เดินหน้าป้องกันไข้หวัดใหญ่2009

เดินหน้าป้องกันไข้หวัดใหญ่2009

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
โครงการไทยเข้มแข็ง

สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่เคารพ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้เดินทางไปเยือนประเทศที่เป็นประเทศอาเซียนด้วยกัน 2 ประเทศคือ มาเลเซียและกัมพูชา ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่นายกรัฐมนตรีที่เข้ามารับตำแหน่งจะต้องไปเยี่ยมเยียนประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน นอกเหนือจากนี้ งานรัฐบาลในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้ครับ

มาเลเซียพร้อมให้ความร่วมมือแก้ปัญหาภาคใต้

นอกจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ที่จะเป็นประโยชน์กับภาคใต้ของเราในกรอบของสามเหลี่ยมเศรษฐกิจหรือเขตความร่วมมือพิเศษต่าง ๆ ซึ่งทางมาเลเซียก็ได้แสดงจุดยืนท่าทีที่ชัดเจนว่าพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ โดยสนับสนุนการข่าว การดูแลพื้นที่บริเวณชายแดน และเรื่องการศึกษา

ไทย-กัมพูชาพร้อมเพิ่มพูนการค้าร่วมกัน

กรณีกัมพูชา ได้มีโครงการความร่วมมือ เรื่องถนนหนทาง ความเป็นไปได้ที่จะมีการสร้างเขื่อนในฝั่งของกัมพูชาเพื่อส่งน้ำมายังประเทศไทย และการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องแก๊สอยู่มากมาย ผู้นำทั้งสองเห็นว่า เป็นเรื่องที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดีขึ้น และจะต้องมีการส่งเสริมการเพิ่มพูนการค้าชายแดน รวมทั้งเรื่องของการเปิดจุดผ่านแดนมากยิ่งขึ้น

ส่วนปัญหาเขาพระวิหาร ผมกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเห็นตรงกันว่าการแก้ปัญหานี้ต้องแก้ด้วยสันติวิธีและจะต้องทำงานต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความระมัดระวังและรัดกุม ไม่ให้กระทบกระทั่งกันอีก ก็จะเน้นการประชุมปรึกษาหารือกันทุกระดับ เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

เปิดเผยไม่ปิดบังผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009

ปัญหาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เริ่มพบผู้ป่วยติดเชื้อในไทยและนักท่องเที่ยวที่มา เมื่อเขากลับไปก็มีรายงานว่าติดเชื้อ เราต้องย้อนไปตรวจสอบพื้นที่ต่าง ๆ รวมไปถึงในกรุงเทพมหานครในบางโรงเรียน ขอเรียนย้ำว่ารัฐบาลไทยจะใช้นโยบายเปิดเผย ไม่ปิดบังข้อเท็จจริง โดยการ ทำงานของเราจะเป็นไปในเชิงรุก ทำให้เราสามารถที่จะดูแลแก้ไขปัญหาได้

สิ่งที่ผมอยากจะเรียนกับพี่น้องประชาชนคือ อย่าตื่นตระหนกครับ ขณะนี้ดูจากสถิติทั่วโลกเห็นได้ชัดว่า อัตราการตายจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ต่ำมาก ต่ำกว่าไข้หวัดใหญ่ปกติ ทุกวันนี้มีผู้ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยทุกวัน เฉพาะที่สนามบินก็วันละหลายหมื่นคน หลายคนผ่านการตรวจเรื่องของอุณหภูมิมาได้ เพราะยังไม่มีอาการหรือถ้าสมมุติว่าเขากินยาแก้ไข้ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถตรวจได้ แต่เราใช้วิธีการในเชิงรุกรีบเข้าไปดูว่าใครติดเชื้อและรีบดูแลรักษา โดยพี่น้องประชาชนก็พึงใช้ความระมัดระวังเหมือนกับไข้หวัดปกติ หมั่นล้างมือ และเมื่อเห็นใครมีอาการ หรือตัวเองมีอาการ ก็ควรที่จะแยกตัวออกมา นักเรียนก็อย่าไปโรงเรียน เป็นต้น

ปรับโครงสร้างการแก้ปัญหาราคาพืชผลการเกษตร

รัฐบาลกำลังจะปรับโครงสร้างของการเข้าไปแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร มีตัวเลขที่น่าสนใจที่ผมเคยติดค้างไว้ ผมตรวจสอบแล้วพบว่า การรับจำนำที่ทำกันอยู่ ยกเว้นกรณีข้าวนาปรังมีเกษตรกรได้ประโยชน์ไม่ถึงร้อยละ 20 ดูจากข้าวโพด มันสำปะหลังและข้าวนาปี แต่เงินที่รัฐบาลใช้ไปอย่างฤดูกาลที่ผ่านมารวมกันแล้วมากกว่า 150,000 ล้านบาท ข้อเท็จจริงคือถ้าวันนี้พืชผลที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงถูกขายในราคาตลาด ก็จะขาดทุนถึง 35,000 ล้านบาท ตรงนี้เป็นโจทย์สำคัญที่ว่า ทำไมรัฐบาลต้องทบทวนให้มีโครงการที่ใช้เงินได้คุ้มค่าและเป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรทั่วถึงมากขึ้น

เตรียมพร้อมเดินหน้าโครงการไทยเข้มแข็ง

วันก่อนผมไปที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเป็นตัวอย่างของโครงการไทยเข้มแข็งที่รัฐบาลกำลังจะเอาเงินที่กู้ยืมในประเทศ โดยการออกพันธบัตรหรือกู้ยืมในประเทศมาใช้ลงทุน เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำจริง ๆ คือการลงทุนเพื่อความเข้มแข็งของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน จากการไปดูประตูระบด้านสาธารณสุข เป็นต้น

ถาม : โครงการรับจำนำกุ้งจะอนุมัติเมื่อไร ? (คุณเสริน จ.สงขลา / 08-6955-xxxx)

ตอบ : คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ในการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 5 มิ.ย. พ.ศ. 2552 ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการแทรกแซงตลาดกุ้งขาวแวนนาไม ปี 2552 เป็น 2 แนวทางได้แก่

1. อนุมัติเงินทุนหมุนเวียนปลอดดอกเบี้ยวงเงิน 300 ล้านบาท ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการตามระบบของ การลดต้นทุนการผลิต โดยให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์จำนวน 8 แห่งกู้ยืมเงินไปดำเนินการรวบรวมกุ้งจากสมาชิกส่งขายห้องเย็นในราคาที่ตกลงกันไว้ มีเป้าหมายรวบรวมจากสมาชิก 3,000 ราย ปริมาณ 15,000 ตัน

2. การรับจำนำกุ้ง มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปประสานการดำเนินงานโดยพิจารณาเป็น 2 แนวทาง (เป้าหมายรับจำนำ 10,000 ตัน วงเงินรับจำนำ 1,400 ล้านบาท)

2.1 พิจารณาแนวทางการรับจำนำเดิมที่เคยปฏิบัติโดย อศส.

2.2 ให้กระทรวงพาณิชย์เจรจากับผู้ประกอบการห้องเย็นให้เป็นผู้รับเก็บกุ้งเข้าห้องเย็นตามราคาที่กำหนด รวมทั้งแนวทางการระบายจำหน่ายกุ้งที่ ฝากเก็บไว้ ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายดำเนินงานได้ประมาณ 400 ล้านบาท

ทั้งนี้อนุมัติราคารับจำนำกุ้งต่ำกว่าข้อเรียกร้องของเกษตรกร 5 บาทต่อกิโลกรัมทุกขนาดกุ้ง และให้นำผลการดำเนินการเสนอต่อที่ประชุม คชก. ครั้งต่อไปในวันอังคารที่ 9 มิ.ย. 2552 ซึ่งเมื่อ คชก.เห็นชอบแล้วจะ เสนอ ครม. ในคราวต่อไป (16 มิ.ย. 2552) จากนั้นจะเริ่มดำเนินการได้เลย

ถาม : ราคาข้าวโพดเดือน ก.ค. ประกันราคาเมื่อไร ? อย่างไร ? (คุณณรงค์ จ.นครราชสีมา / 08-5203-xxxx)

ตอบ : ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาแนวทางรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูกาลผลิตปีต่อไป ซึ่งอาจจะใช้แนวทางเดียวกับมันสำปะหลังโดยการประกาศราคาขั้นต่ำที่เกษตรกรควรได้ จากนั้นเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และทำสัญญาประกันราคากับรัฐบาล เมื่อครบกำหนดระยะเวลาประกัน หากราคาที่ตลาดขายได้ต่ำกว่าราคาประกัน เกษตรกรจะได้รับส่วนต่างราคาจากรัฐบาล แต่หากราคาตลาดสูงกว่าราคาประกันเกษตรกรสามารถนำข้าวโพดไปขายในตลาดปกติได้

ถาม : โครงการชุมชนพอเพียงที่ดำเนินการอยู่จะได้รับการจัดสรรงบประมาณเมื่อไร ? (คุณสุบรรณ จ.กาฬสินธุ์ / 08-6237-xxxx)

ตอบ : โดยทั่วไปการดำเนินโครงการชุมชนพอเพียงเพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณแต่ละชุมชน จะใช้เวลาดำเนินงาน 15-30 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณา

ถาม : ถ้าถูกเลิกจ้าง ประกันสังคมจ่ายให้กี่เดือน ? (คุณสมร กรุงเทพฯ / 08-3117-xxxx)

ตอบ : พนักงานต้องส่งเงินสมทบให้ประกันสังคมเกิน 6 เดือนถึงจะมีสิทธิจะได้รับเงินชดเชย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกรณีการเลิกจ้าง ถ้าพนักงานลาออกเองจะมีสิทธิได้รับเงินชดเชย 30% ของอัตราจ้างเดิมเป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน กรณีให้ออกจะมีสิทธิได้รับเงินชดเชย 50% ของอัตราจ้างเดิมเป็นเวลาไม่เกิน 180 วัน

ถาม :อยากกู้เงินมาทำการเกษตร สามารถกู้ได้ที่ไหน ? (คุณสำริด จ.พระนครศรีอยุธยา / 08-9239-xxxx)

ตอบ :การกู้เงินเพื่อเกษตรกรนั้น ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีบริการด้านสินเชื่อสำหรับเกษตรกร

คุณสมบัติมีดังนี้

1. เป็นเกษตรกร

2. ต้องบรรลุนิติภาวะ

3. มีสัญชาติไทย

4.มีความชำนาญหรือได้รับการฝึกอบรมในด้านเกษตรกรรมมาแล้วพอสมควร

5.ถิ่นที่อยู่และประกอบอาชีพเกษตรกรรมของตนในท้องที่ดำเนินงานของสาขาซึ่งตนขอขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าประจำสาขามาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

6.โดยปกติเป็นผู้ก่อให้เกิดผลิตผลการเกษตรเพื่อขายหรือมีรายได้อื่นในปีหนึ่ง ๆ เป็นมูลค่าพอสมควร

7.เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีชื่อเสียงดี ขยันในการประกอบอาชีพ และรู้จักประหยัด

8.เป็นคนไม่วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

9.ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเป็นผู้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

10.ไม่เคยถูกให้ออกจากการเป็นลูกค้าสาขาของธนาคารมาก่อน

ผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าประจำสาขา ต้องแสดงหลักฐานการเข้าสังกัดกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่เดิม หรือกลุ่มลูกค้าที่จะตั้งขึ้นใหม่ซึ่งอยู่ใกล้องตน โดยให้กลุ่มลูกค้าที่สังกัดมีมติรับรองก่อน วัตถุประสงค์ของการกู้เงิน และระยะเวลาของการชำระเงินกู้

1. เป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพหรือฟื้นฟูการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรมหรืออาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้ การพัฒนาความรู้ หรือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ระยะเวลาการชำระเงิน ให้กำหนดชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นไปตามที่มาแห่งรายได้ โดยคำนึงถึงรอบการผลิตหรือรอบการบริการ รายได้ จำนวนของเงินกู้ และความสามารถชำระหนี้ของผู้กู้ โดยปกติให้ชำระเสร็จภายในสิบสองเดือนนับแต่วันกู้ เว้นแต่มีเหตุพิเศษไม่เกินสิบแปดเดือนนับแต่วันกู้

2. เป็นค่าลงทุนในการประกอบอาชีพหรือฟื้นฟูการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรมหรืออาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้ การพัฒนาความรู้ หรือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ระยะเวลาการชำระเงิน ให้กำหนดชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายงวดตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงอายุการใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์ที่ใช้ เงินกู้ จำนวนของเงินกู้ รายได้ และความสามารถชำระหนี้ของผู้กู้ โดยปกติให้ชำระเสร็จ ไม่เกินสิบห้าปีนับแต่วันกู้ เว้นแต่มีเหตุพิเศษไม่เกินยี่สิบปีนับแต่วันกู้ ทั้งนี้ ผู้จัดการจะกำหนดให้มีระยะเวลาที่ผู้กู้ยังไม่ต้องชำระต้นเงินก็ได้ตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินห้าปีแรก

3. รอการขายผลิตผล ระยะเวลาการชำระเงิน ให้กำหนดชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยให้เสร็จภายในหกเดือนนับแต่วันกู้

4. ชำระหนี้สินภายนอก ระยะเวลาการชำระเงิน กำหนดชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายงวดตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงจำนวนเงินกู้ รายได้ และความสามารถชำระหนี้ของผู้กู้ โดยปกติให้ชำระเสร็จไม่เกินสิบปีนับแต่วันกู้ เว้นแต่มีเหตุพิเศษไม่เกินสิบสองปีนับแต่วันกู้ หรือถ้ามีความจำเป็นอาจกำหนดให้ชำระเสร็จไม่เกินยี่สิบปีนับแต่วันกู้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ

หมายเหตุ : ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากสำนักงานธนาคารใกล้เคียงอีกครั้ง หรือ ที่ www.baac.or.th หรือที่เบอร์ 0-2555-0555

ถาม : ไข้หวัด 2009 กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการควบคุมอย่างไร ? (คุณมณฑาทิพย์ / 0-2422-xxxx)

ตอบ : 1. ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเร่งรัดเพิ่มระดับความเข้มข้นการเฝ้าระวังรักษาโรค

2. ถ้ามีการยืนยันว่าได้รับเชื้อ จะมีการรักษาพยาบาล

3. มีการสำรองเวชภัณฑ์ มีการจัดสรรหาอุปกรณ์วัดอุณหภูมิเคลื่อนที่เพื่อตรวจวัดผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ

4. มีการให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ท่านที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.moph.go.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook