กริยา กับ กิริยา

กริยา กับ กิริยา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่พิสูจน์อักษรงานเขียนต่าง ๆ มา พบว่า มีคำอยู่ ๒ คำที่มักใช้สลับกันอยู่เสมอ คือ คำว่า กริยา กับ กิริยา สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ผู้เขียนสันนิษฐานว่า คงเป็นเพราะ คำว่า กริยา กับ กิริยา เป็นคำที่มีรูปเขียนใกล้เคียงกันและออกเสียง ใกล้เคียงกัน จึงทำให้ผู้ใช้ภาษาเข้าใจว่า ๒ คำดังกล่าวสามารถใช้แทนกันได้เหมือนคำว่า ภรรยา กับ ภริยา หรือคำว่า ปกติ กับ ปรกติ ด้วยเหตุนี้ เพื่อมิให้ผู้อ่านสับสนเมื่อจะนำคำว่า กริยา กับ กิริยา ไปใช้ ผู้เขียนจึงขออธิบายผ่านคอลัมน์ องค์ความรู้ภาษาไทยโดยราชบัณฑิตยสถาน เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจและนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องตรงความ ดังนี้

คำว่า กริยา หมายำที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนาม อ่านได้ ๒ แบบ คือ กฺริ-ยา และ กะ-ริ-ยา มาจากคำว่า กฺริยา ในภาษาสันสกฤต เป็น คำที่ใช้ในไวยากรณ์ แบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น กริยานุเคราะห์ หรือ กริยาช่วย หมายถึง กริยาที่ใช้ช่วยกริยาอื่น เช่น คง จะ ถูก น่า กริยาวิเศษณ์ หมายถึง คำวิเศษณ์ใช้ประกอบคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ด้วยกันให้มีความแปลกออกไป

ส่วนคำว่า กิริยา นั้น แม้จะมีรูปเขียนและการออกเสียงที่ใกล้เคียงกัน แต่ใช้ในความหมายที่ต่างกัน โดยหมายถึง การกระทำ; อาการที่แสดงออกมาด้วยกาย, มารยาท มาจากคำว่า กิริยา ในภาษาบาลี มักพบใช้ในคำว่า มีกิริยา หมายถึง มีกิริยาดี อากัปกิริยา หมายถึง กิริยาท่าทาง กิริยามารยาท หมายถึง กิราวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อยถูกกาลเทศะ เป็นต้น

จากที่อธิบายมาข้างต้น จึงสรุปได้ว่า คำว่า กริยา กับ กิริยา เป็นคำที่ใช้ในความหมายต่างกัน ไม่สามารถใช้แทนกันได้ โดยคำว่า กริยา ใช้ในไวยากรณ์ และคำว่า กิริยา ใช้ในการกระทำหรืออาการที่แสดงออกมาด้วยกายเท่านั้น สำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อข้องใจในการใช้ภาษาไทยติดต่อได้ที่ ราชบัณฑิตยสถาน โทร. 0-2356-0466-70 หรือทางอินเทอร์เน็ตที่ http://www.royin.go.th

พรทิพย์ เดชทิพย์ประภาพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook