นักวิจัยชี้ว่านจักจั่นเป็นแมลงติดเชื้อราไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์

นักวิจัยชี้ว่านจักจั่นเป็นแมลงติดเชื้อราไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ร่วมกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) และโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการบีอาร์ที) จัดการเสวนาเรื่อง ว่านจักจั่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือความเข้าใจผิดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน

ดร.สายัณห์ สมฤทธิ์ผล นักวิจัยห้องปฏิบัติการราวิทยา ไบโอเทค กล่าวว่า ขณะนี้หลายจังหวัดของประเทศไทย โดยเฉพาะ จ.อุดรธานี และหนองบัวลำภู มีการนำว่านชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ว่านจักจั่น มาบูชากราบไหว้ เป็นเครื่องราง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยมีราคาซื้อขายตั้งแต่ 199-5,000 บาท และหากว่านจักจั่นมีสีขาวมากเท่าไหร่ ราคาก็จะสูงขึ้นหลักหมื่นไปจนถึง 5 หมื่นบาท ทั้งๆที่สีขาวที่เกิดขึ้นบนว่านดังกล่าว เป็นใยจากเชื้อรา และที่สำคัญ ว่านจักจั่น ไม่ใช่พืชหรือว่านอย่างที่เข้าใจ แต่เป็นตัวจักจั่น ซึ่งเป็นแมลงที่ตายจากการติดเชื้อราเท่านั้น

ดร.สายัณห์ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้นำตัวอย่างจักจั่นดังกล่าวมาตรวจวิเคราะห์พบว่า มีเชื้อราสายพันธุ์ คอร์ไดเซฟ แต่ยังไม่สามารถระบุชนิดแตก่อยได้ เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นเชื้อราสายพันธุ์ คอร์ไดเซฟ ชนิด โซโบลิเฟอรา (Cordyceps sobolifera) ซึ่งจะมีการตรวจสอบให้แน่ชัดว่า เชื้อราชนิดนี้ก่อโรคในคนหรือไม่ โดยเฉพาะอาการท้องเสียหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านมีการนำไปรับประทาน เพระมีความเชื่อว่าจะทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่กลับท้องเสียอย่างหนัก ดังนั้น ไม่ควรรับประทานเป็นดีที่สุด เพราะอาจก่ออันตรายได้ อย่างไรก็ตาม โดยปกติเชื้อราสายพันธุ์นี้จะไม่ก่อโรคในคน แต่จะจำเพาะก่อโรคในแมลงเท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้ก็อาจเกิดอาการแพ้ได้ เนื่องจากราบนตัวจักจั่นที่ขุดขึ้นมาอาจยังมีชีวิตอยู่ และสร้างสปอร์ได้ อีกทั้ง แม้จะมีการนำจักจั่นมาทำความสำอาด ทาแลคเกอร์เคลือบก็อาจยังมีราหลงเหลือ

ราเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ที่สำคัญในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน อากาศมีความชื้นสูง ดังนั้น หากเก็บรักษาไม่ดีก็จะทำให้เชื้อราชนิดอื่นๆมาเจริญเติบโตได้ และหากเป็นเชื้อราที่ก่อโรคในคนก็อาจเป็นอันตรายต่อผู้พกพา สิ่งสำคัญอยากฝากให้ใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจเลือกซื้อ เพราะมีราคาแพงมาก ซึ่งเราไม่ได้ต้องการขัดความเชื่อของชาวบ้าน แต่อยากให้รับรู้ว่า จริงๆ แล้ว ว่านดังกล่าวเป็นเพียงแมลงที่ตายแล้วเท่านั้น และไม่ใช่เพิ่งพบ มีการค้นพบมานานแล้วตั้งแต่ปี 2544 นักวิจัย กล่าว

ดร.สายัณห์ กล่าวอีกว่า เชื้อราพวกนี้ไม่ได้พบขึ้นแค่จักจั่นเท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ในหนอน ด้วง แมลงวัน มวน เพลี้ย ผีเสื้อ ปลวก แมงปอ และแมงมุม ซึ่งชนิดของราก็แตกต่างกันไป โดยในประเทศไทย นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายของราแมลงสูงมาก มีการศึกษาค้นพบราแมลงกว่า 400 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นราแมลงชนิดใหม่ถึง 150 ชนิด ซึ่งราแมลงหลายชนิดมีความมหัศจรรย์ เพราะอาศัยในแมลงเจ้าบ้านที่จำเพาะเจาะจง โดยเฉพาะแมลงศัตรูพืช และมีการนำราแมลงมาประยุกต์ใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชด้วย รวมทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นยา จำพวกยาเพนนิซิลิน เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook