้องถิ่นในเรื่อง ภาษีทรัพย์สินและที่ดิน ซึ่งในส่วนของกระทวงการคลังถือว่าตกผลึกในแนวความคิดแล้ว คาดว่าในอีก 2 เดือนจะเดินหน้าซักซ้อมความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็น หลังจากจึงจะนำเสนอในคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

"รายได้ที่เคยตั้งเป้าว่าจะเก็บเพิ่ม 7 หมื่นล้านบาทที่เคยประกาศไปนั้น ขณะนี้ชัดเจนว่า 7 พันล้านบาทจะมาจากภาษีสรรพามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่หากได้จากภาษีน้ำมันเข้ามาก็จะช่วยได้มาก ซึ่งขณะนี้การจัดเก็บรายได้ที่ลดลง ส่วนใหญ่มาจากภาษีการค้าระหว่างประเทศที่หายไปมากคือภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เก็บจากการนำเข้าสินค้า ซึ่งหากการค้า ทั้งการนำเข้าและส่งออกกลับสู่ภาวะปกติ การจัดเก้บรายได้รัฐก็จะเข้ามาจำนวนมาก"นายกรณ์กล่าว

พลังงานใช้กองทุนฯอุ้มราคาน้ำมัน

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ ที่โรงแรมปัญจดารา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ภายหลังเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริหารพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาว่า หลังจากกระทรวงการคลัง เสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ขึ้นภาษีสรรพาสามิตทุกชนิด รวมถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยนั้น เมื่อออกประกาศและมีผลบังคับใช้ หากกระทรวงพลังงานไม่ดำเนินการใดๆจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลปรับตัวสูงขึ้นตามภาษีสรรพสามิตที่กระทรวงการคลังจัดเก็บ แต่เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนทั่วประเทศซึ่งเป็นผู้ที่ใช้น้ำมัน รวมถึงราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอาจมีผลต่อการปรับขึ้นราคาสินค้าต่างๆตามมา ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ดังนั้นกระทรวงพลังงานโดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ได้ประชุมและมีมติอนุมัติในหลักการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาใช้เป็นกลไก บรรเทาผลกระทบมิให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการปรับขึ้นราคาภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

น้ำมันไม่ขึ้นอย่างน้อย1เดือน

"กระทรวงพลังงานจะปรับลดการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันลงเป็นการชั่วคราว เพื่อมิให้ราคาขายปลีกน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันหรือปั๊มต่างๆทั่วประเทศมีราคาสูงขึ้น เท่ากับว่าราคาน้ำมันในประเทศไทยจะมีราคาเป็นปกติเท่าเดิม ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 1 เดือน จากนั้นกระทรวงพลังงานจะทยอยลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลงเป็นคราวๆไป ด้วยการปรับขึ้นราคาน้ำมันครั้งละเล็กน้อย จนกว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวไปอยู่ในระดับที่กระทรวงการคลังประกาศขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เหมือนที่เคยดำเนินการมาในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้นก่อนหน้านี้ มาตรการนี้จะเริ่มทันทีที่กระทรวงการคลังบังคับใช้ประกาศจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพิ่ม ดังนั้นขอให้ประชาชนทั่วประเทศมั่นใจได้ว่า แม้กระทรวงการคลังจะปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันในระยะแรกเป็นการชั่วคราวนั้น ราคาน้ำมันขายปลีกตามปั๊มต่างๆจะไม่มีการปรับขึ้นราคา แต่หากจะขึ้นราคาน้ำมัน ก็คงปรับขึ้นตามกลไกตลาดเท่านั้น" น.พ.วรรณรัตน์ กล่าว

พท.ชี้พ.ร.ก.กู้"แฝงภารกิจการเมือง"

นายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)เพื่อกู้เงินจำนวน 4แสนล้านบาทตามแผนปฎิบัติการไทยเข้มแข็งว่า เป็นหลักฐานความล้มเหลวและผิดพลาดในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่เกิดจากการใช้จ่ายงบประมาณไม่สอดคล้องกับประมาณการรายรับจนที่สุดต้องขาดดุลงบประมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผิดพลาดไปจากเป้าหมายมากจนไม่สามารถปิดหีบงบประมาณปี2552 ได้ ทำให้ต้องเร่งรีบแก้ปัญหาด้วยการออกพ.ร.ก.เพื่อกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องของเงินคงคลังที่ร่อยหรอลงเต็มที ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลก็เคยคิดจะเอาเงินกองทุนนอกงบประมาณมาเสริมสภาพคล่องให้เงินคงคลังแต่ถูกคัดค้าน

นายคณวัฒน์ กล่าวว่า การออกพ.ร.ก.กู้เงินดังกล่าว ถือว่าเกินความจำเป็นที่รัฐบาลต้องใช้ในการปิดหีบงบประมาณปี2552ไปถึง 2แสนล้าน โดยรัฐบาลอ้างถึงภาวะเศรษฐกิจทรุดตัวของประเทศ แต่แฝงไว้ใช้ในภารกิจทางการเมืองของรัฐบาลโดยหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากรัฐสภาทั้งที่งบประมาณรายจ่ายประจำและงบกลางปี2552 ยังดำเนินการเบิกจ่ายได้ไม่เต็มที่ในขณะที่เหลือเวลาอีกเพียง 4 เดือนสำหรับการใช้จ่ายงบประมาณปี2552 เท่านั้น ถ้ารัฐบาลจำเป็นต้องออกพรก.เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของรัฐบาล ก็ควรที่จะทำเท่าที่จำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น ซึ่งพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการออกพรก.ที่ซ่อนเงื่อนในลักษณะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของรัฐสภาโดยฉกฉวยแอบแฝงซ่อนงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นเข้าไปด้วย

จี้ทบทวน-ขู่ส่งศาลรธน.ตีความ

"พรรคเพื่อไทยเสียความรู้สึกกับนายอภิสิทธิ์ซึ่งมักแสดงตนว่ายึดมั่นในหลักการการตรวจสอบของรัฐสภา แต่การออกพรก.ครั้งนี้เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลเจตนาหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากรัฐสภา และส่อเค้าว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ จึงอยากจะเรียกร้องไปยังนายอภิสิทธิ์ให้ทบทวนการออกพระราชกำหนดนี้ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขความจำเป็นเร่งด่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และอยากจะเตือนนายอภิสิทธิ์ว่าอย่าฉกฉวยโอกาสที่ได้มาด้วยการทำอะไรที่ฉาบฉวยไม่จริงใจ ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะเร่งตรวจสอบติดตามรายละเอียดของพรก.ฉบับดังกล่าว ถ้ามีข้อสงสัยว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดก็จะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไปว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่"นายคณวัฒน์กล่าว

ปชป.ปัดไทยเข้มแข็งเอื้อ"พรรค"

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ที่ระบุแผนปฎิบัติการณ์ไทยเข้มแข็งเป็นการแบ่งเค้กสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียวนั้นว่า อยากให้ พท.ไปดูโครงการต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นการทำแหล่งน้ำทั่วประเทศ เพื่อให้มีระบบชลประทาน พัฒนาระบบการเกษตร สร้างถนนในถิ่นทุรกันดาร อยากถามว่าการขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้กระทำในทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมกันจริงหรือไม่ หรือเป็นการพัฒนาเฉพาะพื้นที่ที่เคยเลือกพรรคไทยรักไทยตามแนวทางในอดีตของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และโครงการนี้เป็นการลงทุนพื้นฐานระยะยาวไม่ใช่เน้นการใช้จ่ายในครัวเรือนจนเกิดหนี้สูงสุดเหมือนในสมัยของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ และมีการจัดเก็บรายได้เพื่อทดแทนค่าใช้จ่ายด้วยการขึ้นภาษีให้กระทบประชาชนน้อยที่สุดคือภาษีสรรพสามิต เหล้า บุหรี่ ภายใต้กรอบของความพยายามไม่ขายสมบัติชาติเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล เหมือนกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่จะใช้วิธีการเพิ่มภาษีบางรายการที่เป็นภาษีบาปและเพิ่มวงเงินกู้ที่อยู่ภายในเพดานตามมาตรฐานสากล

สบน.รอดูวงเงินชดเชยคงคลัง

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เปิดเผยว่า คาดว่าในสัปดาห์หน้า สบน.จะมีอำนาจในการกู้เงินเพิ่มเติมตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ วงเงิน 4 แสนล้านบาทได้ โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 2 แสนล้านบาท เพื่อสมทบเงินคงคลังที่การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายและอีก 2 แสนล้านบาทจะนำมาใช้เป็นเงินลงทุนโดยตรง ในโครงการที่มีความพร้อมมากที่สุดก่อน ซึ่งคาดว่าปีนี้จะลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท ในส่วนของการชดเชยเงินคงคลังนั้น ต้องรอการประเมินฐานะการคลังอีกครั้งว่า การจัดเก็บรายได้พลาดเป้ามากน้อยเพียงใด และเมื่อรวมกับการชดเชยจากการขออนุมัติกู้ในประเทศเพิ่มเติม 9.4 หมื่นล้านบาท เพียงพอหรือไม่ เพราะยังเหลือเวลาอีก 5 เดือนในการประเมินฐานะการคลังที่เหมาะสม ซึ่งจะชัดเจนในสิ้นปี แต่คาดว่า ในปี 2552 จะชดเชยส่วนนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาท

รู้รูปแบบระดมทุนสัปดาห์หน้า

สำหรับรูปแบบการระดมทุน นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า คาดว่าจะได้ข้อสรุปในสัปดาห์หน้า โดยจะปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ โดยจะเพิ่มวงเงินการออกพันธบัตร และจะเพิ่มการออกพันธบัตรออมทรัพย์ที่ขายให้กับประชาชนมากขึ้น จากเดิมที่เคยประกาศไปแล้ว 1 หมื่นล้านบาท เพราะความต้องการขณะนี้มีมากจากดอกเบี้ยเงินฝากที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดขายได้ประมาณมิถุนายน-กรกฎาคม 2552 โดยจะมีอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจในระดับหนึ่ง

นอกจากนั้น บางส่วนจะเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินด้วยการออกเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน(พีเอ็น) เหมือนที่รัฐวิสาหกิจระดมเงินมาลงทุน โดยเมื่อออกเป็นพีเอ็นจนถึงจำนวนหนึ่ง จึงจะแปลงเป็นพันธบัตรที่เป็นระยะยาวมากขึ้นแทน ซึ่งคาดว่าจะเห็นชัดเจนในเดือนกรกฎาคม เพราะต้องการที่จะออกพันธบัตรที่เป็นระยะยาวอายุ 15 และ 20 ปีมากขึ้น

นายพงษ์ภาณุกล่าวต่อไปว่า สำหรับการออกพันธบัตรในอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จากที่เคยประกาศไว้ว่าจะออก วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท มองว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ทีดีอาร์ไอแนะคุมชักหัวคิว20%

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังกู้เงินจำนวน 8 แสนล้านบาท มาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า การกู้เงินมาลงทุนเป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากขณะนี้รัฐบาลมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บรายได้ จะไปเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมจากประชาชนมากเกินไปก็ไม่ได้ แต่การกู้เงินดังกล่าว รัฐบาลควรคำนึงถึงการใช้จ่ายเงินที่มีประสิทธิภาพด้วย เพราะหากคุมไม่ดี การลงทุนก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร ในทางตรงกันข้ามจะยิ่งก็ปัญหาเรื่องภาระหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก

"สิ่งหนึ่งที่จะทำให้การใช้จ่ายเงินมีประสิทธิภาพ คือ การวางมาตรการควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการทุจริต เรียกค่าคอมมิชชั่นในการลงทุนโครงการต่างๆ สูงถึงตัวเลข 20%" นายนิพนธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเรียกค่าคอมมิชชั่นสูงถึง 20 % จะอยู่ในการลงทุนโครงการอะไรบ้าง นายนิพนธ์ กล่าวว่า "เรื่องค่าคอมมิชชั่น เป็นสิ่งที่ทุกคนคาดการว่ามันต้องมีอยู่แล้ว เพราะเม็ดเงินลงทุนก้อนนี้มันเยอะมาก และจัดสรรไปสำหรับการลงทุนก่อสร้างโครงการต่างๆ จำนวนมาก แต่หากเราควบคุมปัญหานี้ไม่ให้เกิดขึ้นได้ ก็น่าจะช่วยประหยัดงบลงทุนได้มากกว่า 20-30 % รัฐบาลก็จะมีเงินเหลือเยอะขึ้น

หนี้ต่อหัวพุ่งจาก6หมื่นเป็น1แสน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ตามแผนเงินกู้จำนวน 8 แสนล้านบาท รัฐบาลได้วางเป้าหมายในปี 2556 หนี้สาธารณะจะอยู่ปรับตัวอยู่ที่ 60% หรือประมาณ 6 ล้านล้านบาท ของจีดีพี ซึ่งมีมูลค่าราว 10 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าคนไทยจะมีอัตราหนี้ต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาทต่อคน จากปัจจุบันอยู่ที่ 60,000 บาทต่อคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 40 ของมูลค่ารวมจีดีพี 9 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นการเพิ่มอัตราหนี้สินให้กับประชาชนอีกประมาณ 40,000 บาท แต่ก็มีแนวโน้มที่ลดลงเช่นกัน เนื่องจากการคาดการณ์ในปี 2561 อัตราหนี้สาธารณะจะลดระดับลงมาเหลือ 41% ของจีดีพี หรืออยู่ที่ประมาณ 5 ล้านล้านบาท ทำให้คนไทยจะมีหนี้อยู่ที่ 80,000 บาทต่อคน ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือแนวโน้มหนี้สินที่สูงขึ้นจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับอนาคต และประชาชนในระยะยาว หากรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ตามแผน เช่น การกระตุ้นการลงทุน การสร้างระบบชลประทาน การสร้างระบบคมนาคม ขนส่งที่สะดวกรวดเร็ว เป็นต้น

ทอ.ร้องขอให้ทบทวนงบซื้ออาวุธ

สำหรับกรณีการตัดลดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 จากวงเงินรวม 1.9ล้านล้านบาท เหลือ 1.7 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงกลาโหมถูกปรับลดวงเงินลงประมาณ 2หมื่นล้านบาทนั้น พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ(ผบ.ทอ.)กล่าวว่า กองทัพอากาศเป็นกองทัพหนึ่งที่ได้มีการตั้งงบประมาณทุกปี เช่นเดียวกับกระทรวง ทบวง กรม เป็นภาระกิจหน้าที่ของกองทัพที่จะเตรียมกำลังไว้ให้พร้อม ฉะนั้นการตั้งงบประมาณของกองทัพและจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพใช้เวลาจัดหานาน ไม่ใช่ว่ามีเงินซื้อแล้วจะซื้อได้ ต้องใช้เวลา 3-5 ปี ซึ่งงบประมาณที่ตั้งขึ้นมา เพื่อให้มีความพร้อมอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่ได้ตามที่ได้วางไว้จะส่งผลกระทบต่อความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจ ซึ่งเข้าใจว่าการตั้งกรอบงบประมาณของรัฐบาลก็ต้องคำนึงถึงรายได้ เมื่อรายได้ไม่เป็นไปตามเป้า จำเป็นจะต้องปรับลดลงมาถึง 2 แสนล้านบาทก็ต้องกระทบต่อทุกกระทรวง ทบวง กรม กองทัพอากาศต้องปรับตามงบประมาณที่รัฐบาลได้ตั้งไว้ให้ แต่ต้องชี้แจงว่าอันไหนที่มีความจำเป็นก็จะร้องขอให้รัฐบาลได้ทบทวน เพราะยุทโธปกรณ์เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศมีความมั่นคง หากรั้วไม่แข็งแรงประเทศเพื่อนบ้านจะไม่เกรงใจ และทหารทุกคนคิดว่า พร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจและสละชีวิตเพื่อชาติอยู่แล้ว แต่ต้องมียุทโธปกรณ์หรืออาวุธที่ทัดเทียมในการต่อสู้ และชีวิตทหารทุกคนมีค่า เมื่อเกิดข้อขัดแย้งขึ้นมาจะทำให้ทหารเสียชีวิตโดยที่เรามีอาวุธยุทโธปกรณ์สู้เขาไม่ได้

ต้องจัดหาเครื่องบินรบให้ครบจำนวน

ผู้สื่อข่าวถาม รับได้หรือไม่หากไม่ได้จัดซื้อเครื่องบินขับไล่กริพเพนอีก 6 ลำ พล.อ.อ.อิทธพร กล่าวว่า โครงการที่เป็นการผูกพันงบประมาณจะต้องมีการทบทวน ความจำเป็นยังคงมีอยู่ถ้าทอ.จัดหางบประมาณในกรอบปี 2553 ไม่ได้ คงจะต้องชะลอไปก่อน ซึ่งกองทัพอากาศได้ชี้แจงมาโดยตลอดว่าการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่จะต้องจัดหาเป็นฝูงบิน ในอดีตที่ผ่านมาได้มีการจัดหา 1 ฝูง 18 เครื่องมาโดยตลอด ในครั้งนี้ได้แจ้งความต้องการว่ามีความจำเป็นต้องจัดหาแทน เครื่องบินขับไล่ F5 ที่ปลดประจำการในปี 2554 ถ้าหากว่าทอ.จัดหาในระยะแรกได้แค่ 6 เครื่อง ความพร้อมที่จะดูแลผลประโยชน์ของประเทศโดยเฉพาะในภาคใต้ ก็คงไม่มีความมั่นใจ

เมื่อถามว่า จะมีการพูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงศ์ษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือไม่ พล.อ.อ.อิทธพร กล่าวว่า "ท่านรัฐมนตรีทราบดีและท่านก็เห็นความจำเป็น และสนับสนุนมาโดยตลอด ทางกองทัพอากาศก็เข้าใจเราคงจะไม่ไปดิ้นรน แต่จะพยายามปรับตามกรอบของงบประมาณเพื่อให้เราสามารถดำรงสภาพให้ได้ หากจำเป็นก็ต้องชะลอ แต่การจัดหาคงต้องให้ครบตามความต้องการ"

หากไม่ได้คงไม่มีปฎิกิริยาอะไร

ส่วนกองทัพกับฝ่ายการเมืองจะมีปัญหากันหรือไม่ พล.อ.อ.อิทธพร กล่าวว่า คงไม่มี เพราะ เข้าใจสถานการณ์ดีว่า ประเทศชาติจะเดินหน้าต่อไปได้การเมืองจะต้องนิ่ง "ทหารคงไม่มีปฏิกิริยาอะไร เราก็ทำตามบทบาทของเรา คงต้องพูดคุยกันเพื่อสนับสนุนรัฐบาล ไม่มีปัญหา ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวกระทบต่อศักยภาพของกองทัพ เพราะอาวุธยุทโธปกรณ์จะต้องทันสมัย หากเราต้องป้องกันประเทศอาวุธที่สู้กันไม่ได้หรือล้าสมัยไปสู้กันก็ไม่มีใครเขาเกรงใจ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีการชี้แจงให้ ผบ. เหล่าทัพ รับทราบ และเราก็เข้าใจดีและพยายามที่จะดำเนินการตามที่ท่านได้ให้นโยบายเอาไว้"ผบ.ทอ.กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook