เลือกตั้ง 2562: เปิดเอกสาร "ไทยรักษาชาติ" สู้คดียุบพรรค แจงยิบ 8 ประเด็นรวม 20 หน้า

เลือกตั้ง 2562: เปิดเอกสาร "ไทยรักษาชาติ" สู้คดียุบพรรค แจงยิบ 8 ประเด็นรวม 20 หน้า

เลือกตั้ง 2562: เปิดเอกสาร "ไทยรักษาชาติ" สู้คดียุบพรรค แจงยิบ 8 ประเด็นรวม 20 หน้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ (20 ก.พ. 62) นายสุรชัย ชินชัย และนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เดินทางมายังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค

โดยเว็บไซต์ The Bangkok Insight รายงานพร้อมกับเปิดเผยภาพเอกสารสรุปคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหารวม 8 ประเด็น ดังนี้

1. การดำเนินกิจการของพรรคไทยรักษาชาติ เป็นไปตามประกาศ อุดมการณ์ นโยบายในการยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2. พรรคฯ ทำตามประสงค์และความยินยอมของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ภายใต้รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ประกาศพระบรมราชโองการ พ.ศ. ๒๕๑๕ และข้อบังคับพรรค ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติเป็นข้อห้ามมิให้ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรี

3. พรรคฯ เข้าใจโดยสุจริตว่าการเสนอชื่อทูลกระหม่อมฯ ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 88, 89 และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 13 และ 14 ไม่ใช่เป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

4. เมื่อมีพระราชโองการวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 23.00 น. ภายหลังที่พรรคได้แจ้งรายชื่อบัญชีนายกฯ ไปแล้วเมื่อเวลา 9.00 น. พรรคฯ จึงได้แถลงโดยทันทีในวันรุ่งขึ้น เพื่อน้อมรับพระราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ด้วยความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เป็นการแสดงเจตนารมณ์โดยชัดเจนว่าพรรคฯ ไม่ติดใจในการเสนอชื่อนายกฯ

5. การกระทำตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 88 และมาตรา 89 ประกอบมาตรา 87 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 13 และ มาตรา 14 ให้ถือว่าการเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น จึงไม่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้ผู้ร้องกล่าวหาผู้ถูกร้องในทางใดๆ ต่อศาลได้

6. พรรคฯ เห็นว่าคำว่า “ปฏิปักษ์” ให้ความหมายว่า ฝ่ายตรงกันข้าม ข้าศึก ศัตรู แต่การกระทำของผู้ถูกร้อง ได้กระทำการเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเป็นความประสงค์ของทูลกระหม่อมฯ ที่อาสาเข้ามาทำงานให้กับประเทศชาติ และยินยอมให้ผู้ถูกร้องเสนอชื่อ มิใช่เป็นการแอบอ้างโดยพละการ

7. กกต. ไม่มีอำนาจหน้าที่นำพระราชโองการมาขยายความกล่าวหาพรรคฯ ว่ากระทำผิดตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 คำขอให้พิจารณาวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคนั้น เป็นการขยายความของพระราชโองการที่เป็นโทษ เป็นเรื่องที่มิบังควร และไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง อันเป็นการนำพระราชโองการมาแอบอ้างใช้อย่างมีเจตนาไม่สุจริต เป็นการกล่าวหาโดยสร้างฐานความผิดใหม่ซึ่งไม่มีฐานกฎหมายใดๆ บัญญัติไว้

8. มติในการประชุมครั้งที่ 18/2562 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ของ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคไม่เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก กกต.จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ประกอบระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และมีพฤติกรรมไม่สุจริต ซึ่งพรรคฯ มีหลักฐานนำเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญและพรรคฯ จะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินการที่พรรคฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อไป

ทั้งนี้ ในท้ายเอกสารได้ระบุข้อความว่า “พรรคไทยรักษาชาติมีความบริสุทธิ์ใจ ที่จะมุ่งนำเสนอพยานหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญ คดีนี้เป็นคดีที่มีข้อกล่าวหาต่อพรรคฯ อย่างรุนแรง ขอศาลรัฐธรรมนูญได้โปรดรับฟังความทั้งสองฝ่ายก่อนมีคำวินิจฉัยใดๆ”

โดยทีมทนายความเปิดเผยเพิ่มเติมว่า นอกจากเอกสารชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาทั้ง 8 ประเด็นรวม 20 หน้าแล้ว พรรคยังยื่นบัญชีพยานบุคคลที่เป็นกรรมการบริหารพรรค 14 คน และพยานคนกลางที่เป็นบุคคลภายนอก 5 ปาก พร้อมระบุว่าควรจะให้โอกาสประชาชนได้ลงคะแนนวันที่ 24 มี.ค. ก่อนมีคำตัดสิน โดยเชื่อมั่นในความยุติธรรมที่ศาลจะเมตตา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook