หายคาใจ ใครคือนายทหารที่ได้ "เดินกระทบไหล่" ผู้นำต่างประเทศตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ

หายคาใจ ใครคือนายทหารที่ได้ "เดินกระทบไหล่" ผู้นำต่างประเทศตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ

หายคาใจ ใครคือนายทหารที่ได้ "เดินกระทบไหล่" ผู้นำต่างประเทศตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนึ่งในธรรมเนียมปฏิบัติเวลาที่อาคันตุกะหรือแขกในระดับผู้นำจากนานาประเทศมาเยือนประเทศไทย จะมีการจัดกองทหารเกียรติยศต้อนรับ พร้อมกับการเดินพรมแดงที่เรียกกันว่า "เดินตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ"

แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า นายทหารที่ได้เดินอยู่เบื้องหลังของผู้นำประเทศทั้งไทยและแขกที่มาเยือนคือนายทหารในระดับใด วันนี้ Sanook! News มีคำตอบมาฝากกัน

เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา เฟซบุ๊กของวาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหารและความมั่นคงชื่อดังของเมืองไทยโพสต์ข้อมูลและภาพประกอบเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวไว้ โดยระบุว่า กองทหารเกียรติยศ ที่มีการจัดเตรียมไว้คอยต้อนรับบรรดาอาคันตุกะจากต่างประเทศนั้น เป็นการจัดเตรียมมาจาก กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 (พัน.ร.มทบ.11) ซึ่งผ่านการคัดตัว ความสูง รูปร่าง รวมทั้งผ่านการฝึกฝนมาโดยเฉพาะอีกด้วย

ทั้งนี้ นักข่าวคนดังยังเฉลยให้หายข้องใจด้วยว่า นายทหารที่เดินอยู่เบื้องหลังผู้นำทั้ง 2 ประเทศหรือจะเรียกได้ว่าเดินกระทบไหล่ผู้นำเวลาเดินตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ คือ นายทหารที่ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (ผบ.มทบ.11) นั่นเอง

โดยปัจจุบัน พลตรี ธราพงษ์ มะละคำ ดำรงตำแหน่งดังกล่าว หลังจากเคยรับราชการอยู่ที่กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) มาก่อนหน้านี้

สำหรับ มณฑลทหารบกที่ 11 นั้น จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2445 มีชื่อหน่วยว่า กรมบัญชาการทหารบก มณฑลกรุงเทพ ขึ้นตรงกับกรมยุทธนาธิการทหารบก มี พันเอก พระสรชาญพลไกร เป็นผู้บังคับหน่วยท่านแรก

ปี 2533 ได้เปลี่ยนชื่อหน่วยเป็น มณฑลทหารบกที่ 11 รับผิดชอบพื้นที่จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร ราชบุรี สมุทรสงคราม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยมีหน่วยขึ้นตรงประกอบด้วย กองบัญชาการ, กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11, กองพันทหารสารวัตรที่ 11, กองเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11, จังหวัดทหารบกกรุงเทพ, จังหวัดทหารบกเพชรบุรี, จังหวัดทหารบกราชบุรี และจังหวัดทหารบกกาญจนบุรี

ปี 2552 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการ พ.ศ. 2552 จัดตั้งมณฑลทหารบกที่ 15 ขึ้น ประกอบด้วย จังหวัดทหารบกเพชรบุรีและจังหวัดทหารบกราชบุรี ส่งผลให้มณฑลทหารบกที่ 11 มีหน่วยขึ้นตรงเหลือเพียง 7 หน่วย และคงเหลือพื้นที่รับผิดชอบจำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี  

ปี 2558 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 และกฎกระทรวง กำหนดหน้าที่และเขตพื้นที่ของ มทบ. พ.ศ. 2558 แปรสภาพจังหวัดทหารบกกาญจนบุรี เป็น มณฑลทหารบกที่ 17 ขึ้นตรงต่อกองทัพภาคที่ 1 และแบ่งมอบพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ให้อยู่ในความรับผิดชอบของมณฑลทหารบกที่ 16 ส่งผลให้มณฑลทหารบกที่ 11 คงเหลือพื้นที่รับผิดชอบจำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม และสมุทรปราการ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2558 เป็นต้นไป

ในอดีตที่ผ่านมา ผบ.มทบ.11 ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและก้าวขึ้นไปมีบทบาทสำคัญในแวดวงทหารและการเมืองของประเทศ อาทิ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2476 – 2477 พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2490 – 2492) พลตรี ถนอม กิตติขจร (2492 – 2496) พลตรี ประภาส จารุเสถียร (2496 – 2500) พลตรี ยุทธศักดิ์ ศศิประภา (2531 – 2532) พลตรี อุดมเดช สีตบุตร (2550 – 2551) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โพสต์ดังกล่าวมีขึ้นเนื่องจากเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการเยือนครั้งแรกในระดับนายกรัฐมนตรีจากสาธารณรัฐเช็ก นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐเช็กเมื่อ 45 ปีก่อน

โดยมีการหารือเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงการมีความร่วมมือกันในระดับระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งการพัฒนาอย่างยั่งยืน

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ หายคาใจ ใครคือนายทหารที่ได้ "เดินกระทบไหล่" ผู้นำต่างประเทศตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook