ศาลฎีกาฯนัด17ส.ค.ชี้ชะตา ''เนวิน-ซีพี''คดีกล้ายาง

ศาลฎีกาฯนัด17ส.ค.ชี้ชะตา ''เนวิน-ซีพี''คดีกล้ายาง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คดีอื้อฉาวในรัฐบาลทักษิณ กรณีทุจริตจัดซื้อกล้ายางพารา90ล้านต้น มูลค่า1,440 ล้านบาทได้เวลาปิดฉากลงแล้ว เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษา17สิงหาคมนี้

ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยของ นายเจษฎา นุจารีย์ ทนายความของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ซึ่งเข้ามารับผิดชอบคดีแทนคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส.ที่หมดวาระ ว่า สำหรับคดีนี้ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ทุจริตโครงการจัดซื้อกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเพิ่งสืบพยานจำเลยเสร็จสิ้นไปเมื่อวันอังคารที่ 16 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา โดยหลังจากสืบพยานของกลุ่มบริษัทเอกชนจำเลยร่วมคดีนี้แล้ว ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่าไม่ติดใจนำสืบพยานอีกต่อไป

ศาลจึงนัดคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย ฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 สิงหาคม 2552 เวลา 14.00 น. โดยให้โจทก์และจำเลยยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในวันที่ 11 สิงหาคมนี้

คดีนี้ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) , นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะ คชก. นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ นายสรอรรถ กลิ่นปทุม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอดิศัย โพธารามิก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะคชก. กับพวกรวม 44 คน ประกอบด้วยกลุ่มคณะกรรมการกลั่นกรองเสนอโครงการต่อ ครม. คณะที่ 2 , กลุ่ม คชก. , กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการ ( กำหนดทีโออาร์) และคณะกรรมการพิจารราผลประกวดราคาซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการ

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบริษัทเอกชน อีก 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี , บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และบริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ประมวลกฎหมายอาญา ม.157 , เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์สินใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ม.151 , ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ประกอบ มาตรา 83 ,84 และ 86 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ( ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4,10 -14 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11

สำหรับคดีดังกล่าวเกิดขึ้น ช่วงต้นปี 2546 โดยนายเนวิน ชิดชอบ รมช. กระทรวงเกษตรฯ เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2542 ที่จำกัดขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของประเทศไม่เกิน 12 ล้านไร่ โดยให้ปลูกพืชทดแทนเฉพาะในพื้นที่เดิม ส่วนภาคเหนือไม่อนุญาต แต่ให้ขยายพื้นที่เพาะปลูกยางได้ในทุกภาคของประเทศ พร้อมทั้งอนุมัติให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินโครงการระยะที่ 1 (ปี 2547-2549)

ขณะเดียวกันได้ขอใช้เงินทุนกับ คชก.ปลอดดอกเบี้ยวงเงิน 1,440 ล้านบาท เพื่อขยายพื้นที่ปลูกยางใน 36 จังหวัด รวมเนื้อที่ 1 ล้านไร่ จากนั้นกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการประกวดราคาเพื่อหาบริษัทเอกชนเข้ามารับเหมาเพาะพันธุ์กล้ายางชำถุง มียื่นซองประมูล 5 ราย โดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดภัณฑ์ จำกัด ในเครือซีพีถูกจับตามองว่า เป็นตัวเก็งที่จะชนะการประมูลงานครั้งนี้ เนื่องจากเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 1,476 ล้านบาท

ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯได้ออกมายืนยันว่า โครงการนี้ไม่มีปัญหาและนายเนวิน ชิดชอบ ยืนยันอีกว่า การดำเนินงานโครงการนี้ กรมวิชาการเกษตรดำเนินงานตามระเบียบทุกประการและมีการตรวจสอบการถือหุ้นและคุณสมบัติของทุกบริษัทที่เข้ามายื่นซองประกวดราคา พบว่า ไม่มีบริษัทใดทำไม่ถูกต้องหรือมีลักษณะการไขว้หุ้นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook