ถกพ.ร.ก.กร่อยกรณ์แจงใช้เงินกู้โปร่งใส ฝ่ายค้านตั้งฉายารบ.เก่ง4ก. แก้ตัว-กู้-เก็บภาษี-โกงกิน

ถกพ.ร.ก.กร่อยกรณ์แจงใช้เงินกู้โปร่งใส ฝ่ายค้านตั้งฉายารบ.เก่ง4ก. แก้ตัว-กู้-เก็บภาษี-โกงกิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ฝ่ายค้านอภิปรายพ.ร.ก.เงินกู้ 4แสนล้านวันแรกยังกร่อย สุนัยจวกรบ.สร้างภาพไม่เคยเสนอแนวคิดอะไรใหม่ หาเสียงไปวันๆ ในการลงพื้นที่ ประชดรัฐบาลเก่ง4ก. แก้ตัว-กู้-เก็บภาษี-โกงกิน ชี้กู้เงินมี3นัยยะ ผลประโยชน์ทับซ้อน-ทุจริตเชิงนโยบายรอบใหม่ ท้าลดงบฯกองทัพ อภิปรายพ.ร.ก.เงินกู้4แสนล้านวันแรกยังกร่อย

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 15 มิถุนายน ที่รัฐสภานายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 2552 จำนวน 4 แสนล้าน

โดยนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลว่า จากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจและการค้าของประเทศสหรัฐส่งผลกระทบให้ผู้ค้า ทั่วโลกได้รับผลกระทบ มีภาคธุรกิจต้องปิดตัว 12,183 รายและคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้น อาจเป็นผลให้มีคนว่างงานจากปลายปี 51 จนถึงไตรมาส แรกของปี 52 เป็นจำนวน 710,000 คนทำให้เศรษฐกิจหดตัว ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ไข ปัญหาแล้วหลายประการ แต่ยังไม่เพียงพอประกอบกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐต่ำกว่าที่ประมาณการไว้อย่างมาก ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐไม่อาจดำเนินการให้บรรลุผลได้ เพื่อเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินในการดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง แต่การกู้เงินของรัฐบาลตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีข้อจำกัดบางประการ

"เพื่อให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินในนามรัฐบาลเพื่อนำมาใช้จ่ายหรือลงทุนหรือดำเนินการมาตรการที่สำคัญอันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นฟู รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างฉุกเฉิน โดยที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดฉบับนี้นายกรณ์ กล่าว

พท.อัดเงินลงทุน2แสนล้านเองลงพื้นที่โดยตรวจสอบไม่ได้

จากนั้นตัวแทนพรรคเพื่อไทยจึงเริ่มกล่าวอภิปราย โดยมีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายเป็นคนแรกว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า การตั้งงบกู้เงินของรัฐบาลจำนวน 4 แสนล้านบาทนั้น 2 แสนล้านบาทเป็นไปเพื่อนำมาปิดหีบเงินคงคลังที่รัฐบาลถังแตก ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยไปดูงบประมาณ 2552 ว่าใช้ไปจำนวนเท่าใด โดยจากงบจำนวน 1.9 ล้านล้านบาท สำนักงบประมาณมาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎรก็ระบุว่าใช้งบไปเพียงร้อยละ 60 ดังนั้นจึงเหลืองบอีกร้อยละ 40 แสดงว่ามีโอกาสที่จะหาเงินเข้ามาได้อีก ส่วนอีก 2 แสนล้านบาทที่รัฐบาลจะนำไปลงทุนนั้น ตนเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้บอกความจริงว่า จะนำงบลงทุนไปฝากไว้ใน พ.ร.ก.กู้เงิน ทำไมกว่า 2 แสนล้านบาท เพราะงบก้อนนี้ไม่สามารถตรวจสอบได้เหมือนงบประมาณประจำปี โดยเฉพาะโครงการไทยเข็มแข็งนั้นไม่มีรายละเอียด มีแต่ชื่อ

"ผมจึงสงสัยว่ารัฐบาลจะให้สภาตีเช็คเปล่าให้เอางบประมาณไปลงในพื้นที่ต่างๆ โดยไม่มีการตรวจสอบหรือไม่ เพราะงบก้อนนี้ไม่ได้บอกว่าจะไปลงจังหวัดไหน จะไปลงจังหวัดไหนก็ไม่รู้ จะลงทางใต้ที่เดียว หรือ แถวจังหวัดบุรีรัมย์ที่เดียวก็ไม่รู้ นายสุรพงษ์ กล่าว

ชี้กู้เงินมี3นัยยะ ผลประโยชน์ทับซ้อน-ทุจริตเชิงนโยบายรอบใหม่

นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเชิญสำนักหนี้สาธารณะมาชี้แจงกลับพบว่าข้อเท็จจริงที่เสนอศาลรัฐธรรมนูญมีการบิดเบือน ความจริงไม่ได้คัดค้านการกู้เงิน 8 แสนล้านบาทนี้ แต่รับทราบว่า เงินกู้ดังกล่าวจะไม่ถูกเก็บเข้าคลังจึงมีข้อสงสัยว่า เก็บเงินไว้ที่ไหนหรือไปเก็บที่ธนาคารพาณิชย์ หรือเพื่อประโยชน์ของใคร โดยการได้มาของเงินที่เป็นเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและนำมาใช้นอกงบประมาณนั้นเป็นการกู้เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่กลับพบว่าการกู้เงินนี้ไม่ก่อประโยชน์ตามพ.ร.บ.หนี้สาธารณะแต่อย่างใด เพราะนับจากนี้ไปตัวเลขของการเป็นหนี้ของคนไทยอยู่ที่รายละ 3 หมื่นบาทต่อคน

"การใช้เงินกู้ครั้งนี้ถ้อยคำใน พ.ร.ก.เขียนไว้ชัดเจนว่า เป็นเงินนอกประมาณ และให้อำนาจ รมว.คลังเป็นผู้ใช้ เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีรายละเอียดชัดเจน มีความเคร่งครัดในการใช้เงิน หากใครทำผิดงบประมาณแผ่นดินก็ต้องติดคุก แต่การใช้เงินกู้มีการทำผิดก็ไม่ชัดเจน และเป็นห่วงในการโยกงบประมาณ ที่เกรงว่า จะมีปัญหาทุจริตเกิดขึ้นและเห็นว่าการดำเนินการของรัฐบาลในการกู้เงิน 4 แสนล้านมีเจตนาหลีกเลี่ยงรัฐธรรมนูญในการขออนุญาตรัฐสภา หลีกเลี่ยงการโยกย้ายงบประมาณในการโอนงบประมาณรายจ่ายแผ่นดิน มีข้อสังเกตุว่าการกู้เงินครั้งนี้มีนัยยะ 3 คือ

1.นัยยะทางการเมืองที่เกรงว่า จะคุมพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้

2.นัยยะผลประโยชน์ ที่เกรงว่า จะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และ

3.นัยยะทางทุจริต ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้ที่จะนำไปสู่การทุจริตเชิงนโยบายรอบใหม่

โดยเฉพาะโครงการเมืองไทยเข้มแข็ง ซึ่งฟันธงเลยว่าคนไทยไม่มีวันเข้มแข็ง แต่อาจไปอยู่ที่กลุ่มบุคคล กลุ่มพรรคการเมือง คนไทยทั้งชาติทั้งประเทศ สิ่งที่จะรับอีก3ปีไปถึงปี 2555จะต้องใช้กระดูกแขวนคอกับหนี้ที่ไม่ได้ทำ ที่รัฐบาลเป็นคนสร้างหนี้ไว้ จึงไม่สามารถรับ พ.ร.ก.ได้

สุนัยจวกรบ.สร้างภาพ เก่ง4ก.แก้ตัว-กู้-เก็บภาษี-โกง

ขณะที่นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีวุฒิภาวะ ดูจากตัว รมว.คลังที่จะมีความประนีประนอม ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น แต่เปิดมาก็ด่าเสื้อแดงที่ไปชุมนุมที่พัทยา การมาเป็นรัฐบาลชุดนี้ ร่องรอยมาจากการปิดสนามบินตลอด 2-3 เดือน ก็ทำ 2 มาตรฐานมาตลอด

แล้วจะมาพูดอย่างไรว่า ท่านแก้ปัญหา มีผู้ใหญ่การเมืองคนหนึ่งที่อยู่ต่างประเทศ โทรมาบอกว่า ฝากบอกนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังว่า ยังเด็กอยู่ เพราะทำเป็นอยู่ 2 อย่าง คือ 1.ยืมเงินพ่อ คือ เก็บภาษีประชาชน 2.ยืมเงินเพื่อน คือ การกู้เงิน จนถึงวันนี้รัฐบาลไม่เคยเสนอแนวคิดอะไรใหม่ๆ นอกจากหาเสียงไปวันๆ ในการลงพื้นที่ ดูได้จากภาพถ่ายตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ ทั้งนี้ ผมมองว่า นายกฯ มัวแต่สร้างภาพไปวันๆ และรัฐบาลชุดนี้เก่ง ใน 4 ก. คือ 1.แก้ตัว 2.กู้ 3.เก็บภาษีและ 4.โกงกิน

มาร์คโต้ไม่ได้สร้างภาพ ลงพื้นที่เฉพาะเสาร์-อาทิตย์

จากนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ลุกขึ้นโต้ตอบว่า ตนทำงานตลอดทั้งสัปดาห์ ส่วนการลงพื้นที่ ก็ลงเฉพาะช่วงเสาร์- อาทิตย์ เพื่อพบปะประชาชนเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลได้สลับกันอภิปราย บรรยากาศไม่ค่อยคึกคัก โดย ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายโจมตีการบริหารงานของรัฐบาลอย่างเนื่อง ขณะที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล อาทิ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ท้วงงบประมาณของกระทรวงท่องเที่ยวน้อยเกินไป ท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ต้องหันมากระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อดึงเงินจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น

เพื่อไทย ซัด ไม่มั่นใจรบ.แก้ศก. ท้า ลดงบกองทัพ

เวลา 13.30 น. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อดูสาระสำคัญของพ.ร.ก.พบว่า ไม่น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง ตามรายงานศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า หลังออกพ.ร.ก. ประชาชนจะมีหนี้สิน จา ก 6 หมื่นบาท เป็น 1 แสนบาท ในไม่เกินปี 2553 กระทรวงหลักอย่างพาณิชย์ แกนนำรัฐบาลไม่ดูแล แต่ให้พรรคร่วมดูแลแทนซึ่งน่าเสียดาย เช่น คลังข้าวโพด เป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่ไปขัดกับรองนายกฯด้านเศรษฐกิจ สุดท้ายเอารองนายกฯด้านความมั่นคงมาช่วยดูแล ซึ่งคนละเรื่องกันเลย นอกจากนี้ ตนไม่มั่นใจในเงินกู้ เพราะนโยบายเศรษฐกิจที่ผ่านมา ไม่มีความชัดเจน เช็คช่วยชาติ ที่บอกว่า จะกระตุ้นจีดีพีร้อยละ 1 ปรากฏว่า แจก 8 ล้านกว่าฉบับ มีไม่มารับ 1.2 พันล้านบาท ผลประโยชน์ไม่ตกธนาคารของรัฐ แต่ตกที่ธนาคารเอกชน และยังมีการจ่ายแบบอิลุ่ยฉุยแฉก แต่คนจน เกษตรกรถูกละเลย ส่วนต้นกล้าอาชีพ งบ 6.9 พันล้านบาท หวังว่าจะแก้ปัญหาการว่างงาน 5 แสนคน แต่วันนี้ ช่วยได้ ไม่เกิน 7-8 หมื่นคน เบิกจ่ายไปพันกว่าล้านเท่านั้น แถมรัฐบาลยังจะทำต้นกล้าอาชีพงบ 7พันล้านบาท เฟส 2 ทั้งที่ยังไม่มีการประเมินผล

นายประเสริฐ กล่าวว่า รัฐบาลเก็บภาษีไม่เข้าเป้าช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ ส่วนสถาบันการเงิน ไม่ได้ปล่อยเงินกู้ให้แก่เอกชนทั้งที่มีเงินฝากจำนวนมาก เพราะรัฐบาล ปล่อยให้ดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝาก มีส่วนต่าง 600 เปอร์เซ็นต์ แถมรัฐบาลจะกู้ธนาคารพาณิชย์หลายแสนล้านบาท ธนาคารก็เตรียมจะให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า อยากให้รัฐบาลดูแนวทางนโยบายสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทัหษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ให้ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส รัฐบาลนี้กล้าตัดงบซื้ออาวุธของกองทัพหรือไม่ ที่ผ่านมาหลังปี 49 กองทัพมีงบผูกพันสูงมาก ถึงปี 53 จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท ปี 54 จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท กล้าตัดไขมันส่วนเกินหรือไม่ในภาวะแบบนี้

นายประเสริฐ กล่าวว่า การเพิ่มรายได้ รัฐบาลใช้แค่นโยบายการคลัง คือเพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐ แต่ไม่สนใจนโยบายการเงิน แต่ไม่สนการท่องเที่ยว การบริโภคที่กระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก นั่นคือการเพิ่มราคาพืชผลการเกษตร ทั้งหมดดูและไม่มีส่วนที่กระตุ้นระดับรากหญ้า ทั้งที่น่าจะต่อยอดกองทุนหมู่บ้าน หรือ เอสเอ็มแอล โอท็อป ทุกครั้งที่ประชาธิปัตย์เข้ามา มักอุ้มคนรวย ไม่ช่วยคนจน และคิดว่า แผนไทยเข้มแข็ง จะพาประเทศล่ม

กอปรศักดิ์ยันรบ.ให้ความสำคัญเกษตรกร

เวลา 15.00 น. นายกอปรศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ชี้แจงว่า ปัญหาเกษตรกร รัฐบาลให้ความสำคัญ แต่ยังไม่ตกผลึก 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างเรื่องการประกันราคาข้าว อย่างไรก็ดี ตอนนี้ที่ทำแล้วคือ ประกันรายได้ขั้นต่ำ และที่เลือกมันสำปะหลังก่อน เพราะง่ายกว่า โดยมีการหารือกับเกษตรกรชาวไร่มัน ช่วยกันดูว่า ต้นทุนเท่าไหร่ เมื่อได้ตัวเลข รัฐบาลก็จะประกันรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งอยู่ที่ 1.70 บาทต่อกิโลกรัม มีเสียงตอบรับที่น่าจะใช้ได้ โดยเกษตรกรชอบระบบประกัน เพราะจะได้ทุกคนสำหรับคนที่มาจดทะเบียนกับกระทรวงเกษตร แต่ที่มีการเข้าใจผิดกันอยู่บ้างคือ เข้าใจกันว่า เกษตรกรทำนาจะได้ประกันเช่นกัน จากการที่กรอ.บอกนำร่องไปก่อนก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ารวมกับโควตาเดิม ทั้งนี้ตนยอมรับข้อผิดพลาด โดยรีบแก้ไขแล้วคือประชุม กขช. และมีมติออกมาว่าให้ธกส.ไปเริ่มนำร่องการประกันราคาข้าวหอมมะลิ 2 แสนตัน ใน 8 จังหวัดนำร่อง โดยเริ่มเดือนกรกฎาคมนี้ นอกจากนี้ที่พยายามทำตอนนี้คือ ดูราคาจริง และใช้ระบบประกันรายได้ขั้นต่ำ เข้าช่วยโดยที่ไม่ได้ประกันสินค้าตัวหนึ่งตัวใดโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังปัญหาการไม่มีทะเบียนเกษตรกรปัจจุบันชัดเจน รัฐบาลจึงจ้างคน 8 พันกว่าคน สำรวจทำทะเบียเกษตรกรทุกประเภทใช้เวลา 4 เดือน เพื่อ ป้องกันสินค้าเกษตรจากอาเซียนเข้ามา

นายกอปรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนต้นกล้าอาชีพ เป็นโครงการที่ใช้เงินเป็นระยะยาว และมีเป้าระยะยาวคือ อบรมเดือนละ 4 หมื่นคน เป็นเวลา 6 เดือน ส่วนงบประชาสัมพันธ์ที่ใช้ไปก็เพื่อให้ประชาชนทราบทั่วถึง และมีประชาชนสมัคร 1.4 แสนคน เดือนแรกฝึกได้ 1.9 หมื่นคน แต่เดือนพฤษภาคม ฝึกได้ 5 หมื่นกว่าคน และมีโครงการที่เพิ่มขึ้นคือคืนครูให้นักเรียน ซึ่งเปิดรับสมัครเพียง 1.4 หมื่นคน แต่มีคนมาสมัครถึงแสนกว่าคน ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้ส่วนหนึ่งจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ นอกจากนี้ยังจะมีการขยายสาขาอื่นออกไป โดยมีระบบการประเมินศักยภาพด้วย

พท.ไม่เชื่อมั่นประสิทธิภาพใช้เงิน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า โครงการไทยเข้มแข็งไม่มีความชัดเจน ยังเป็นที่เคลือบแคลงเรื่องการกระจายตัวของพื้นที่แต่ละโครงการ ตัวอย่างเช่น โครงการชลประทาน งบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท กลับกระจุกตัวอยู่แค่ 3-4 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎรธานี ชลบุรี ระยอง ซึ่งควรจะต้องให้ความเป็นธรรมในเรื่องการกำหนดโครงการแต่ละพื้นที่ ส่วนโครงการถนนปลอดฝุ่น 7,200 กิโลเมตร ไม่ทราบกรมทางหลวงชนบท จะทำทั่วถึงหรือไม่

อัดไม่มีโครงการกระตุ้นระยะสั้น

นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ อภิปรายว่า ขณะนี้เงินฝากมีดอกเบี้ยเพียง 1 % ขณะที่เงินกู้ 5.6 % ธนาคารพาณิชย์จะใช้โอกาสนี้ในการซื้อพันธบัตรของรัฐบาลเพราะได้กำไรมาก โดยที่ไม่สนใจกับผู้ประกอบการรายย่อย ทำให้เกิดความลักลั่นในสังคม

"รัฐบาลจะต้องลงน้ำหนักในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน 5-6 เดือนจากนี้ไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติ แทนที่จะไปเก็บภาษีจากผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล เพราะหากทำเช่นนี้ก็จะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยขาดสภาพคล่อง และจะกลับบ้านเก่าเสียก่อนรัฐบาลจะต้องทำให้การค้ามีความเสี่ยงน้อยที่สุด โดยรัฐบาลอย่าให้ข้อมูลแบบแกว่งซ้ายแกว่งขวา รัฐมนตรีแต่ละคนพูดไม่เหมือนกันเพราะจะทำให้เกิดความสับสนไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนนายวิรุฬ กล่าว

กรณ์ แจงใช้จ่ายเงินกู้โปร่งใส

จากนั้นเวลา 18.40 น. นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ แบ่งเป็น สมทบเงินคงคลัง 2 แสนล้านบาท มาจากการตั้งงบประมาณขาดดุลของปีงบประมาณ 2552 และงบเพิ่มเติมกลางปีงบประมาณ 2552 รวม 3.47 แสนล้าน และการจัดเก็บรายได้ไม่ได้เป็นไปตามคาดการณ์ไว้แต่เดิม และเก็บได้ต่ำกว่า เป็นจำนวน 2.8 แสนล้าน รวม 6.2 แสนล้านบาท รัฐบาลกู้ได้ 4.2 แสนล้านบาท จึงขาดเงินอีก 1.8 แสนล้าน มีความจำเป็นรีบด่วนที่ต้องนำเงินกู้มาสมทบเงินคงคลัง อีกส่วนหนึ่ง 2 แสนล้านบาท คือ การดำเนินการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่พร้อมทำได้ปี 53-55 เงินลงทุนรวม 1.4 ล้านล้านบาท โดยจะเริ่มปี 53 จำนวน 3.7 แสนล้านบาท จึงต้องขอกู้เงินดังกล่าวเพื่อเป็นไปตามแผน รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นต่อสภา จะดำเนินการกู้และใช้จ่ายด้วยความโปร่งใส โดยยึดถือประโยชน์ประชาชนชาวไทยเป็นที่ตั้ง

นายกรณ์ กล่าวว่า เงินกู้ 4 แสนล้านบาทเป็นแหล่งเงินสำคัญที่จะรองรับแผนปฏิบัติการ ที่เป็นการลงทุนครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศ จะนำมาซึ่การพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับชีวิต สร้างงานสร้างรายได้ วันนี้สมาชิกอภิปรายความต้องการของประชาชน เช่น เกษตรกร คุณภาพการศึกษา การสาธารณสุข หรือการเข้าถึงเส้นทางถนนของชาวชนบท การเข้าถึงแหล่งน้ำ รถไฟฟ้า ความจำเป็นที่รัฐบาลต้องมาช่วยผู้ประกอบการรายเล็กและการท่องเที่ยว ทั้งหมด 6 พันโครงการทั่วประเทศ ด้วยเงินจำนวนนี้ ตามหมวดต่างๆ ที่สมาชิกวิเคราะห์ มีการพูดว่า รัฐบาลเอาข้อมูลเท็จมาชี้แจง โดยระบุว่า เงินชดเชยเงินคงคลัง เพียง 1.1 แสนล้านบาทเท่านั้น ที่เหลือคือมาลงทุนโครงการ ขอชี้แจงว่าบางโครงการยังไม่พร้อมเริ่มปีงบประมาณนี้ ซึ่งโครงการที่ไม่พร้อมนี้จะไปอยู่ในร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้าน ส่วนโครงการที่พร้อมดำเนินการ ใช้เงินจำนวน 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งปี 52 -53 บางโครงการจะดำเนินการได้จำนวน 3.8 แสนล้านบาท จะอยู่นอกเหนือจากการลงทุนของพ.ร.บ.งบประมาณปี 53

นายกรณ์ กล่าวว่า เมื่อแผนไทยเข้มแข็งเป็นการลงทุนครั้งประวัติศาสตร์ ความโปร่งใสจึงสำคัญ เพราะ 6 พันโครงการ มาจากการประเมินจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ครม.ยังแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและประเมินผล มีนายพนัส สิมะเสถียร อดีตปลัดกระทรวงการคลัง นายนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เป็นกรรมการ เป็นต้น มีหน้าที่ติดตามประเมินผลและรายงานต่อครม.เศรษฐกิจทุกอาทิตย์ ส่วนการวิจารณ์นโยบายการตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ภายใต้งบกลางปีที่รัฐบาลต้องการให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ขอชี้แจงว่าการเบิกจ่าย ประสบความสำเร็จมาก ทั้งเช็คช่วยชาติ เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้บอสม. การเรียนฟรี ส่วนผลในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจ ลองดูภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลเก็บได้ มีนาคมปีนี้เทียบกับมีนาคมปีที่แล้ว ติดลบ 8.9 เปอร์เซ็นต์ พอถึงเมษายนที่นโยบายของรัฐบาลลงไป ภาษีมูลค่าเพิ่ม ปรับลดเทียบกับปี่ที่แล้วลดลง คือ ลบ 5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเดือนพฤษภาคม 3.9 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนว่าการบริโภคดีชึ้น มั่นใจว่ามาจากแผนกระตุ้นระยะสั้นของรัฐบาล

"เม็ดเงินโดยรวม 8 แสนล้าน จะถึงประชาชนเท่าไหร่ รัฐบาลขอยืนยันว่า ไม่ใช่แค่นี้แต่เป็น 1.4 ล้านล้านบาท เป็นการลงทุนที่มีคุณค่าจะถึงมือประชาชน และรัฐบาลจะลงทุนโดยไม่มีเลือกปฏิบัติ เม็ดเงินลงทุนกระจายทุกจังหวัดทั่วประเทศ นายกรณ์ กล่าว

หมอแว ห่วงงบแก้ใต้ไม่มีใบเสร็จ

นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ ส.ส.นราธิวาส พรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า การกำหนดวงเงินงบประมาณแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เพิ่มขึ้นทุกปี อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน แต่ไม่สามารถนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ เชื่อว่าน่าจะมีการหาประโยชน์จากวงเงินงบประมาณดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์รู้ดีเพราะมีการเบิกจ่ายงบฯโดยไม่มีใบเสร็จ ให้ลูกน้องเสี่ยงตายอยู่แนวหน้า ส่วนหัวหน้าอยู่แถวหาดใหญ่หรือ กรุงเทพฯ ไม่ทราบว่าการตั้งงบประมาณรองรับไว้อีก 3 ปีข้างหน้าวงเงิน 7 หมื่นล้านจะแก้ปัญหาความไม่สงบได้หรือไม่

นายกฯ แจงเพื่อบูรณาการปัญหา

เมื่อเวลา 19.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นกล่าวชี้แจงว่า การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่นั้น ตนยืนยันว่ายังมีแนวคิดนี้อยู่ และล่าสุด ตนได้เชิญฝ่ายความมั่นคงมาคุยกันอีกครั้ง โดยพบว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนมากที่ต้องมีการปรับโครงสร้าง ซึ่งตนได้สั่งให้คณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษชายแดนภาคใต้(ครม.ภาคใต้)เข้าไปดูเรื่องการพัฒนาแบบบูรณาการ รวมทั้งประสานงานกับฝ่ายความมั่นคงให้มากขึ้น สำหรับประเด็นเรื่องงบประมาณที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า แม้ที่ผ่านมามีการทุ่มงบไปมาก แต่มีเสียงสะท้อนว่าไปไม่ถึงประชาชนนั้น ครั้งนี้จึงไปเริ่มที่แผนพัฒนาโดย ครม.ภาคใต้ โดยตั้งโจทย์ว่าจะทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มให้ทัดเทียมกับภาคอื่นๆด้วยการสร้างงานสร้างอาชีพ ทั้งนี้ การจัดงบฯต้องสอดคล้องกับภาคประชาชนอย่างแท้จริง

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนการระบุว่า กอ.รมน.มีบทบาทมากนั้น ที่จริงแล้ว กอ.รมน.ไม่ใช่ข้าราชการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการบูรณาการจากหลายๆฝ่าย นอกจากนี้ต้องยอมรับว่าการจัดทำงบประมาณและการเข้าไปในพื้นที่เพื่อพัฒนานั้น ต้องมีฝ่ายความมั่นคงเข้าไปมีบทบาทด้วยเพื่อเข้าไปอำนวยการและรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ตนจะวัดความสำเร็จของงานด้วยความสามารถลดกำลังพลและการปรับลดงบฯเข้าสู่ภาวะปกติ โดยไม่ได้คิดว่าการเพิ่มคนและเงินเข้าไปอย่างไม่รู้จบจะเป็นแนวทางแก้ปัญหา

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตนเชื่อว่าไม่มีใครสบายใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ต้องให้ความเป็นธรรมในช่วงการปรับเปลี่ยนนโยบายที่กำลังประกาศอยู่ในขณะนี้ เพราะงบประมาณที่พูดถึงยังไม่ถูกนำมาใช้ และหน่วยงานที่เพิ่งตั้งมาใหม่ก็กำลังรองบประมาณก้อนใหม่ลงไป จึงยังไม่มีการเริ่มต้นอย่างแท้จริง ทั้งนี้ขอให้มั่นใจว่าเราจะไม่หวนกลับไปใช้ความรุนแรง ซึ่งรู้ดีว่าการประกาศใช้นโยบายแบบนี้ต้องถูกกบางฝ่ายท้าทายและทดสอบว่ารัฐบาลยังยืนยันใช้แนวทางนี้หรือไม่ ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าจะใช้แนวทางการพัฒนาและการเมืองเป็นตัวนำในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ตนได้กำชับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าการให้ความยุติธรรมกับประชาชนคือหัวใจในการแก้ปัญหา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook