มติประชาธิปัตย์ขอเป็น "ผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ" แต่ยังไม่ฟันธงร่วม-ไม่ร่วมรัฐบาล

มติประชาธิปัตย์ขอเป็น "ผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ" แต่ยังไม่ฟันธงร่วม-ไม่ร่วมรัฐบาล

มติประชาธิปัตย์ขอเป็น "ผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ" แต่ยังไม่ฟันธงร่วม-ไม่ร่วมรัฐบาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พรรคประชาธิปัตย์ มีมติส่งชิงตำแหน่งประธานสภา แต่ยังไม่เปิดเผยชื่อ ยังไร้คำตอบร่วมรัฐบาลฝ่ายไหน รอข้อสรุปพรุ่งนี้

วันนี้ (23 พ.ค. 2562) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุม ส.ส. ครั้งที่ 2/2562 ซึ่งเริ่มประชุมในเวลา 13.00 น. โดยมีวาระที่สำคัญคือ

1. จากที่ประชุมของ ส.ส. เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีมติให้คณะกรรมการบริหารพรรคไปประสานงานกับพรรคการเมืองต่างๆ นั้น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ได้นำผลการประสานงานดังกล่าวมารายงานต่อที่ประชุม ส.ส. แต่กระบวนการประสานงานกับพรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่เสร็จสิ้น

2. ที่ประชุม ส.ส. มีมติในเรื่องการดำเนินการทางการเมืองดังต่อไปนี้

การทำงานของรัฐสภาในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีความไม่เป็นกลางในการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ก่อให้เกิดประโยชน์ และเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ทำให้การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ไม่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติได้ ที่ประชุม ส.ส. ของพรรคฯ จึงมีมติอาสา “เป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ”

ส่วนที่สื่อมวลชนสอบถามว่าที่ประชุมได้เสนอให้บุคคลใดรับตำแหน่งประธานสภานั้น นายราเมศกล่าวว่า ยังไม่มีการกำหนดชื่อ เพราะการเสนอชื่อต้องเป็นไปตามกระบวนการตามข้อบังคับ ซึ่งขณะนี้ต้องรอให้มีการประชุมกันอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (24 พ.ค.) โดยจะได้เรียกประชุมภายหลังจากรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาแล้ว โดย ส.ส. ของพรรคและกรรมการบริหารพรรค จะเดินทางกลับมาประชุมกันที่พรรคต่อไป

ทั้งนี้ นายราเมศกล่าวเพิ่มเติมว่า การอาสาเป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัตินั้น มิได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเป็นประเด็นว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วม หรือไม่เข้าร่วมรัฐบาล เพราะประเด็นนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณากันในวันนี้ และตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่า การเลือกตั้งประธานสภาของแต่ละสภาเป็นไปตามมติของสภานั้น ดังนั้นกระบวนการนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมรัฐบาล หรือไม่ร่วมรัฐบาล เป็นเพียงการเสนอชื่อประธานสภาตามขั้นตอนปกติ

“ประชาธิปัตย์ มีบุคลากรหลายคนที่มีศักยภาพที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ แต่กระบวนการตามข้อบังคับพรรค ก็จะต้องมีการประชุม โดยการเสนอจากคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อกำหนดรายชื่อให้ที่ประชุมร่วมกันระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะกรรมการบริหารพรรค เป็นผู้เลือก” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

ขณะที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ปฏิเสธให้รายละเอียดเพิ่มเติม หลังจากที่ก่อนหน้านี้นายมนตรี ปาน้อยนนท์ ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ไปร่วมพูดคุยกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ชี้แจงว่าได้ข้อยุติร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ โดยนายเฉลิมชัยโยนให้สื่อถามไปยังนายมนตรีเอง พร้อมระบุว่านายมนตรีไม่ได้อยู่ร่วมหารือตลอดเวลา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook