ป.ป.ช.เผยอดีตเลขาฯ สปส.ปิดข้อมูลคอมพ์ฉาว จนบอร์ดอนุมัติ พท.ข้องใจตัดตอน เชื่อนักการเมืองชักใย

ป.ป.ช.เผยอดีตเลขาฯ สปส.ปิดข้อมูลคอมพ์ฉาว จนบอร์ดอนุมัติ พท.ข้องใจตัดตอน เชื่อนักการเมืองชักใย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เผยเหตุอดีตเลขาฯ สปส.โดยฟัน วินัย-อาญา ป.ป.ช.พบปิดข้อมูลคอมพ์ฉาว จนบอร์ดหลงเชื่ออนุมัติ ยังรวบรัดลงนามสัญญา ทั้งที่ปลัดสั่งชะลอ ส.ส.เพื่อไทยข้องใจตัดตอน จี้เอาผิดบอร์ดด้วย เชื่อมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ถึงรายละเอียดของ มติชี้มูลความวินัยและอาญา นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการทำสัญญาเช่า จัดหา และดำเนินการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงานของ สปส.มูลค่า 2,894 ล้านบาท ว่า อนุกรรมการไต่สวนฟังข้อเท็จจริงได้ว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ชุดที่ 9 มีนายไพโรจน์เป็นกรรมการและเลขานุการ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบสนับสนุนโครงการจัดหาและดำเนินงานคอมพิวเตอร์และสารสนเทศแรงงาน ในระหว่างกระบวนการประกาศเอกสารรายละเอียดการประกวดราคา หรือทีโออาร์ คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์และกลั่นกรองงบฯลงทุนประกันสังคมได้ตั้งข้อสังเกตโครงการและมีมติให้นำข้อสังเกตต่างๆ เสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคมหลายครั้ง อาทิ 1.การใช้เงินกองทุนประกันสังคมไปก่อน แล้วค่อยให้หน่วยงานของบฯมาชดเชยภายหลังไม่น่าจะทำได้ 2.ให้ไปขอความเห็นจากอัยการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของบอร์ดที่อ้างว่าใช้เงินกองทุนได้มาเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่เป็นความเห็นส่วนตัวไม่เป็นทางการ เป็นต้น

นายกล้านรงค์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม นายไพโรจน์ ในฐานะกรรมการและเลขานุการบอร์ด ไม่ได้นำข้อสังเกตดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2549 แต่อย่างใด กลับชี้แจงต่อที่ประชุมว่า โครงการทั้งหมดเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนและ สปส.ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงขออนุมัตินำเงินกองทุน 2,894,136,000 บาท ไปใช้ในโครงการ ซึ่งที่ประชุมได้อนุมัติตามที่เสนอ ต่อมานายไพโรจน์ได้อนุมัติทีโออาร์พร้อมเปิดประมูลแบบ E-Auction มีผู้ยื่นซองประกวดเพียง 2 ราย และได้บริษัทเอกขนเสนอราคาต่ำสุด 2,894,136,000 บาท วันที่ 28 กันยายน 2549 นายไพโรจน์ได้ลงนามในฐานะผู้เช่าและบริษัทเอกชนลงนามในฐานะผู้ให้เช่า โดยไม่นำพากับข้อสังเกตของปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และไม่ดำเนินการตามที่ปลัดกระทรวงมีหนังสือขอให้ สปส.ชะลอโครงการไประยะหนึ่ง เพราะพิจารณาทบทวนว่าโครงการดังกล่าวมีประโยชน์และราคาสมเหตุสมผลหรือไม่ แม้ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีความเห็นว่าการที่ สปส.นำเงินกองทุนดังกล่าวไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายหรือเป็นเงินกู้ยืมไม่เป็นการใช้เงิน 10% ในการบริหารงานของ สปส.ตามมาตรา 24 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533

นายกล้านรงค์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่นายไพโรจน์ดำเนินโครงการอย่างเร่งรีบ เจตนาปกปิดข้อมูลสำคัญ และหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการ นำเงินกองทุนประกันสังคมไปใช้จ่ายในโครงการดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย เป็นเหตุให้มีการชะลอโครงการและมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลปกครองกลาง ทำให้เกิดความเสียหายทางราชการ การกระทำของนายไพโรจน์จึงมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง ฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดบมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ทั้งนี้ ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญากับนายไพโรจน์ต่อไป

ด้านนายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช.ชี้มูลนายไพโรจน์เพียงคนเดียวทั้งๆ ที่บอร์ดผู้อนุมัติโครงการควรมีความผิดด้วยว่า ป.ป.ช.ควรสอบสวนให้ลึก เพราะเชื่อว่าเรื่องนี้ต้องมีนักการเมืองและข้าราชการบางกลุ่มได้ประโยชน์ หรือแม้แต่บอร์ดก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

หากเรื่องนี้ถูกตัดตอนแค่อดีตเลขาธิการ สปส.คงไม่ยอม เพราะรู้อยู่ว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร มีอีกหลายโครงการส่อไปในทิศทางนี้อีก ผมอาจนำเรื่องเข้ากรรมาธิการแรงงานเพื่อขอสำนวน ป.ป.ช.มาตรวจสอบให้ลึกลงไปอีก นายสถาพร กล่าวและว่า โครงการคอมพิวเตอร์นี้กลับนำมาตัดต่อพันธุกรรมและดำเนินการต่อ ปรับเปลี่ยนชื่อเพื่อหลีกเลี่ยงบาลี ทั้งที่ส่วนใหญ่ยังคงเหมือนเดิม และไม่ได้ประมูลใหม่ ดังนั้นเมื่อชี้มูลชัดเจนว่าเกิดความไม่โปร่งใสตั้งแต่ต้น ทำไมจึงกลับเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป ถือเป็นเรื่องไม่ชอบมาพากล

ผมทราบมานายทุนบางคนวิ่งเต้นแถวพรรคการเมืองในซีกรัฐบาล ขณะนี้ สปส.ยังต้องจ่ายโครงการนี้ ดังนั้น คุณไพฑูรย์จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เรื่องนี้อาจกลายเป็นภาค 2 ของโครงการคอมพิวเตอร์ฉาวอีก นายสถาพรกล่าว

ด้านนายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดมติ ป.ป.ช. ต้องขอศึกษาก่อน และจะแถลงชี้แจงแต่ละประเด็นภายหลัง

ขณะที่นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย ในฐานะอดีตบอร์ดประกันสังคม กล่าวว่า เรื่องนี้ฝ่ายลูกจ้างไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้น แต่เป็นเรื่องที่ข้าราชการชงเรื่องขึ้นไปให้นักการเมืองผู้สั่งการ ดังนั้นสมควรที่ฝ่ายการเมืองเองต้องรับผิดด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook