จับอาการยึกยัก "ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย" อาจหนุนนายกฯ คนนอก หวังตลบหลัง คสช.

จับอาการยึกยัก "ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย" อาจหนุนนายกฯ คนนอก หวังตลบหลัง คสช.

จับอาการยึกยัก "ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย" อาจหนุนนายกฯ คนนอก หวังตลบหลัง คสช.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาการเก้ๆ กังๆ เดินหน้าไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ ของ 2 พรรค “ประชาธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย” ทำเอาหลายคนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น แบ่งโควตากันไม่ลงตัว ผลประโยชน์ไม่เป็นที่น่าพอใจหรืออย่างไร ทำไมถึงได้ยืดเยื้อคาราคาซังแบบนี้

หากถามว่าพรรคพลังประชารัฐมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ตอบเลยชัดๆ ตรงไปตรงมาว่ามี และเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยสากล เพราะฝ่ายเพื่อไทยที่มี ส.ส.เป็นอันดับหนึ่ง ได้พยายามรวมเสียงแล้ว จบอยู่ที่ 7 พรรค มีเสียงประมาณ 245 เสียง เป็นเสียงข้างมากไม่ได้ แต่ความพยายามของพลังประชารัฐที่เหมือนจะง่าย เพราะมีเสียงอีกส่วนมาสนับสนุนพร้อมแล้ว หลังมีการประกาศแต่งตั้ง ส.ว. การรวมเสียงน่าจะทำได้ง่ายขึ้น แต่ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา กลับไร้ความคืบหน้าในเชิงบวก แถม 2 พรรคตัวแปรขนาดใหญ่คือ ประชาธิปัตย์ และ ภูมิใจไทย ที่มีเสียงรวมกัน 103 ที่นั่ง กลับไร้ความชัดเจนว่าจะไปอยู่ฝั่งไหน

ท่าทีที่ออกมาของประชาธิปัตย์ ชัดเจนว่าเกิดความแตกแยกทางความคิดที่ยังหาความลงตัวไม่ได้ กลุ่มกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่มี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เป็นหัวหน้า คือถอดแบบ “ชวน หลีกภัย” มาเลย นั่นคือยึดหลักการ และพยายามจะเดินตามเส้นทาง-จุดยืนที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ประกาศไว้ แต่ บรรดา ส.ส. กลุ่มหนึ่งที่มี  “ถาวร เสนเนียม” เป็นแกนนำ กลับมีการแสดงออกชัดเจนว่าต้องการไปร่วมกับพลังประชารัฐ จึงกลายเป็นปัญหาที่หาข้อสรุปไม่ได้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแบ่งเค้กหรือโควตาตำแหน่งรัฐมนตรีแต่อย่างใด

>> 52 ส.ส.ประชาธิปัตย์มีมติให้กรรมการบริหารพรรคเจรจาตั้งรัฐบาล คาด 23 พ.ค. รู้คำตอบ

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย เหตุผลหลักที่ยังไม่ชัดเจน ก็คงมาจากปัจจัยคำพูดในอดีต เพราะตอนหาเสียง “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคย้ำหลายรอบว่าหากจะเข้าร่วมรัฐบาล ต้องเป็นเสียงข้างมากในสภา คำพูดในวันนั้นจึงมาเป็นตัวกำหนดในวันนี้ “อนุทิน” จะยอมเสียสัตย์หรือไม่ หากต้องการรักษาคำพูด ก็ต้องรอให้ประชาธิปัตย์เสียหลักการก่อน ดังนั้นหาก “ประชาธิปัตย์” ไม่ยอมเสียหลักการ “ภูมิใจไทย” ก็มิอาจเสียคำพูดเช่นกัน นั่นจึงทำให้การจัดตั้งรัฐบาลของ “พลังประชารัฐ” จึงเดินหน้าไม่ได้เสียที

จากปัญหาที่ 2 พรรคไร้ข้อสรุปในเวลานี้ แม้ พลังประชารัฐ จะยังมีข้อได้เปรียบฝั่ง “เพื่อไทย” และ “อนาคตใหม่” อยู่เล็กน้อย เพราะ “ประชาธิปัตย์” ไม่มีทางที่จะกลืนน้ำลาย สวิงกลับไปอีกข้างแน่นอน แต่ก็ไม่อาจทำให้ “ภูมิใจไทย” มีท่าทีที่ชัดเจนเช่นกัน และหากทั้ง 2 พรรค จับมือกันเพื่อรักษาหลักการและคำพูดของตัวเอง กดดัน “พลังประชารัฐ” คืนบ้าง หวยก็อาจจะไปออกที่นายกฯ คนนอก ตามที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ให้ เป็นการย้อนเกล็ด คสช. ซึ่งก็พอจะมีโอกาสเป็นไปได้ เพราะเชื่อว่าบรรดานักการเมืองแม้จะอยู่ในสังกัดพลังประชารัฐ ก็น่าจะมีบางส่วนที่ต้องการตลบหลัง คสช. อยู่บ้างเหมือนกัน!!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook