ไทยพบรายที่3 ติดมาจากสหรัฐ ลดระดับหวัด09 เหลือไม่รุนแรง

ไทยพบรายที่3 ติดมาจากสหรัฐ ลดระดับหวัด09 เหลือไม่รุนแรง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สธ.ยืนยันไทยพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็น 3 รายแล้ว กลับมาจากไปเที่ยวสหรัฐ แคนาดา เริ่มป่วยตั้งแต่ก่อนกลับ แพทย์ตรวจแล้วพบมีอาการน้อยมากและดีขึ้นแล้ว ให้กลับบ้านได้ ส่วนการป้องกันโรคเตรียมปรับมาตรการเฝ้าระวังให้อ่อนลง เพราะไม่อันตรายมากอย่างที่คิด อเมริกาและประเทศยุโรปก็เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นแค่ไข้อ่อนๆ ความรุนแรงของโรคจาก 5 ระดับอยู่ที่ระดับ 2 เท่านั้น

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์ วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันว่าติดเชื้อเพิ่มอีก 1 ราย ทำให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มเป็น 3 ราย ผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นหญิงอายุ 50 ปี เดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 พ.ค. และเข้ารับการรักษาตัวเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ร.พ.แห่งหนึ่งในกทม. ผลการตรวจเบื้องต้นเป็นบวก แพทย์จึงให้ยาต้านไวรัสและส่งเชื้อตรวจที่ร.พ.จุฬาลงกรณ์ในวันเดียวกัน จากนั้นส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วันที่ 29 พ.ค. โดยห้องปฏิบัติการทั้งสามแห่งให้ผลตรงกัน จึงยืนยันว่าผู้ป่วยดังกล่าวเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็นรายที่ 3

น.พ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า สำหรับหญิงคนดังกล่าวและญาติได้เดินทางไปเที่ยวประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา เมื่อวันที่ 13 พ.ค. โดยลงเรือไปรัฐอลาสก้าและค้างคืนบนเรือเป็นเวลา 7 คืน หลังขึ้นจากเรือผู้ป่วยเริ่มป่วย มีไข้ต่ำ มีอาการเจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก วันเดินทางกลับสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง โดยมีผู้ร่วมเดินทางทั้งหมดอีก 8 ราย เดินทางถึงประเทศไทยแล้ว 7 ราย มีอาการทางเดินหายใจ 2 คน ได้ส่งเชื้อตรวจแล้ว เบื้องต้นยังไม่พบว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

แพทย์ได้ให้ยาโอเซลทามิเวียร์แก่ผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดแล้ว โดยผู้ป่วยมีอาการน้อยมาก แพทย์อนุญาตให้กลับไปดูแลที่บ้านได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีความรู้และความพร้อมในการดูแลตัวเองอย่างมาก เพราะเมื่อทราบว่าเริ่มมีไข้หลังเดินทางกลับมาจากสหรัฐก็เข้ารับการรักษาจากแพทย์ทันที ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาเดียวกับทั่วโลกที่ไม่จำเป็นต้องกักตัวผู้ป่วยไว้ที่โรงพยาบาลหากไม่ได้มีอาการรุนแรง น.พ.ปราชญ์ กล่าว

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้องค์ความรู้เริ่มมีมากขึ้นทำให้ทราบว่าโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เคยคิดไว้ในตอนต้น อย่างเช่น ประเทศสหรัฐและประเทศแถบยุโรป เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น Mild Flu หรือไข้อ่อนๆ มาจากลักษณะของโรคที่ไม่ได้รุนแรงมาก มีเพียงไข้อ่อนๆ เท่านั้น ซึ่งวันที่ 4 มิ.ย.นี้ จะประชุมคณะกรรมการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ที่มีพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งอาจจะปรับแผนโดยให้ใช้มาตรการรับมือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เท่ากับไข้หวัดใหญ่ธรรมดาเท่านั้น เพื่อให้บรรยากาศไม่ตึงเครียดมากนัก

น.พ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรณีของผู้ติดเชื้อรายที่ 3 ที่เครื่องเทอร์โมสแกนไม่สามารถตรวจพบผู้ป่วยได้ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ อาจมีความเป็นไปได้ว่ามีไข้ต่ำขณะที่เดินผ่านเครื่องตรวจ ซึ่งการรับประทานยาลดไข้ตามปกติก็อาจทำให้ตรวจไม่พบ ซึ่งวิธีการใช้เทอร์โมสแกนนั้น เป็นวิธีหนึ่งในมาตรการเฝ้าระวังที่ต้องใช้วิธีอื่นร่วมด้วย แต่วิธีที่ได้ผลที่สุดคือประชาชนต้องเฝ้าระวังตัวเอง และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการในการป้องกันโรค

น.พ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาจัดระดับความรุนแรงของโรคไข้หวัดไว้ 5 ระดับ ขณะนี้โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ถูกจัดความรุนแรงไว้ที่ระดับ 2 เท่านั้น เนื่องจากพบว่าอาการของโรคไม่รุนแรงอย่างที่กังวลในตอนแรก ซึ่งมาตรการเฝ้าระวังจะเข้มงวดเหมือนตอนต้นของการระบาดที่มีการดูแลการติดทีละคน แต่จะเน้นไปที่การติดต่อโรคระดับกลุ่มหรือชุมชน หรือพื้นที่ที่ยังไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน ซึ่งประเทศไทยก็อาจปรับระดับลงให้ผ่อนคลาย ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะรณรงค์ให้ประชาชนเรียนรู้เรื่องการป้องกันตนเอง ซึ่งจุดเน้นในการดูแลคือการติดเชื้อในโรงเรียนโดยเฉพาะเด็กประถม เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้างได้

น.พ.ทวี โชคพิทยสุนันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ กล่าวว่า ความรู้ใหม่ของโรคดังกล่าวพบว่า อาการจะไม่รุนแรงมาก เมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ประจำปี จะพบว่ามีความรุนแรงมากกว่าเล็กน้อย แต่หากเทียบถึงการแพร่เชื้อ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จะมีความรวดเร็วในการแพร่เชื้อได้มาก ซึ่งมีนักวิจัยขององค์การอนามัยโลก ได้เก็บตัวอย่างข้อมูลผู้ป่วยพบว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะโจมตีวัยหนุ่มสาว อายุ 10-20 กว่าปี และกลุ่มเด็กเล็กมากกว่า ขณะที่คนอายุเกิน 60 ปี มีน้อยมาก แค่ 1% ของผู้ป่วยทั้งหมดเท่านั้น สวนทางกับโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่จะโจมตีเด็กและผู้สูงอายุเท่านั้น ทำให้นักวิจัยสันนิษฐานว่า คนสูงอายุเกิน 60 ปี ขึ้นไป อาจมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่บ้าง โดยอาจเคยเป็นไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับเชื้อเอช 1 เอ็น 1 มาหลายครั้ง แม้จะไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่แต่เป็นตระกูลเดียวกันทำให้มีภูมิคุ้มกันได้บ้างบางส่วน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook