โพลเผยหัวอกผู้บริโภคถูกคุกคามผ่านมือถือ ปชช.สุดรำคาญชักชวนดูหมอ

โพลเผยหัวอกผู้บริโภคถูกคุกคามผ่านมือถือ ปชช.สุดรำคาญชักชวนดูหมอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เอแบคโพลชี้ ปชช.ถูกคุกคามผ่านมือถือ ทั้งส่งข้อความเชิญชวนโหลดเพลง-รูปภาพ เล่นเกมลุ้นรางวัล ปัญหาพบมากบอกเงื่อนไขไม่หมด เผยคนเดือดร้อนรำคาญถูกชวนดูหมอ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคมและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัย เอแบคเรียลไทม์โพลล์ ที่เป็นการสำรวจจากครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศตามหลักสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และได้ติดตั้งโทรศัพท์ให้กับครัวเรือนที่เป็นตัวอย่างเพื่อทำการสัมภาษณ์ได้อย่างรวดเร็วฉับไวภายในระยะเวลาประมาณ 10 ชั่วโมง จากนั้นประมวลผลด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบเรียลไทม์ โดยครั้งนี้ได้ทำการสำรวจ เรื่อง หัวอกผู้บริโภคที่ถูกคุกคามจากฝ่ายการตลาดในธุรกิจผ่านโทรศัพท์มือถือ กรณีศึกษาประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร แม่ฮ่องสอน พิจิตร ลำปาง เชียงราย สมุทรสาคร ลพบุรีนครปฐม ชลบุรี อำนาจเจริญ หนองคาย สกลนคร ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น ชุมพร และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,379 ตัวอย่าง ดำเนินการสำรวจในวันที่ 14 มิถุนายน 2552

เมื่อสอบถามถึงประสบการณ์ในการได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ หรือการส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานั้น พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 69.9 ระบุเคยมีคนโทรมาหรือส่งข้อความผ่านมือถือ ให้โหลดเพลง รูปภาพต่างๆ ร้อยละ 47.1 ระบุมีคนโทรมาหรือส่งข้อความผ่านมือถือ เชิญชวนให้เล่นเกมลุ้นรางวัล ร้อยละ4.2 ระบุมีคนโทรมาหรือส่งข้อความผ่านมือถือ ชวนให้ดูหมอดูร้อยละ 33.3 ระบุมีคนโทรมาหรือส่งข้อความผ่านมือถือ ชวนให้ทำประกันชีวิตนอกจากนี้ยังพบว่า ตัวอย่างเคยได้รับประการติดต่อผ่านโทรศัพท์มือถือชวนให้ซื้อสินค้า ชวนให้ทำบัตรเครดิต และเชิญชวนให้ลงทุน

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่เคยตัดสินใจทำตามคำชักชวนดังกล่าว ถึงปัญหาที่เคยได้รับจากการซื้อสินค้าหรือบริการทางโทรศัพท์นั้น พบว่า ร้อยละ 21.1 ระบุมีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดอื่นๆ ที่บอกเราไม่หมด รองลงมาคือร้อยละ 21.0 ระบุได้รับสินค้าหรือบริการล่าช้า ร้อยละ 18.7 ระบุต้องจ่ายเงินค่าอื่นๆ ตามมาเพิ่มอีก ร้อยละ 12.8 ระบุสินค้าหรือบริการไม่มีคุณภาพและไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่เคยแจ้งไว้ ในขณะที่ร้อยละ 7.2 ระบุถูกหลอกให้โอนเงิน แต่ไม่ส่งสินค้าหรือบริการให้ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 60.1 ระบุว่าไม่มีปัญหาใดๆ

สำหรับเรื่องที่ทำให้รู้สึกเดือดร้อนรำคาญเมื่อถูกชักชวนผ่านทางโทรศัพท์นั้น พบว่าร้อยละ 53.4 ระบุเรื่องหมอดู ร้อยละ 53.1 เรื่องการทำประกันชีวิต ร้อยละ 52.4 การทำบัตรเครดิต ร้อยละ 51.3 การชวนให้เล่นเกมลุ้นรางวัล ร้อยละ 50.2 ให้โหลดเพลง รูปภาพต่างๆ ร้อยละ 49.8 ชวนให้ซื้อสินค้า ร้อยละ 48.7 เชิญชวนให้ลงทุนตามลำดับ

เมื่อสอบถามการรับรู้รับทราบสถานที่ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการขายสิน/บริการผ่านโทรศัพท์นั้น พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 83.9 ระบุไม่ทราบว่าควรร้องเรียนที่ใด ทั้งนี้มีเพียงร้อยละ 16.1 เท่านั้นที่ระบุรับรู้รับทราบ และเมื่อสอบถามต่อไปถึงความเข้มงวดในการออกกฎระเบียบในการเสนอขายสินค้าหรือบริการทางโทรศัพท์นั้น ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างมากกว่าสองในสามคือร้อยละ 71.6 ระบุจำเป็นต้องเข้มงวด ในขณะที่ร้อยละ 28.4 ระบุไม่จำเป็น สำหรับความคิดเห็นต่อหน่วยงานต่างๆ ของรัฐในการให้ความคุ้มครองดูแลผู้บริโภคเพื่อไม่ให้ถูกรบกวนจากการเสนอขายสินค้าและบริการนั้น พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 76.0 ระบุว่าจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง ในขณะที่ร้อยละ 24.0 ระบุไม่จำเป็น

ผอ.ศูนย์วิจัยเอแบคฯ ชี้ให้เห็นว่าประชาชนโดยส่วนใหญ่เคยถูกติดต่อหรือได้รับข้อความจากฝ่ายการตลาดในธุรกิจประเภทต่างๆ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ มีผู้บริโภคจำนวนมากประสบปัญหาหลังจากตัดสินใจทำตามการชักชวนของกลุ่มธุรกิจเหล่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่รู้ช่องทางที่จะร้องเรียนปัญหาที่ได้รับจากการชักชวนและตัดสินใจซื้อสินค้าบริการเหล่านั้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนน่าจะเข้ามาช่วยคุ้มครองดูแลปัญหาของผู้บริโภคอย่างเร่งด่วน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook