“ตชด.” จับมือ “กสศ.” ลง MOU เพื่อช่วยเหลือนักเรียน รร.ตชด ทั่วประเทศ

“ตชด.” จับมือ “กสศ.” ลง MOU เพื่อช่วยเหลือนักเรียน รร.ตชด ทั่วประเทศ

“ตชด.” จับมือ “กสศ.” ลง MOU เพื่อช่วยเหลือนักเรียน รร.ตชด ทั่วประเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บช.ตชด.- กสศ.ลง MOU ลดเหลื่อมล้ำใน รร.ตชด. ค้นหาคัดกรอง สร้างฐานข้อมูล ชี้เป้าความช่วยเหลือนักเรียนใน 218 รร. ทั่วประเทศได้แล้ว ด้าน กสศ. ช่วยเติมเงินอุดหนุนทุนเสมอภาคปี 62 ให้นักเรียนอนุบาล-มัธยมใน รร.ตชด. เหตุชีวิตด้อยโอกาสยากลำบาก เสี่ยงไม่ได้เรียน พร้อมชวนภาคเอกชนร่วมสมทบความช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มนี้

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนแบบมีเงื่อนไข และพัฒนาคุณภาพครู” ให้กับโรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนทั้ง 218 แห่ง

พล.ต.ท.วิชิต ปักษา รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เปิดเผยว่า โรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนประสบภาวะความยากลำบากและข้อจำกัดหลายด้าน ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของครู การจัดการเรียนการสอน และคุณภาพของเด็กนักเรียน ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย ปัจจุบันมีสถานศึกษาในสังกัด บช.ตชด. รวมทั้งสิ้น 218 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียน ตชด. จำนวน 168 โรง และศูนย์การเรียน ตชด. จำนวน 50 ศูนย์ โดยกว่าร้อยละ 20 เป็นโรงเรียนที่เดินทางยากลำบากมาก ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยรถยนต์ในทุกฤดู นักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจนด้อยโอกาส และส่วนหนึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยไม่รู้ภาษาไทย จึงเป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอน ประกอบกับเด็กนักเรียนมักขาดเรียนบ่อย อันมีสาเหตุจากการเดินทางที่ยากลำบากโดยเฉพาะช่วงฤดูฝน มีการอพยพย้ายตามผู้ปกครอง และประสบปัญหาภาวะโภชนาการและสุขภาพอนามัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและการเรียนรู้ของเด็ก

พล.ต.ท.วิชิต ปักษา รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) พล.ต.ท.วิชิต ปักษา รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)

พล.ต.ท.วิชิต กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาที่เพียงพอ เนื่องจากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนไม่ใช่หน่วยงานหลักในการจัดการศึกษา ทำให้โรงเรียนสังกัด บช.ตชด. มีข้อจำกัดในเรื่องการบริหารและจัดการศึกษามาโดยตลอด นอกจากนี้ยังพบว่า ครู รร.ตชด. ส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิทางการศึกษา หรือไม่ตรงตามสาขาวิชา อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาได้มีความพยายาม พัฒนาครู รร.ตชด. ให้ได้รับวุฒิทางการศึกษา เช่น การให้ทุนสนับสนุน การปรับเวลาเรียนให้สอดคล้องกับสภาพการทำงาน การศึกษาทางไกล แต่ด้วยข้อจำกัด เช่น ภาระงานที่หนักหลายด้านจึงทำให้ครูส่วนหนึ่งต้องตัดสินใจหยุดการศึกษากลางคัน ภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางเนื่องจากที่ตั้งของบางโรงเรียนซึ่งอยู่ในพื้นที่สูงห่างไกลคมนาคมทำให้ไม่สามารถศึกษาต่อได้ การจัดหลักสูตรเป็นมาตรฐานเดียว ทำให้รายวิชาตามหลักสูตรไม่สอดคล้องกับสภาพจริงในการปฏิบัติงานของครู รร. ตชด. ซึ่งความร่วมมือกับกสศ. ในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนและให้โอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาค รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการเรียนการสอนและช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนให้ดียิ่งขึ้น

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษานพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ตลอดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาครูสังกัด ตชด. กว่า 2,000 คน จาก 218 โรงเรียน ได้ลงพื้นที่ค้นหา คัดกรองนักเรียนที่มีความยากลำบากซึ่งอยู่ในพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนทั้งหมด โดยกรอกข้อมูลลงในระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ iSEE ของ กสศ. ทำให้ขณะนี้ กสศ. มีฐานข้อมูลที่สามารถชี้เป้านักเรียนที่มีความยากลำบากใน รร.ตชด. ที่แสดงสถานะความยากจนด้อยโอกาส ภาวะพึ่งพิง สภาพที่อยู่อาศัย ฯลฯ ซึ่งระบบการคัดกรองจะเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับโรงเรียนสังกัดอื่นๆ ที่ร่วมโครงการกับ กสศ. ทั้งหมด และสามารถติดตามผลการช่วยเหลือได้เป็นระยะ ทั้งการมาเรียน ผลการเรียน สุขภาพ ได้ตลอดเวลา

ที่ผ่านมานักเรียนในโรงเรียนสังกัด บช.ตชด. ไม่เคยได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนมาก่อน ในขณะที่สภาพความเป็นจริงนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะทางบ้านยากจนด้อยโอกาส และอาจให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาของบุตรหลานค่อนข้างน้อย เพราะต้องดิ้นรนทำงานเพื่อการยังชีพเป็นหลัก ประกอบกับสภาพพื้นที่อยู่อาศัยมีความยากลำบากในการเดินทาง พื้นที่เสี่ยงภัยตามแนวตะเข็บชายแดน ทำให้นักเรียนเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ในปีการศึกษา 2562 กสศ. จะจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคในโรงเรียนสังกัด บช.ตชด. โดย ล่าสุด ครูตชด.ได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน บันทึกข้อมูลนักเรียนเข้ามาในระบบ iSEE จำนวน 15,787 คน คัดกรองเรียบร้อยแล้วจำนวน 13,037 คน คิดเป็นร้อยละ 82 โดยนักเรียนกลุ่มนี้ มาจากครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 1,200 บาท/คน/เดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างการประมวลผลการคัดกรองโดยจะมีการแจ้งรายชื่อนักเรียนทั้งหมดที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองของ กสศ. ภายในปลายเดือนกรกฎาคมนี้

“เนื่องจากนักเรียนกลุ่มนี้ไม่เคยได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนมาก่อน ดังเช่นนักเรียนสังกัด สพฐ. และ อปท. ในปีการศึกษา 2562 กสศ. จึงจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติม โดยแบ่งเป็น นักเรียนระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษา จัดสรรในภาคเรียนนี้ละ 1,500 บาทต่อคน นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาจัดสรรภาคเรียนละ 2,500 บาทต่อคน โดยทั้งหมดนี้จะอุดหนุนไปที่นักเรียนโดยตรง 50% เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการครองชีพ ค่าเดินทาง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้ได้ ขณะที่ อีก 50% จัดสรรให้กับทางโรงเรียนเป็นค่าอาหาร ค่ากิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพ ทักษะชีวิตเพื่อทางโรงเรียนนำไปขยายผล นำเงินอุดหนุนไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเด็กนักเรียนอย่างยั่งยืนได้ ทั้งนี้หากภาคเอกชนรายใดสนใจที่จะร่วมบริจาค สมทบเพิ่มเติมสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กสศ. หมายเลขโทรศัพท์ 0-2 079-5475” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา ของกสศ.ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา ของกสศ.

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา ของกสศ. กล่าวว่า กสศ. ยังสนับสนุนทางด้านวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการพัฒนาประสิทธิภาพ คุณภาพครูในโรงเรียนสังกัด บช.ตชด. เช่น การพัฒนาครูประจำการ การเพิ่มทักษะด้านวิชาการ เทคนิคการเรียนการสอน การเพิ่มวุฒิการศึกษาให้จบปริญญาตรี นอกจากนี้ กสศ. ยังมีโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เพื่อสนับสนุนทุนสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนยากจนด้อยโอกาสจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำที่สุดร้อยละ 20 แรกของประเทศในพื้นที่ห่างไกลที่อยากเป็นครู ด้วยการสนับสนุนทุนให้แก่นักศึกษา รุ่นละ 300 ทุนทั้งหมด 5 รุ่น รวม 1,500 ทุน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป ดังนั้นนักเรียนที่จบจากโรงเรียน ตชด. ที่มีความต้องการที่จะเป็นครู มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ก็สามารถที่จะขอรับทุนจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น และเมื่อเรียนจบก็จะได้กลับมาเป็นครูในพื้นที่ชุมชนตัวเอง ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาครูประจำการโยกย้ายบ่อยในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลเพราะไม่ใช่คนท้องถิ่น ลดปัญหาความเลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ๆ ห่างไกลได้ ตลอดจนเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิศมัย รัตนโรจน์สกุล หัวหน้าโครงการศึกษาข้อมูลเพื่อพัฒนารูปแบบและวิธีการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของครูในถิ่นทุรกันดาร กล่าวว่า จากข้อมูลปี 2562 ครูใน รร.สังกัด บช.ตชด.ประมาณ 1,457 คน พบว่า ไม่จบปริญญาร้อยละ 36 และที่จบปริญญาร้อยละ 64 โดยเป็นวุฒิทางการศึกษาร้อยละ 25 และไม่มีวุฒิทางการศึกษาร้อยละ 75 ผลการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ครูที่ไม่มีวุฒิทางการศึกษามีความต้องการศึกษาต่อเพื่อให้มีคุณวุฒิทางวิชาชีพครูเพิ่มขึ้น เพราะจะได้เรียนรู้เทคนิคการจัดการเรียนการสอนตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ยังพบว่า ยังมีความต้องการสื่อและอุปกรณ์ทางการศึกษาให้เพียงพอและเหมาะสมสำหรับการพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่เด็กนักเรียน

อย่างไรก็ตามจากผลการสำรวจเบื้องต้นนี้ กสศ. ควรที่จะนำข้อค้นพบไปวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้การเกิดการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ตชด.ทั้ง 218 แห่ง ทั่วประเทศได้อย่างเหมาะสมต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook