สำรวจสุขภาพจิตคนไทย อาชีพรับจ้าง จิตตกสูงกว่าอาชีพอื่นๆ ส่วนอายุ 40-59 ปี ภูมิคุ้มกันจิตดีสุด

สำรวจสุขภาพจิตคนไทย อาชีพรับจ้าง จิตตกสูงกว่าอาชีพอื่นๆ ส่วนอายุ 40-59 ปี ภูมิคุ้มกันจิตดีสุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สำนักงานสถิตแห่งชาติ ร่วมกับกรมสุขภาพจิต มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจพบว่าวัยทำงาน 40-59 ปี และอาชีพข้าราชการ นับเป็นกลุ่มคนมีสุขภาพจิต ดีที่สุด ส่วนคนแก่ กับอาชีพรับจ้าง จิตตก(ต่ำ)มากที่สุด นางธนนุช ตรีทิพยบุตร เลขาธิการสถิติแห่งชาติ เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ทำการสำรวจสุขภาพจิตของคนไทย เพื่อนำเสนอข้อมูลที่แสดงถึงสุขภาพจิตของคนไทยเป็นระยะๆ ตามภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ สำหรับให้หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน ที่เกี่ยวข้องนำไปกำหนดนโยบายและวางแผนในการแก้ปัญหาสังคมและสุขภาพจิตได้อย่างตรงจุด โดยการสำรวจครั้งนี้ใช้เครื่องมือวัดสุขภาพจิต คือข้อถามจำนวน 15 ข้อ ซึ่งผ่านการพัฒนาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยทีมงานวิชาการของกรมสุขภาพจิต โดยทำการสำรวจช่วงแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยให้ผู้ตอบอายุ 15 ปีขึ้นไป ประมาณ 28,500 คน สำรวจตัวเอง และประเมินเหตุการณ์ อาการ ความคิดเห็น และความรู้สึกของตนในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสรุปผลการสำรวจที่สำคัญได้ดังนี้

คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีคะแนนสุขภาพจิตอยู่ที่ 31.80 คะแนน จากคะแนนเต็ม 45 คะแนน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้สำหรับสุขภาพจิตของคนทั่1/ โดยพบว่า คนไทยเกินครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 54.54) มีสุขภาพจิตเท่ากับคนทั่วไป รองลงมาคือ สุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไป (ร้อยละ 27.69) และมีประมาณ 1 ใน 5 ที่มีสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไป (ร้อยละ 17.77) ชายและหญิงมีสุขภาพจิตใกล้เคียงกัน (คะแนนเฉลี่ย 31.95 และ 31.66 คะแนน ตามลำดับ) และหญิงมีสัดส่วนของผู้มีสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไปมากกว่าชาย (ร้อยละ 18.43 และ 17.06 ตามลำดับ)

ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานที่มีอายุ 40-59 ปี มีสุขภาพจิตดีกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ (32.12 คะแนน) คนกลุ่มนี้มีผู้ที่มีสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไปน้อยที่สุด คือ ร้อยละ 16.35 และสุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไปมากที่สุด คือร้อยละ 30.16 ส่วนวัยชรา (60 ปีขึ้นไป) เป็นวัยที่มีสุขภาพจิตโดยเฉลี่ยต่ำสุด (31.44 คะแนน) แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของสุขภาพจิตคนทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า วัยนี้มีผู้ที่มีสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไปมากกว่าวัยอื่นๆ (ร้อยละ 21.43)

ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ มีสุขภาพจิตดีกว่าอาชีพอื่น(33.82 คะแนน) โดยมีผู้ที่สุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไปเพียงร้อยละ 9.37 และสุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไป มากกว่าอาชีพอื่นอย่างเห็นได้ชัด(ร้อยละ 41.11) ซึ่งอาจเพราะเป็นอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้ที่แน่นอน

สำหรับอาชีพรับจ้างทั่วไป มีสุขภาพจิต ต่ำกว่าอาชีพอื่น(30.38 คะแนน ) และมีผู้ที่สุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไปมากกว่าอาชีพอื่น(ร้อยละ 27.25) และสุขภาพจิตูงกว่าคนทั่วไปน้อยที่สุดคือ ร้อยละ 18.16นอกจากนี้ พบว่า ความเคร่งศาสนา การปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนา และการมีเวลาให้แก่กันอย่างเพียงพอของสมาชิกในครอบครัว เป็นปัจจัยที่ช่วยให้สุขภาพจิตของคนดีขึ้นตามลำดับของการกระทำนั้นๆ

นางธนนุช กล่าวว่า แม้ว่าจากผลการสำรวจข้างต้น จะสะท้อนให้เห็นว่า ในภาพรวมคนไทยยังมีสุขภาพจิตดี แต่เนื่องจากการสำรวจดำเนินการในช่วงเริ่มของภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าวต่อสุขภาพจิตคนไทย อาจจะยังไม่มากนัก แต่ขณะนี้สถานการณ์นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ จะติดตามสถานการณ์สุขภาพจิตของประชาชนอย่างต่อเนื่องต่อไป และจะนำเสนอข้อมูลเป็นระยะๆ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้ในการกำหนดแผนงาน หรือแนวทางในการช่วยเหลือ เพื่อให้คนไทยฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ไปให้ได้ และสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook