“อ้วน – อารีวรรณ” จากผู้ผ่านพ้นความรุนแรงในครอบครัว สู่นักกฎหมายเพื่อสิทธิสตรี

“อ้วน – อารีวรรณ” จากผู้ผ่านพ้นความรุนแรงในครอบครัว สู่นักกฎหมายเพื่อสิทธิสตรี

“อ้วน – อารีวรรณ” จากผู้ผ่านพ้นความรุนแรงในครอบครัว สู่นักกฎหมายเพื่อสิทธิสตรี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2539 อดีตรองนางสาวไทยประจำปี 2537 “อ้วน - อารีวรรณ จตุทอง” กลายเป็นบุคคลในกระแสข่าวที่สั่นสะเทือนสังคมในยุคนั้น จากกรณีที่เธอถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจโดยชายที่เธอแต่งงานด้วย จนนำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีความในศาล ที่กินเวลายาวนานถึง 7 ปีเต็ม ซึ่งนอกจากการต่อสู้คดีแล้ว คุณอ้วนยังต้องต่อสู้กับกระแสสังคมที่ขาดความเข้าใจหรือเห็นอกเห็นใจผู้หญิงที่ตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว จากเหตุการณ์เลวร้ายครั้งนั้น ทำให้เธอได้ก้าวสู่เส้นทางใหม่ นั่นคือการทำงานด้านกฎหมายเพื่อสิทธิสตรี ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “การเกิดใหม่” ของเธอเลยทีเดียว เพราะบทบาทใหม่ครั้งนี้ทำให้เธอได้ค้นพบตัวเอง ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้เธอได้ส่งต่อบทเรียนเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้หญิงคนอื่นๆ อีกด้วย โดยล่าสุด เธอรับหน้าที่เป็นหนึ่งในพรีเซ็นเตอร์ของแคมเปญ #HEARMETOO “มีอะไรจะบอก” ของ UN Women ที่รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศไทย

>> #HEARMETOO “มีอะไรจะบอก” แคมเปญยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง จาก UN Women

หากนกฟีนิกซ์จะต้องพลีร่างลุกเป็นไฟก่อนจะเกิดใหม่จากกองเถ้าถ่าน ชีวิตของคุณอ้วนก็ดูจะไม่ต่างกัน วงจรชีวิตของเธอเป็นเช่นไรกว่าจะมาเป็น “หญิงแกร่ง” ในวันนี้ Sanook! News จะพาคุณไปหาคำตอบ

สมบัติที่เรียกว่า “ผู้หญิง”

“สมัยที่เพิ่งบรรจุเป็นข้าราชการพยาบาลอยู่ที่ต่างจังหวัด ก็เคยเจอผู้หญิงมายืนร้องไห้อยู่ที่ป้ายรถเมล์ใกล้ๆ โรงพยาบาล เธอบอกว่าถูกสามีทำร้ายและจะหนีไปอยู่บ้านแม่ ไม่มีเงินค่ารถ เราก็สงสาร อยากจะช่วยเหลือ แต่มีรุ่นพี่พยาบาลอีกคนบอกว่าเป็นเรื่องผัวเมีย อย่าไปยุ่งเลย บางทีผู้หญิงเองอาจจะทำอะไรผิดหรือเปล่าจึงโดนสามีทำร้าย” คุณอ้วนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชะตากรรมของผู้หญิงคนหนึ่งที่เธอพบก่อนที่จะประสบกับเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันเมื่อผ่านไปเพียงปีเศษ ซึ่งสะท้อนให้เห็นทัศนคติของสังคมในยุคนั้นว่า ปัญหาครอบครัวเป็นเรื่องที่ไม่ควรนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ และหากผู้หญิงคนนั้นจะโดนสามีลงมือทำร้ายร่างกาย ผู้หญิงที่ได้ชื่อว่าเป็นภรiยากลับจะถูกตั้งคำถามจากคนรอบข้างว่าเป็นผู้หญิงที่ทำตัวไม่ดี ไม่เหมาะสมหรือไม่

“เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ตอนที่ได้ลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้ใหม่ๆ ก็ถูกตั้งคำถามจากผู้หญิงด้วยกันเองเสียด้วยซ้ำไปว่าเธอทำอะไรที่ไม่ดีหรือเปล่าถึงได้ถูกทำร้ายทุบตี เพราะสังคมมักส่งต่อข้อมูลว่าผู้หญิงที่ถูกทำร้ายมักจะเป็นผู้หญิงที่ทำตัวไม่เหมาะสม อาจไม่ทำงานบ้านงานเรือน เที่ยวเตร่ เล่นไพ่ เล่นการพนัน จนผู้ชายต้องลุกขึ้นมาสั่งสอน นี่คือทัศนคติในสมัยนั้น ที่จะมองว่าถ้าผู้หญิงทำอะไรไม่ถูกต้อง ก็เป็นหน้าที่ของผู้ชายที่ต้องสั่งสอนอบรม ที่ทำร้ายร่างกายก็เพราะความรัก ต้องการให้ผู้หญิงปรับปรุงตัว โดยมีความเชื่อว่าผู้ชายเป็นเจ้าของ ผู้หญิงเป็นเหมือนสมบัติของผู้ชาย

ทำให้ผู้หญิงนอกจากจะถูกทำร้ายจากคนในครอบครัวและทัศนคติของสังคมแล้ว กระบวนการยุติธรรมเองก็ยังไม่สามารถคุ้มครองผู้หญิงในสมัยนั้นได้อย่างเต็มที่ โดยคุณอ้วนเล่าว่า สมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มีเพียงประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมักมองคดีความรุนแรงในครอบครัวว่าเป็น “เรื่องของผัวเมีย” ที่ไม่นานนัก ผู้หญิงก็เป็นฝ่ายมาขอถอนแจ้งความ ทั้งที่จริงแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้น

“ในประมวลกฎหมายอาญา ถ้าผลของการทำร้ายร่างกายเป็นเพียงบาดเจ็บเล็กน้อย ก็อาจจะไกล่เกลี่ยกันได้ มีเพียงโทษปรับ และส่วนใหญ่ถ้าไปแจ้งความก็จะไม่ร้ายแรง หรือว่าตีกันถึงขั้นบาดเจ็บสาหัส ผู้เสียหายก็นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ก็ไม่สามารถที่จะไปแจ้งความได้อยู่แล้ว และแม้ว่าบาดเจ็บสาหัส ยอมความไม่ได้ เป็นอาญาแผ่นดิน ก็ไม่ได้แจ้งตำรวจทุกรายไป อย่างที่บอก คือสังคมไทยถูกหล่อหลอมให้เชื่อว่าเรื่องครอบครัวคนอื่น เราไม่ควรจะเข้าไปยุ่ง ปล่อยให้เขาจัดการกันเอาเอง” คุณอ้วนเล่า

คุณอ้วน - อารีวรรณ จตุทองคุณอ้วน - อารีวรรณ จตุทอง

ลุกขึ้นสู้เพื่อตัวเอง

ท่ามกลางบรรยากาศของสังคมที่ไม่มีพื้นที่ให้กับผู้หญิงที่ถูกทำร้ายหรือได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว เมื่อเธอกลายเป็นหนึ่งในนั้น คุณอ้วนตัดสินใจทำสิ่งที่สวนกระแสสังคมที่สอนให้ผู้หญิงต้องอดทนและไม่พูด โดยหนีออกจากบ้านทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิต โดยได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนที่ถูกสามีทำร้ายร่างกายเช่นกัน

“เรารู้สึกว่าทนไม่ไหวแล้ว อยู่ไม่ได้แล้ว ถ้าไม่หนีต้องตายแน่ๆ ก็เลยโทรหาเพื่อนคนนี้ เขาก็มารับเราไปอยู่ด้วย แล้วเริ่มแรก ฝ่ายผู้ชายเป็นคนให้ข่าวลงหนังสือพิมพ์ บอกว่าเมียหนี แต่ไม่พูดเรื่องการทำร้ายร่างกาย แล้วนักข่าวก็ฉุกคิดว่ามันต้องมีเหตุผลที่หนี นักข่าวก็ตามหาเรา จึงได้มีการสัมภาษณ์และเป็นประเด็นขึ้นมา จากข่าวทำให้มีมูลนิธิที่ทำงานช่วยเหลือผู้หญิงติดต่อเข้ามา ซึ่งเขาก็ให้ข้อมูลด้านกฎหมายว่าต้องมีทนายความ ต้องฟ้องร้อง ทุกอย่างก็เป็นขั้นตอนต่อเนื่องต่อมา” คุณอ้วนเล่าถึงการเอาชีวิตรอด ก่อนที่จะตัดสินใจลุกขึ้นเผชิญหน้ากับคู่กรณี โดยมีตัวจุดประกาย คือกระแสสังคมส่วนใหญ่ที่ไม่เชื่อในสิ่งที่เธอพบเจอมา ด้วยความที่เป็นผู้หญิงและภาพลักษณ์ของการเป็นนางงาม

ช่วงที่มีปัญหาและเป็นข่าวใหม่ๆ เมื่อ 20 ปีก่อน “ญาติข้างแม่เคยบอกว่า ‘อย่าไปบอกใครนะว่าเป็นลูกหลานบ้านนี้’ เขาอาจไม่ได้มองคนที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวอย่างเข้าใจในช่วงเวลานั้น ซึ่งเป็นความเจ็บปวดลึกๆ อย่างหนึ่ง แต่เราก็พยายามเข้มแข็ง บอกแม่ว่าให้บอกญาติๆ นะว่า ไม่ได้ใช้นามสกุลเดียวกัน ถ้าไม่พูดก็ไม่มีใครรู้ แต่ก็รู้สึกสะท้อนในใจ ญาติๆ เหล่านี้เป็นแรงผลักดันภายในให้เราต้องก้าวต่อไป คิดว่าวันหนึ่งเราจะทำให้ทุกคนได้เห็นว่า ผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยประสบปัญหาเรื่องแย่ๆ ในชีวิต ไม่ได้ทำให้ทั้งชีวิตต้องเสียหายไปทั้งหมด เป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของชีวิต ดังนั้นจะเอาช่วงเวลาหนึ่ง มาเป็นตัวตัดสินทั้งชีวิตเขาไม่ได้ และเราจะทำให้ทุกคนเห็นว่าถ้าเขาคิดเช่นนี้ เขาคิดผิดแล้ว” คุณอ้วนเล่าถึงแรงผลักดันที่ทำให้เธอเดินหน้าสู้ต่อ โดยหวังว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคม แม้จะต้องแลกมาด้วยภาพจำในฐานะผู้หญิงที่บอบช้ำในสายตาของคนอื่นก็ตาม

“เราเยียวยาเขา เขาเยียวยาเรา”

ท่ามกลางกระแสสังคมที่ถาโถมและการต่อสู้คดีที่ยาวนาน นอกจากกำลังใจสำคัญอย่างบุคคลในครอบครัว เพื่อนๆ และครูบาอาจารย์ทั้งหลายแล้ว ตัวเธอเองก็เป็นกำลังใจให้ตัวเองในช่วงเวลาที่กำลังเผชิญภาวะจิตใจบอบช้ำอย่างหนัก และหากิจกรรมที่ทำให้ “อยู่กับปัจจุบัน” อย่างเช่น การต่อจิ๊กซอว์ ปลูกต้นไม้ และปักผ้า อ่านหนังสือธรรมะ ทว่ากิจกรรมเหล่านี้กลับไม่สามารถเติมเต็มธรรมชาติของผู้หญิงทำงานอย่างเธอได้ ในที่สุด เธอจึงตัดสินใจกลับมาทำงานประจำอีกครั้ง โดยทำหน้าที่คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ “อารีวรรณตอบปัญหาชีวิต” ในนิตยสารชีวิตต้องสู้ ในปี 2540 - 2547 ซึ่งมีลักษณะงานที่แตกต่างจากการเป็นพยาบาลโดยสิ้นเชิง และยังทำให้เธอได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ อีกมากมาย

“นิตยสารชีวิตต้องสู้ก็สอนอะไรเยอะมากค่ะ เป็นนักข่าวได้ 7 ปี เหมือนเรียนจบนิเทศศาสตร์เลย จากคนที่เป็นพยาบาล ไม่เคยเขียนหนังสือแนวนักข่าวมาก่อนเลย ก็ฝึกฝนจนเขียนหนังสือได้ดี แล้วก็ส่งผลดีกับการเรียนกฎหมายในเวลาต่อมา เราเริ่มต้นจากการเขียนคอลัมน์ ‘อารีวรรณตอบปัญหาชีวิต’ ซึ่งมีคนเขียนจดหมายมาหาเยอะมาก แล้วก็มีคนโทรมาปรึกษาปัญหาครอบครัว การที่โดนสามีทำร้ายร่างกายแต่พูดไม่ได้ บอกใครไม่ได้ ซึ่งเราก็ได้แต่ให้กำลังใจ การช่วยเหลือด้านจิตใจ เป็นรูปแบบหนึ่งของการเยียวยา เราเยียวยาเขา เขาเยียวยาเรา แล้วเวลามันจะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากการเยียวยาจิตใจผู้ตกอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวผ่านตัวหนังสือ คุณอ้วนยังเข้าร่วมกิจกรรม Group support ของหน่วยงานองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อผู้หญิงที่ถูกทำร้าย โดยทำหน้าที่เป็นวิทยากรบอกเล่าประสบการณ์การต่อสู้ชีวิตให้ผ่านพ้นปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของตัวเอง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและสร้างพลังใจให้กับผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง

“คนที่ไม่เคยถูกกระทำ เขาจะไม่เข้าใจหรอกว่าผู้หญิงจะรู้สึกอย่างไรบ้าง ไม่มีใครอยากถูกตั้งคำถามว่าทำไมถึงโดนทำร้าย หรือโดนทำร้ายอย่างไร การทำกิจกรรม Group support คือการที่ผู้หญิงซึ่งเคยผ่านพ้นปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงมาแล้ว เปรียบเสมือนคนที่แผลแห้ง 4 - 5 คน มานั่งล้อมวง เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ผ่านมาแต่ละรูปแบบ บางคนโดนมาหนักกว่าเรา บางคนโดนน้ำกรด บางคนโดนยิงก็มี เราก็จะรู้สึกว่าเขาโดนขนาดนี้ ยังยิ้มแย้ม ยังฮึดสู้ แล้วทำไมเราไม่สู้ เป็นวิธีการเยียวยาอย่างหนึ่ง ทั้งเยียวยาเราและคนอื่นๆ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการเสริมพลังที่ดี เพื่อให้กำลังใจคนที่ยังมีแผลสดและไม่รู้ว่าจะหาหนทางออกแบบไหนให้กับชีวิตตนเอง เหมือนได้ฟังประสบการณ์ของรุ่นพี่ ก็ได้กำลังใจในระดับหนึ่ง” คุณอ้วนอธิบายเกี่ยวกับกิจกรรมเยียวยา ที่ไม่เพียงแต่จะสร้างคุณค่าให้กับผู้ถูกกระทำความรุนแรงเท่านั้น แต่ยังผลักดันให้คุณอ้วนต่อยอดคุณค่าของตัวเอง สู่การเรียนและการทำงานด้านกฎหมายเพื่อผู้หญิง

สิทธิสตรีในกฎหมายไทย

“จากที่เคยประสบปัญหาและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพี่ๆ ที่ทำงานช่วยเหลือผู้หญิงต่างๆ เป็นเหตุผลที่ทำให้อยากเรียนกฎหมายในระดับปริญญาตรี จากที่เริ่มต้นว่าเราเป็นโจทก์ร่วม เราไม่เข้าใจว่าทำไมทนายฝ่ายตรงข้าม ขู่ว่า สู้กันเหนื่อยแน่นอนทุกคดี ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา คดีครอบครัว แล้วก็มีเรื่องทรัพย์สิน จบปริญญาตรีแล้ว ก็อยากเรียนให้ลึกขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราอยากรู้ที่มาของกฎหมายว่าทำไมถึงมีกฎหมายในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในสังคม เช่น เห็นปัญหาใน มาตรา 276 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งในสมัยนั้น ยังเขียนบัญญัติว่า ชายข่มขืนหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาตน เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย! เขียนอย่างนี้ หมายความว่าสามียังข่มขืนภริยาตัวเองได้สิ แล้วตอนนั้นเราก็อยู่ในช่วงของการฟ้อง ศาลยังไม่ได้พิพากษาให้หย่า ทำไมกฎหมายบัญญัติเหมือนให้สิทธิเขามายุ่งเกี่ยวกับชีวิต เนื้อตัวเราได้ เรามีสิทธิปฏิเสธใช่ไหม” ต่อมาจึงได้มีการแก้ไขใหม่ที่ทันสมัยและรับรองสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงมากขึ้น สามีก็ไม่สามารถจะข่มขืนภริยาได้อีกต่อไป และเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขากฎหมายมหาชน เมื่อสิบกว่าปีก่อน ซึ่งได้เปิดโลกทัศน์ของเธอให้กว้างขึ้นกว่าเดิม

“อาจารย์บอกว่าสิ่งเหล่านี้มีที่มาจากวิธีคิดของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ฝ่ายนิติบัญญัติ หากมีการเสนอให้ใช้ระบบโควตา ซึ่งจะทำให้มีสัดส่วนของผู้หญิงในฝ่ายนิติบัญญัติหรือทางการเมืองมากขึ้น ก็จะส่งผลให้การพิจารณาร่างกฎหมายจะมีมุมมองของผู้หญิงมากขึ้นด้วย ซึ่งเมื่อได้ศึกษารายละเอียด ก็พบความจริงอย่างหนึ่งว่าในปัจจุบันนี้ ผู้หญิงที่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภาในประเทศไทยมีอยู่ไม่ถึง 10% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ดังนั้น โอกาสที่ผู้หญิงจะได้เข้าไปนำเสนอมุมมองของผู้หญิงในการตรากฎหมาย ตลอดจน ความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนในมิติต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญจึงไม่ได้ถูกพูดถึงและเป็นเรื่องยากมากที่จะได้รับความสนใจจากผู้มีอำนาจทั้งหลาย ทั้งที่กฎหมายมีผลบังคับใช้กับทุกคน และควรมีมิติมุมมองของหญิงชาย แต่ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้”

นอกจากนี้ สิ่งที่เธอค้นพบจากการทำงานด้านกฎหมายก็ไม่ใช่แค่จำนวนของผู้หญิงที่ทำหน้าที่ในรัฐสภา แต่เป็นวิธีคิดของผู้สมัครทั้ง สส. และ สว. ที่ยังถูกครอบงำโดยแนวคิดแบบผู้ชายเป็นใหญ่ จึงทำให้กฎหมายไม่สามารถคุ้มครองผู้หญิงได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ขณะเดียวกัน ผู้หญิงเองก็ยังไม่มีความสนใจในด้านการเมืองมากพอที่จะเข้ามาร่วมผลักดันกฎหมายเพื่อสิทธิสตรี

นอกจากบทบาททางการเมืองของผู้หญิงที่ยังมีน้อยแล้ว สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็คือปัญหาความรุนแรงในผู้หญิงที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แม้เรื่องราวของคุณอ้วนจะเกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม

ปัญหาการคุกคามทางเพศกลายเป็นประเด็นเฉพาะ ที่ถูกลืมเลือนโดยผู้มีอำนาจ อย่างที่รัฐบาลไทยเคยไปลงนามในอนุสัญญา CEDAW หรือปฏิญญาปักกิ่ง เป็นเวลา 20 กว่าปี โดยมอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไปผลักดันต่อ แต่เวลาผลักดัน หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากทุกหน่วยงานภาครัฐ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ก็ไม่ได้ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ได้มีแผนงานในกระทรวงใดที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง สิ่งที่ทำก็เป็นเพียงกฎเกณฑ์ที่จัดทำขึ้นมาอย่างเสียไม่ได้ เป็นเพียงแนวปฏิบัติ ซึ่งไม่ปฏิบัติก็ได้ แล้วแต่ว่าองค์กรใดจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไหม” คุณอ้วนกล่าว

#MeToo ในประเทศไทย

จากการทำงานด้านกฎหมายมานานกว่า 20 ปี คุณอ้วนพบว่าสิ่งที่แก้ไขได้ยากกว่ากฎหมาย ก็คือทัศนคติของคน ซึ่งนี่อาจเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า เหตุใดกระแส #MeToo จึงไม่ได้รับความนิยมในประเทศไทยมากเท่าที่ควร

“เป็นที่คาดคะเนได้ว่ากระแส#MeToo อาจจะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับต่างประเทศ เนื่องจากความคิดของคนไทยกับคนต่างชาติไม่เหมือนกัน เข้าใจได้ว่าต่างประเทศรู้สึกเซนซิทีฟกับเรื่องนี้มากกว่าคนไทย และเห็นเป็นเรื่องสำคัญ เขามองว่าเป็นเรื่องที่สังคมควรจะพูด ควรจะตระหนักถึงปัญหา แล้วผู้หญิงของเขาก็เข้มแข็งมาก เข้มแข็งแบบที่เขายืนหยัดได้ด้วยตัวเอง แต่คนไทยอาจไม่เป็นแบบนั้น แม้ว่าเรายืนหยัดได้เองแต่ยังมีสภาวะพึ่งพิงเยอะมาก ผู้หญิงเองยังรู้สึกว่าต้องการพึ่งพาผู้ชาย อาจจะไม่ใช่การพึ่งพาพึ่งพิงในเชิงเศรษฐกิจ แต่เป็นการพึ่งพาทางจิตใจ

“ถ้าพูดภาษาการตลาดต้องบอกว่า เรายังโปรโมทไม่ถูกตลาดคนไทย ต้องเรียนรู้รูปแบบวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนไทยเป็นอย่างไร คนไทยไม่ชอบอะไรที่หนักๆ เครียดๆ เราชอบพูดเรื่องกินๆ เที่ยวๆ ชิลๆ มีความสุข เพราะชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ก็หนักอยู่แล้วกับการทำมาหากิน สื่อแบบเดียวกันอาจจะใช้ได้ไม่เหมือนกันในแต่ละพื้นที่ เราก็ต้องดูว่าสังคมวัฒนธรรมในประเทศนั้นๆ เขาชอบสื่อแบบไหน เหมือนกับเรื่องกฎหมายเลย เราไปลอกกฎหมายประเทศนั้นมา ประเทศนี้มา เช่น ญี่ปุ่นก็ดี ฝรั่งเศสก็ดี แต่บริบทเมืองไทยไม่เหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องของวิถีชีวิต วัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เช่น บางประเทศมีวัฒนธรรมการอบรมสั่งสอนแบบมีระเบียบวินัย ก็จะเคารพกฎหมาย เป็นต้น” คุณอ้วนอธิบาย

อย่า “ทน” กับความรุนแรง

เมื่อความรุนแรงต่อผู้หญิงยังคงเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อกับผู้หญิงทุกคน คุณอ้วนก็แนะนำว่า หากเกิดความรุนแรงขึ้นในครอบครัว ผู้หญิงไม่ควรจะอดทนยอมรับสภาพและยอมแพ้ต่อความรุนแรงนั้น แต่ควรจะห่วงชีวิตของตัวเอง และรู้ว่าพวกเธอมีสิทธิที่จะปฏิเสธความรุนแรงนั้น

“เคยมีเคสที่ไม่กล้าหนีออกมา แล้วก็หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเองตามธรรมชาติ เราก็บอกว่าอาจจะมี แต่โชคดีขนาดนั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะที่ผ่านมา ความรุนแรงมีแต่จะมากขึ้นเรื่อยๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าผู้ชายคนนั้นคิดได้ด้วยตัวเขาเอง ก็ถือเป็นบุญของคุณ เป็นความโชคดีของคุณที่เขาเปลี่ยนแปลงได้เองโดยที่คุณไม่ต้องทำอะไรหรือต้องหนีจากผู้ชายคนนั้น แต่โอกาสที่จะเกิดแบบนั้นจะน้อยมาก เพราะฉะนั้น สิ่งที่คุณต้องทำก็คือรักตัวเองให้มาก แล้วก็ต้องรีบลุกขึ้นมาให้เร็วที่สุด เพราะถ้าวันใดที่คุณจมอยู่กับที่ โอกาสที่คุณจะถูกกระทำเพิ่มมีเยอะ ดังนั้นเราต้องรีบลุกขึ้นมา อย่าให้ใครมาเหยียบย่ำเรา” คุณอ้วนทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook