ฮือฮา!! พุทธรูปปางพิลึก-อุ่มพระภิกษุป่วย

ฮือฮา!! พุทธรูปปางพิลึก-อุ่มพระภิกษุป่วย

ฮือฮา!! พุทธรูปปางพิลึก-อุ่มพระภิกษุป่วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชาวกรุงเก่าฮือฮา พระพุทธรูปปางประหลาด 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นปางพยาบาลภิกษุอาพาธ อีกองค์เป็นปางรับโชค ประดิษฐานอยู่ที่บางปะอินทั้งสององค์ เป็นที่นับถือศรัทธาจากชาวบ้าน ในด้านช่วยปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ ช่างผู้ปั้นพระเผยอดีตเจ้าอาวาสเป็นคนดำริจัดทำขึ้นตามภาพถ่ายที่ได้มา พอปั้นเสร็จก็ได้รับศรัทธาอย่างเนืองแน่นจากชาวบ้าน ทางด้านผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมชี้เป็นปางที่มีอยู่ในพุทธประวัติอยู่แล้ว เพียงแต่คนไม่ค่อยรู้จักเท่าไร

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนักท่องเที่ยวว่า ที่วัดขนอนเหนือ ริมถนนสายเอเซีย ต.บ้านกรด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา มีพระพุทธรูปลักษณะพิสดาร ไม่เหมือนกับพระพุทธรูปตามวัดต่างๆ สร้างความประหลาดใจต่อผู้พบเห็น จึงเดินทางไปตรวจสอบ พบว่าพระพุทธรูปดังกล่าว ตั้งอยู่ด้านข้างอุโบสถของวัด ประดิษฐานอยู่บนซุ้มปูนปั้นทรงไทย ยกฐานสูงจากพื้นดินประมาณ 180 ซ.ม. ลักษณะของพระพุทธรูปสูงประมาณ 2 เมตร อยู่ในท่านั่งเข่าขวาตั้งชัน ไว้ผมมวย มีใบหน้าอ่อนหวานคล้ายเจ้าแม่กวนอิม ในวงแขนมีรูปปั้นพระสงฆ์นอนคล้ายกับอาพาธอยู่ ที่ฐานพระพุทธรูปเขียนเป็นปูนปั้นว่า "พระพุทธรูปจริยาปางพยาบาลภิกษุอาพาธ"

พระปลัดเนตร โกสโล อายุ 40 ปี เจ้าอาวาสวัดขนอนเหนือ เปิดเผยว่า ตั้งแต่มาเป็นเจ้าอาวาสก็เห็นพระพุทธรูปดังกล่าวแล้ว ไม่ทราบวัตถุประสงค์ของผู้สร้างเหมือนกันว่าสร้างแบบดังกล่าวทำไม ทราบแต่เพียงว่าอดีตเจ้าอาวาสรูปเดิม ได้สั่งให้ช่างสิริ บ้านอยู่ที่หมู่ 4 ต.บ้านหว้า อ.บางปะอิน ปั้นพระพุทธรูปปางดังกล่าว ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมวัด ต่างสงสัยเข้ามาสอบถามกันบ่อยครั้ง ทางวัดจึงกำลังรวบรวมประวัติพระพุทธรูปดังกล่าว รวมกับประวัติของวัดด้วย เนื่องจากวัดขนอนมีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในอุโบสถยังมีจิตรกรรมฝาผนัง เล่าเรื่องราวสมัยกรุงศรีอยุธยาที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาไว้เป็นหลักฐานด้วย

จากการสอบถามนายสิริ ภาคาหาญ อายุ 75 ปี อยู่บ้านเลขที่ 40 ม.4. ต.บ้านหว้า อ.บางปะอิน ช่างปั้นพระพุทธรูปดังกล่าว เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาว่า เมื่อ 40 ปีที่แล้ว มีอาชีพเป็นช่างไม้ประจำหมู่บ้าน ชอบงานด้านช่าง แล้วพัฒนาฝีมือจนมาเป็นช่างปูน รับสร้างพระอุโบสถตามวัดต่างๆ และสร้างศาลาทรงไทย ก่อนจะมาเป็นพระพุทธรูปดังกล่าว พระครูพิศาลวิมลกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอนเหนือที่มรณภาพไปแล้ว ได้นำภาพถ่ายพระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ อุ้มพระอยู่ ซึ่งเห็นว่าแปลกดี แล้วให้ตนเป็นคนปั้น เพื่อให้ชาวบ้านสักการบูชา และขอพรให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ

ช่างสิริกล่าวว่า ในการปั้นครั้งนั้น ตนไม่เคยปั้นพระพุทธรูปมาก่อน รับทำแต่ลวดลายปูนปั้นประดับศาลาและโบสถ์เท่านั้น การปั้นจึงเป็นไปอย่างทุลักทุเล ใช้เวลาปั้นนานประมาณ 1 เดือนจึงเสร็จ พระพุทธรูปออกมาสวยงามดี ชาวบ้านเห็นแล้วเกิดศรัทธาเข้ามากราบไหว้บูชาขอบารมีรักษาโรคภัยไข้เจ็บ จนเป็นที่เลื่องลือ เชื่อว่าพระพุทธเจ้าผู้มีเมตตามารักษาโรคให้ ระหว่างปั้นยังมีชาวบ้านนำพระเครื่องหลายองค์มาบรรจุไว้ที่เศียรและหน้าอกด้วย แต่ไม่ทราบจำนวน

ช่างปั้นพระกล่าวต่อว่า หลังจากปั้นพระพุทธรูปปางพยาบาลเสร็จ ได้มีพระช่วง อาจินตโน อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านหว้า มาให้ตนปั้นพระพุทธรูปอีก 1 องค์ โดยเศียรพระพุทธรูปเป็นเนื้อหินทะเลที่ชาวประมงลากติดอวนได้มา ให้ปั้นต่อเป็นองค์พระท่ายืน นำไปตั้งประดิษฐานไว้ที่ปากทางเข้าวัดบ้านหว้า ริมถนนสายเอเซีย ก.ม.11-12 หมู่ 3 ต.บ้านหว้า อ.บางปะอิน โดยปั้นพระพุทธรูปให้มือขวาอยู่ในลักษณะกวักเขาหาตัว มือซ้ายปั้นในลักษณะแบมือรับโชค หรืออุ้มโชคไว้ ตอนนั้นแปลกใจในรูปแบบ คิดอยู่นานว่าจะปั้นออกมาอย่างไร พยายามอยู่หลายครั้งจนปั้นเสร็จสมบูรณ์ พบว่าชาวบ้านให้ความสนใจเข้ามากราบไหว้เป็นจำนวนมากเพื่อขอบารมีโชคลาภ ทำมาค้าขึ้น จนมีชาว จ.กำแพงเพชร มากราบไหว้แล้วถูกหวยรางวัลที่ 1 จึงมาติดต่อว่าจ้างให้ตนไปปั้นพระพุทธรูปลักษณะเดียวกันที่ จ.กำแพงเพชร ด้วย แต่ตนไม่ได้ไปสร้างให้ หลังจากสร้างพระพุทธรูปปางรับโชค เสร็จได้ไม่นาน ทางวัดได้ก่อสร้างอุโบสถหลังใหญ่มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท แต่ประชาชนบริจาคเงินช่วยสร้าง แล้วเสร็จภายในเวลา 1 ปีเท่านั้น

นางยุพา ชองขันปอน อายุ 40 ปี ชาวบ้าน อ.บางปะอิน ที่อยู่ห่างจากวัดประมาณ 2 ก.ม. เปิดเผยว่า เคยเดินทางไปกราบไหว้พระพุทธรูปทั้งสององค์อยู่บ่อยครั้ง เมื่อยามรู้สึกว่าไม่ค่อยสบาย จะนึกถึงพระพุทธรูปองค์นี้ประจำ เมื่อไปสักการะขอพรพระพุทธจริยา ปางพยาบาลภิกษุอาพาธ อาการที่เคยไม่ค่อยสบายจะรู้สึกหายไป เชื่อว่าพระพุทธรูปองค์นี้ช่วยให้จิตใจปลอดโปร่ง แล้วเกิดความสบายใจขึ้น

ทางด้านนายอำนาจ บัวศิริ ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงกรณีพระพุทธรูปปางพิสดารที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ทั้ง 2 องค์ว่า จากการที่วัดขนอนเหนือ อ.บางปะอิน ปั้นพระพุทธรูป ปางพยาบาลภิกษุอาพาธ จนเป็นที่ฮือฮาของนักท่องเที่ยวนั้น พุทธศาสนิกชนชาวไทย นิยมที่จะสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ตามพุทธประวัติ ซึ่งพระพุทธจริยาปางพยาบาลภิกษุอาพาธ น่าจะสร้างมาจากพุทธประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล ที่พระองค์เสด็จเยี่ยมพระภิกษุที่อาพาธ ทั้งนี้ ปางพระพุทธรูปดังกล่าวอาจจะไม่ค่อยมีใครสร้างขึ้น จึงทำให้รู้สึกแปลกตา ทั้งที่จริงแล้ว สร้างมาจากพุทธประวัติทั้งสิ้น ส่วนรูปแบบการสร้างปางพระพุทธรูปนั้น จะแตกต่างกันออกไปตามจินตนาการของผู้สร้างและกำลังศรัทธาของประชาชน เช่น พระพุทธรูปยืนบางองค์ก็สูงชะลูดไม่ได้สัดส่วน เป็นต้น ซึ่งก็ไม่ผิดแต่อย่างใด ด้วยสร้างจากศรัทธาของพุทธศาสนิกชน

"หากมองแล้วว่า พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ ไม่มีลักษณะที่น่าเกลียด และเป็นที่ศรัทธาของประชาชนก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ถ้ามีพุทธลักษณะที่ไม่เหมาะสมออกไปในแนวอุบาทว์ ก็จะต้องให้ทางเจ้าคณะจังหวัดเข้าไปดูแล อย่างไรก็ตาม มหาเถรสมาคมได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดสร้างพระพุทธรูปไว้ว่า การจะสร้างพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะแปลกๆ ต้องขออนุญาตจากมหาเถรสมาคม หรือเจ้าคณะจังหวัดผู้ปกครองถึงความเหมาะสมก่อน หากวัดไหนสร้างพระพุทธรูปปางพิสดาร โดยไม่ขออนุญาต ก็จะต้องให้ทางเจ้าคณะผู้ปกครองดำเนินการตักเตือน" ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรฯ กล่าว

ส่วนนายแก้ว ชิดตะขบ นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีพระพุทธรูปปางพิสดารที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า พระพุทธรูปแต่ละปางเปรียบเป็นรูปสมมติของพระพุทธเจ้าในอิริยาบถต่างๆ ซึ่งมีการสร้างขึ้นตามความเชื่อในพุทธประวัติ ตามตำนานพุทธประวัติกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งแคว้นโกศล ให้ช่างจำหลักพระรูปเหมือนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นจากไม้แก่นจันทน์ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธองค์ที่เสด็จไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพุทธมารดา นับเป็นการสร้างพระพุทธรูปครั้งแรก แต่เดิมพระพุทธศาสนาไม่มีรูปเคารพ เพราะในสมัยอินเดีย มีข้อห้ามในการสร้างรูปเคารพ แต่เนื่องจากชาวอารยันที่มีเชื้อสายกรีก ซึ่งมาตั้งรกรากอยู่ทางอินเดียตอนเหนือ เคยนับถือศาสนเทวนิยมและจำหลักรูปเคารพของเทพเจ้ากลุ่มโอลิมปัส เมื่อเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา จึงได้จำหลักศิลารูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นเคารพแทน ต่อมาวัฒนธรรมและศิลปะดังกล่าวได้แพร่หลายมาถึงอินเดียใต้และลังกา ก่อนแพร่หลายเข้าสู่เมืองไทย ทั้งนี้ ตามคติพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท

นายแก้วกล่าวว่า การสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ จะต้องเป็นปางที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติโดยตรง คือ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตามพุทธประวัติ เช่น ปางไสยาสน์ ปางมารวิชัย ปางลีลา เป็นต้น ซึ่งในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ให้การยอมรับปางพระพุทธรูปทั้งหมด 70 กว่าปางเท่านั้น แต่สำหรับในฝ่ายมหายาน อาจจะมีการสร้างปางพระพุทธรูปที่แตกต่างออกไปบ้าง ตามคติความเชื่อของแต่ละนิกาย

นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา กล่าวต่อว่า เท่าที่ทราบ ก่อนหน้านี้ในประเทศไทยเคยมีการสร้างพระพุทธรูปปางพิสดารออกมามากมาย บ้างก็ทำได้สวยงาม บ้างก็สร้างออกมาอย่างไม่เหมาะสม ทำให้พุทธศาสนิกชนที่ได้แลเห็นเกิดความไม่สบายใจ หากมีการสร้างออกมาแล้ว ทำให้ผู้ที่ได้พบเห็นเกิดความไม่สบายใจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือฝ่ายปกครอง ต้องสั่งให้ทางวัดหรือเจ้าของสถานที่ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปดังกล่าว ต้องนำผ้ามาคลุมและเก็บไว้อย่างมิดชิด มิให้นำออกมาสู่ภายนอกอีกต่อไป แต่มีบางกรณีที่มีศิลปินบางท่าน อาจสร้างพระพุทธรูปปางที่แตกต่างออกไปจากแบบที่เป็นทางการ เพื่อความสวยงามทางศิลปะ ตรงนี้ก็สามารถทำได้ แต่ต้องให้มีความเหมาะสมต่อสมณสารูปแห่งพระพุทธรูป คือ มีความสำรวมและงดงามตามหลักทางพระพุทธศาสนา

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook