พิษซื้อลำไยปี47พ่นพิษ เกษตรกร-กำนัน-ผญบ.ลำพูนกว่าครึ่งหมื่น ผวาติดคุกยกแผง

พิษซื้อลำไยปี47พ่นพิษ เกษตรกร-กำนัน-ผญบ.ลำพูนกว่าครึ่งหมื่น ผวาติดคุกยกแผง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ศาลฎีกาพิพากษากักขัง ผช.ผญบ.แจ้งข้อความเท็จ-ปลอมแปลงเอกสารรับซื้อลำไย ปี 47 นัดตัดสิน 29 มิ.ย. ดีเอสไอลงพื้นที่ชี้หากถูกลงโทษพร้อมกันจริง เกษตรกร-กำนัน-ผญบ.อาจหายหมดทั้งตำบล รองปลัด ยธ. ชี้เป็นปัญหาทางกระบวนการยุติธรรม แนะชาวบ้านยื่นถวายฎีกา-รออุทธรณ์ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวบ้านจากจังหวัดลำพูนจำนวนหนึ่ง เดินทางเข้าร้องขอความเป็นธรรมกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีเกี่ยวข้องกับการทุจริตการรับซื้อลำไยเมื่อปี 2547 อย่างไม่เป็นธรรม โดยนายพีระพันธุ์สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบเรื่องความไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นการทุจริต เนื่องจากคดีการทุจริตลำไยบางส่วน เจ้าหน้าที่ตำรวจสรุปสำนวนส่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และพนักงานอัยการสั่งฟ้องบ้างแล้ว อีกทั้งบางรายศาลฎีกายังมีคำพิพากษาไปแล้ว

ดังนั้น ดีเอสไอจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ส่วนประเด็นที่ชาวบ้านอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม มอบหมายให้ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย รองอธิบดีดีเอสไอ เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง

พ.ต.อ.สุชาติกล่าวว่า ส่งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด พบว่ามีชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน และกำนัน 4,000-5,000 คน กลายเป็นผู้ต้องหา และเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552 มีคำพิพากษาศาลฎีกา เลขที่ 2592/2552 สั่งกักขังนายซอน หล้าอรี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ต.เหมืองจี้ อ.เมือง จ.ลำพูน 2 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และให้นัอจากคดีอื่นๆ อีก 17 คดี ฐานแจ้งข้อความเท็จกับเจ้าพนักงาน และปลอมแปลงเอกสารรับซื้อลำไย ปี 2547 สาเหตุที่ศาลไม่รอลงอาญาเนื่องจากเห็นว่า จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐต้องรู้ขั้นตอนของรัฐ รวมทั้งในวันที่ 29 มิถุนายน ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาในคดีอื่นด้วย หากศาลฎีกามีคำพิพากษาเหมือนกันทั้ง 17 คดี นายซอนจะต้องถูกกักขังรวม 2 ปี 10 เดือน

พ.ต.อ.สุชาติกล่าวว่า เมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาเช่นนี้ ทำให้ชาวบ้านที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีลักษณะเดียวกัน จึงเกิดความวิตกกังวลว่าอาจจะถูกศาลสั่งจำคุกเช่นกัน อีกทั้งบทลงโทษยังให้นับต่อเนื่อง เพราะบางคนมีคดีถึง 60 คดี ถ้านับต่อเนื่อง บางคนต้องจำคุกเกือบ 10 ปี จึงต้องมาร้องขอความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม หากชาวบ้านต้องรับโทษพร้อมกันจริง บางหมู่บ้านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะหายไปเกือบทั้งตำบล และขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อทำรายงานเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ด้านนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ทราบ เรื่องดังกล่าวแล้ว และคิดว่า เป็นปัญหาทางกระบวนการยุติธรรมพอสมควร แต่กระทรวงยุติธรรมคงไม่สามารถเข้าไปแก้ไขในส่วนที่ศาลพิพากษาไปแล้ว ผู้เสียหายต้องยื่นถวาย ฎีกาขออภัยโทษเพียงอย่างเดียว ส่วนกลุ่มผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีต้องรอยื่นอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลเห็นว่าไม่มีเจตนาทุจริตให้ได้

รายงานข่าวแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอลงไปตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่พบว่าสำนวนคดีกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านที่ลงนามในเอกสาร ใบรับซื้อลำไย หรือ ลย.1 ทุกคนจะรับสารภาพข้อกล่าวหาในชั้นพนักงานสอบสวน ดังนั้นเมื่อสำนวนถูกส่งไปยังพนักงานอัยการ จะเสนอศาลพิจารณาได้ทันที เนื่องจากโทษไม่เกิน 5 ปี ไม่ป็นต้องสืบพยานไต่สวน เพราะรับสารภาพ เป็นไปตามขั้นตอนตามปกติของการพิจารณาของศาล

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ มีชาวบ้านบางคนอ้างว่าสาเหตุที่ต้องรับสารภาพเพราะมีเจ้าหน้าที่บางคนบอกว่าให้รับสารภาพไปก่อน ศาลจะสั่งให้รอลงอาญา ไม่ติดคุกแน่นอน จึงยอมทำตาม

รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากนี้ดีเอสไอยังพบว่า การดำเนินคดียังมีข้อน่าสงสัยอีกหลายประเด็น เช่น กรณีการลงนามในใบ ลย.1 ทำไมเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯหรือเกษตรอำเภอไม่ถูกดำเนินคดีด้วย เพราะคำให้การชาวบ้านระบุว่า เอกสาร ลย.1 ที่ส่งมาให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีลายเซ็นเจ้าหน้าที่ผู้รับขึ้นทะเบียนมาก่อนแล้ว ดังนั้น ผู้ใหญ่บ้านและกำนันในพื้นที่จึงลงนามรับรองให้เกษตรทันที ส่วนรายละเอียดจำนวนพื้นที่เพาะปลูก เกษตรกรจะเป็นผู้กรอกรายละเอียดทั้งหมด จากนั้นจะไปส่งให้เกษตรอำเภอด้วยตนเอง

รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของเกษตรกรนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการสอบ สวนผู้เกี่ยวข้องประมาณ 2,200 คน โดยเป็นเกษตรกรที่เป็นผู้รวมสิทธิประมาณ 1,300 ราย เกษตรกรที่แจ้งขึ้นทะเบียนเท็จประมาณ 800-900 ราย นอกจากนี้ ยังมีพนักงานองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) ประจำหน่วยซื้อ 47 ราย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook