ส.ว. มีไว้ทำไม คุ้มหรือไม่กับภาษีประชาชน

ส.ว. มีไว้ทำไม คุ้มหรือไม่กับภาษีประชาชน

ส.ว. มีไว้ทำไม คุ้มหรือไม่กับภาษีประชาชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นับว่าเป็นประเด็นเดือดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย สำหรับการแต่งตั้ง “250 ส.ว.” หรือสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 250 คน ที่มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจุดที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักก็คือ ในบรรดา ส.ว. ทั้ง 250 คนนั้น ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เคยรับตำแหน่งในรัฐบาล คสช. และบางส่วนยังเป็นเครือญาติกับนักการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย ทำเอาประชาชนชาวไทยถึงกับอุทาน “แบบนี้ก็ได้เหรอ” เลยทีเดียว

>>ด่วน! ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 250 ส.ว.
>> ไม่พลิกโผ! พรเพชร วิชิตชลชัย ฉลุยนั่งประธานวุฒิสภาแบบไร้คู่แข่ง

แต่ไม่ว่าวุฒิสภานี้จะได้ชื่อว่าสภาพี่น้อง สภาผัวเมีย สภาร้อยนายพล หรือสภาผลัดกันเกา สิ่งที่เราจะลืมไม่ได้เลยก็คือ กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่และรับเงินเดือนจากภาษีของประชาชน ดังนั้น ก่อนที่เหล่า ส.ว. จะเริ่มทำงานในเร็วๆ นี้ เราจึงน่าจะตั้งคำถามถึงอำนาจหน้าที่ของพวกเขา รวมถึงความคุ้มค่ากับภาษีที่เราจ่ายไป ว่าทั้งหมดทั้งมวลนั้น มันดีต่อใจเราจริงหรือเปล่า

พัฒนาการของ ส.ว.

ในโครงการสัมมนาวิชาการ “สภา ส.ว. = สภา...?” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความหมายของวุฒิสภา หรือ Senate ในภาษาอังกฤษว่า “สภาคนแก่” ซึ่งมีที่มาจากสภาของชนชั้นสูงในยุคโรมัน ที่ส่วนใหญ่มักจะร่ำรวย มีอิทธิพล และมีอำนาจปกครองอย่างเด็ดขาดในสาธารณรัฐโรมัน และเริ่มเสื่อมอำนาจลงเป็นเพียงไม้ประดับ หลังจากที่ออกัสตัส ซีซาร์ ยึดอำนาจ และเปลี่ยนสาธารณรัฐโรมันเป็นจักรวรรดิโรมัน

แต่สำหรับประเทศไทย วุฒิสภาถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ซึ่งนำโดยกลุ่มข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “คณะราษฎร” โดยทำหน้าที่เป็น “สภาพี่เลี้ยง” ให้กับสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ เมื่อมีการผ่านกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็ต้องผ่านวุฒิสภาด้วย เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ช่วยตรวจสอบ ให้เหตุผลหักล้างหรือทักท้วง เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรทำงานอย่างรอบคอบ และในขณะที่ประเทศไทยกำลังพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองสู่ระบอบประชาธิปไตย ข้าราชการก็เริ่มมีความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

“ใน พ.ศ. 2435 – 2475 ซึ่งเราเรียกว่ายุคราชาธิปไตย บทบาทของชนชั้นข้าราชการมีพัฒนาการตามลำดับ มีความแข็งแกร่งมากขึ้นจนกระทั่ง 2475 ข้าราชการทหารก็เริ่มมีอำนาจมากขึ้น เข้ามายึดอำนาจการปกครองหลายครั้งหลายหนด้วยกัน จนกระทั่งมาถึง พ.ศ. 2516 ผมใช้คำว่าระบอบคณาธิปไตย ก็คือระบอบที่ข้าราชการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย และเป็นผู้สืบต่ออำนาจอธิปไตย” ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อธิบายพัฒนาการของข้าราชการไทย ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาในยุคหลัง

ศ.ดร.ธีรภัทร์เล่าว่า ในช่วง พ.ศ. 2516 – 2557 มีความพยายามแชร์อำนาจร่วมกันระหว่างข้าราชการกับพรรคการเมือง จากการมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ธีรภัทร์ เรียกระบอบการปกครองในขณะนั้นว่า “ธนาธิปไตย” คือการที่พรรคการเมืองใช้เงินในการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ ทว่าในที่สุด การแชร์อำนาจดังกล่าวก็มาถึงจุดแตกหัก หลังจากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 ที่อำนาจมาอยู่ในมือพรรคการเมืองมากขึ้น นำไปสู่การทำรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และเกิดความขัดแย้งตามมาอีกหลายครั้ง จนกระทั่งเกิดรัฐประหารครั้งล่าสุดโดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นั่นเอง

“เราก็มุ่งหวังว่า คสช. จะปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง นำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มีการบริหารงานที่ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก แต่ปรากฏว่า 5 ปีที่ผ่านมานั้น เป็น 5 ปีแห่งความล้มเหลวในด้านการเมือง เป็น 5 ปีที่เราไม่ได้พัฒนาไปสู่การเป็นประชาธิปไตย แต่กลับย้อนยุคกลับไปสู่ระบอบคณาธิปไตยใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 – 2516 ปรากฏการณ์ล่าสุดก็คือ สมาชิกวุฒิสภาที่เพิ่งประกาศชื่อไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นความคิดแบบเดิมที่ต้องการเอาข้าราชการประจำ ไม่ว่าจะเป็นนายทหาร และข้าราชการพลเรือนต่างๆ เข้ามา” ศ.ดร.ธีรภัทร์กล่าว

 

ส.ว. ทำอะไรบ้าง และคุ้มภาษีหรือไม่

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน หน้าที่หลักของ ส.ว. ยังคงเป็นการกลั่นกรองกฎหมาย เพื่อให้การออกกฎหมายมีความรอบคอบ อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยยุค 4.0 ส.ว. กลับมีหน้าที่พิเศษเพิ่มขึ้นมา นั่นคือการดูแลเรื่องการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่ง รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งคำถามถึงความสามารถของ ส.ว. ในการทำงานด้านการพัฒนา เนื่องจาก ส.ว. กว่าร้อยละ 80 เป็น “คนของรัฐ” หรือ “รัฐราชการ” มาก่อน ส่วนใหญ่จะถนัดงานรบ จับกุมโจรผู้ร้าย บังคับใช้กฎหมาย และควบคุมสั่งการ ซึ่งเป็นความชำนาญเฉพาะด้าน

“อย่าลืมว่าประเทศไทยไม่ได้มีแค่ภาคราชการเพียงอย่างเดียว เรามีภาคประชาสังคม ภาคเศรษฐกิจ เรามีทิศทางการขับเคลื่อนประเทศที่มันสอดคล้องกับกระแสการแข่งขัน กระแสการเปลี่ยนแปลงอีกเยอะ แต่ถ้าได้คนเก่งจับโจร ถนัดการรบ หรือเก่งเรื่องการควบคุมรักษากฎหมายมาขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนแปลง ผมไม่มั่นใจว่าจะขับเคลื่อนกันได้หรือไม่ หรือแม้กระทั่งเราบอกว่าอยากสร้างแนวคิดการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย เน้นการมีส่วนร่วมให้ทุกคนมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ แต่เราเห็นการกระทำของ ส.ว. ชุดนี้ยังเป็นวิธีคิดแบบรวมศูนย์ อำนาจการตัดสินใจยังมาจากกลุ่มคนไม่กี่คน ก็เลยนำไปสู่คำถามที่ว่า ในแง่สมรรถนะในการทำงาน ส.ว. ชุดนี้ตอบโจทย์หรือเปล่า เบื้องต้นผมว่าอาจจะไม่ใช่”

ประมาณการค่าใช้จ่ายต่อ ส.ว. 1 ตำแหน่ง โดย รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพวีระศักดิ์ เครือเทพประมาณการค่าใช้จ่ายต่อ ส.ว. 1 ตำแหน่ง โดย รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ

และเพื่อตอบคำถามว่าการมี ส.ว. ให้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ รศ.ดร.วีระศักดิ์ แนะนำให้ดูภาระงบประมาณทั้งหมดที่จ่ายไป อันเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ว. เช่น การปฏิบัติงาน ลงพื้นที่เยี่ยมประชาชน เพื่อมองเห็นปัญหาและเก็บข้อมูล ซึ่งสามารถเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้

“ผมใช้ตัวเลขคร่าวๆ 1.5 ล้านบาทต่อคนต่อปี จากเอกสารภายในของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นข้อมูลที่ตั้งคำถามว่า ตกลง ส.ว. ในยุคนั้นมีค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการเดินทาง ค่าที่พักเท่าไร เมื่อวันนั้น ตกอยู่ประมาณ 1.3 ล้านเศษ ต่อ 1 ตำแหน่ง รวมถึงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล อันนี้ผมอิงจากเรตราชการนะครับ เบี้ยประชุมครั้งละ 800 บาท ตก 9 แสนกว่าบาทต่อปี ตัวเลขล่าสุดที่ ปปช. เพิ่งประกาศ ค่าเบี้ยประชุมของ สนช. ท่านหนึ่งเมื่อปี 60 ได้ 8.116 ล้าน นี่คือรายจ่ายที่รวมกันต่อ 1 ตำแหน่ง เทียบแล้ว คูณ 250 ตก 5,538.75 ล้านบาทต่อ 5 ปี” รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าว พร้อมระบุว่า หากการทำงานของ ส.ว. สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศได้มากกว่าหรือเทียบเท่า 5,538.75 ล้านบาท ก็ถือว่าเรายังจำเป็นต้องมี ส.ว. แต่หากสร้างมูลค่าเพิ่มไม่ได้ สังคมก็ต้องตั้งคำถามว่า ส.ว. ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่

>>เห็นแล้วตาลุก! “ส.ส.-ส.ว.” สวัสดิการเพียบ ค่าเดินทาง-รักษาพยาบาลฟรี

นอกจากประเด็นเรื่องความคุ้มค่าแล้ว ประเด็นที่หลายคนสนใจก็คือ “ความโปร่งใส” ในการแต่งตั้ง ส.ว. ทั้ง 250 คน เนื่องจากทุกวันนี้ยังไม่มีใครอธิบายหลักการและกระบวนการแต่งตั้ง ส.ว. หรือแม้กระทั่งเปิดเผยรายชื่อกรรมการสรรหา ส.ว. ได้อย่างชัดแจ้งแต่อย่างใด

“บางคนสมัยเป็น สนช. ขาดประชุมมากกว่าการมาลงมติโหวต คนที่มีอำนาจทั้งหลายก็ออกมาแก้ต่างให้ว่าท่านคนนั้นไม่ได้ขาดประชุม เขาลาประชุม แต่ในทางปฏิบัติ ผลลัพธ์สุดท้ายก็คือไม่ได้มาทำหน้าที่ใช่ไหมล่ะ กระบวนการที่มาของ ส.ว. ทั้งหลาย ไม่ค่อยโปร่งใส ไม่ค่อยสอดคล้องกับหลักการที่เราอยากเห็นเท่าไร รวมไปถึงสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้เลย ก็คือคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนออกมาแก้ต่าง ออกมาให้เหตุผล คนที่บอกว่าต้องมีระบบพรรคพวกไว้เกื้อหนุนกัน มันจะผิดอะไร ประเด็นก็คือว่า ระบบคุณธรรมมันบิดเบือนไปถึงขั้นที่ว่า เรายอมรับหลักการที่ผิดเป็นเรื่องที่ถูก ผมว่าประเทศไทยเดินต่อแบบนี้ไม่ได้ ถ้ายังคงเป็นแบบนี้” รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ รศ.ดร.วีระศักดิ์ยังระบุว่า ตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า องค์ประกอบของ ส.ว. ต้องมีความหลากหลาย แต่ที่จริงยังไม่หลากหลาย และยังไปกระจุกอยู่แค่คนบางกลุ่มเท่านั้น รวมไปถึงการที่บอกว่าต้องไม่มีการผูกขาดอำนาจ แต่กลับยังมีสมาชิกบางคนเคยอยู่ในตำแหน่งนานถึง 2 – 3 วาระ ซึ่ง อ.วีระศักดิ์เองก็เกรงว่าวุฒิสภาอาจกลายเป็นเพียง “Failed Senate” หรือตัวประกอบ ที่ไม่ได้มีประโยชน์ใดๆ นอกจากมีไว้เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจและเสถียรภาพของฝ่ายรัฐเท่านั้น

กรณี 250 ส.ว. จะนำไปสู่อะไร

สำหรับผลลัพธ์จากกรณี 250 ส.ว. นั้น ศ.ดร.ธีรภัทร์มองว่า กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเล่นพรรคเล่นพวก (Favoritism) ที่นำไปสู่การให้ประโยชน์ต่างตอบแทนกัน ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือการเล่นพรรคเล่นพวกจากวงศ์วานว่านเครือ (Nepotism) และการเล่นพรรคเล่นพวกจากเพื่อนฝูง (Cronyism) ซึ่งก็คือระบบอุปถัมภ์

“ทั้งการเล่นพรรคเล่นพวกในครอบครัวและเพื่อนฝูง รวมเรียกว่า ระบอบญาติมิตรธิปไตย ซึ่งก็หมายถึงผู้ใช้อำนาจรัฐสามารถเลือกใช้ดุลยพินิจของตัวเองในการช้อปปิ้ง คัดเลือกพี่น้อง ญาติสนิทมิตรสหาย เพื่อมารับส่วนแบ่งผลประโยชน์ อีกประเภทหนึ่งที่มักจะพบเห็น คือการให้โอกาสแก่เพื่อนฝูง เรียกว่ามาแบ่งปันความสุขจากโครงการของรัฐที่ตัวเองสามารถใช้อำนาจหน้าที่ได้ ก็เป็นการเอื้ออาทรอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่เป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยที่ไม่ได้ใช้เงินหรือทรัพย์สินส่วนตัว แต่ใช้ภาษีของประชาชน” ศ.ดร.ธีรภัทร์กล่าว

นอกจากนี้ การที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า ตำแหน่งในองค์กรอิสระสำคัญๆ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปปช. ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องผ่านการแนะนำของวุฒิสภา ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ ศ.ดร.ธีรภัทร์ กังวล เนื่องจากการแต่งตั้งเครือญาติเข้ามาดำรงตำแหน่งเหล่านี้ อาจเป็นอันตรายต่อการพัฒนาประชาธิปไตยได้ ยิ่งกว่านั้น การเล่นพรรคเล่นพวกยังส่งผลที่น่ากลัวกว่าที่คิด

“ถามว่าทำไมต้องแต่งตั้งญาติ มันมาตอบโจทย์ตรงมาตรา 272 ครับ คือให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั่นเอง ถ้าโหวตรับพลเอก...มาเป็นนายกรัฐมนตรี สถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ว. ตามมาตรา 114 มันต้องมีการตีความแล้วล่ะ เขาบอกว่า ส.ว. ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ส.ว. ไม่อยู่ในอาณัติหรือความครอบครองใดๆ ส.ว. ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ส.ว. ต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม และสุดท้าย ส.ว. ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ มันจะขัดกันไหม”

>>สแกนชื่อ 250 ส.ว. พบสมาชิกจากแม่น้ำ 5 สาย แปลงร่างยึดเก้าอี้เพียบ

ส.ว. แบบนี้ ประชาชนจะทำอย่างไร

การที่สมาชิกส่วนใหญ่ของวุฒิสภามีที่มาจากผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งในรัฐบาล คสช. และญาติสนิทมิตรสหายของรัฐบาล สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจของรัฐได้แผ่ขยายเข้าควบคุมองค์กรอิสระอย่างวุฒิสภาแล้ว และหากอำนาจรัฐสามารถควบคุมองค์กรอิสระอื่นๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ปปช. กกต. คตง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ ผลกระทบก็อาจจะตกแก่ประชาชน ดังนั้น สื่อมวลชนและประชาชนจึงต้องตื่นตัวและคอยจับตามองการทำงานของวุฒิสภา รวมทั้งองค์กรอิสระอื่นๆ อยู่เสมอ

“จากเคสนี้ มันเป็นหลักฐานในตัวมันเองแล้วล่ะว่าฝ่ายรัฐเริ่มมีทัศนคติที่ว่าเขาอยากทำอะไรก็ทำได้ มันไปสู่จุดที่ผมเข้าใจว่าเริ่มใช้อำนาจเกือบจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่อยู่ภายใต้ชื่อประชาธิปไตย อันนี้คือสิ่งที่น่ากลัวมาก เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราเรียนรู้และต้องตื่นตัว ช่วยกันดูมากขึ้นก็คือว่า อย่าให้คนเหล่านี้ทำอะไรตามอำเภอใจ” รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าว

ด้าน ศ.ดร.ธีรภัทร์ก็ทิ้งท้ายว่า “ผมยังเชื่อว่าเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ยังพอแก้ไขได้ เพราะฉะนั้น สรุปว่า ส.ว. ย่อมาจากอะไร ผมขออนุญาตใช้คำว่าสภาวงศาคณาญาติ ภายใต้ระบอบที่เรียกว่าญาติมิตรธิปไตย เราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เรา พี่น้องประชาชน สื่อมวลชนต้องช่วยกัน อะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงไปตรงมา ต้องแก้ไข ก็ต้องช่วยกัน”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook