เก่าตายมีใหม่เสริม

เก่าตายมีใหม่เสริม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กองทัพศรีลังกาประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในการกวาดล้างกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ที่จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลมานานกว่า 25 ปี เพื่อแบ่งแยกดินแดนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถิ่นฐานของชาวศรีลังกาเชื้อสายทมิฬเป็นรัฐเอกราช

ฐานที่มั่นพยัคฆ์ทมิฬถูกกองทัพรัฐบาลบุกตีแตกเรียบวุธ ระดับผู้นำถูกสังหารเกือบหมด รวมทั้งนายเวลลูพิไล ประภาการัน หัวหน้าใหญ่สุด และลูกชายคนโต

ตอนนี้ชาวทมิฬในศรีลังกา ที่บ้านแตกหลบหนีการสู้รบเกือบ 300,000 คน ยังต้องอาศัยตามศูนย์พักพิงชั่วคราว ที่รัฐบาลตั้งขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออก โดยได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ และหลายองค์กรบรรเทาทุกข์นานาชาติ ขณะที่ทหารกองทัพแม้จะยึดพื้นที่ได้ทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ยังตามไล่ล่านักรบพยัคฆ์ทมิฬอีกบางส่วน ที่ยังเหลือหลบซ่อนอยู่ตามป่าในพื้นที่

ใครต่อใครคิดว่า งานนี้ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ของชนเชื้อสายทมิฬในศรีลังกา คงสิ้นฤทธิ์สูญพันธุ์ไปแล้ว ไม่ใช่ครับ

เมื่อไม่กี่วันก่อน เครือข่ายกู้ชาติพยัคฆ์ ทมิฬศรีลังกาในต่างแดน ประกาศจะฟื้นคืนชีพขบวนการอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ พร้อมกับเผยตัวผู้นำคนใหม่ นายสีลวาราชา ปัทมาาธาน หรือที่รู้จักกันในนาม เคพี อดีตหัวหน้าฝ่ายกิจการต่างประเทศ ฝ่ายจัดหาอาวุธและเงินทุน ที่จะขึ้นแท่นผู้นำแทนนายประภาการัน

ส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ที่ประกาศ บอกว่า จะมีการก่อตั้ง ขบวนการประชาธิป ไตยเพื่อความเป็นรัฐเอกราชของชาวทมิฬ

เครือข่ายสนับสนุนในต่างแดน ยังเหนียวแน่นเหมือนเดิม โดยชาวทมิฬที่อพยพไปทำมาหากินในหลายประเทศ ซึ่งคนกลุ่มนี้รวมแล้วเกือบ 100,000 คน ส่วนใหญ่จะอยู่ในแคนาดา สหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย มาเลเซียและสิงคโปร์ ช่วยกันลงขันให้การสนับสนุนด้วยดีมาตลอด

เคพีเกิดเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2498 เป็นหนึ่งในลูก 8 คนของครอบครัวชาวประมงแห่งเมืองกันเกซันธุไร ริมฝั่งทะเลทางเหนือของศรีลังกา อันที่จริงเคพีมีชื่อเดียวโดด ๆ คือปัทมานาธาน ส่วนสีลวาราชาเป็นชื่อพ่อ แต่ไม่รู้เหตุใดทำไปทำมาจึงรวมกันกลายเป็นชื่อเป็นทางการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ก่อนนี้เคยแฝงตัว ทำงานในหลายประเทศ ทั้งในยุโรป แคนาดา และเอเชีย ในช่วงเดินสายติดต่อขอความช่วยเหลือจากชาวทมิฬในต่างแดน และเคย มีข่าวแอบมาหาเครือข่ายสนับสนุนในบ้านเรา และถูกจับกุมและควบคุมตัวไว้ที่กรุงเทพฯ และบังเอิญขณะนั้นประนาบ มุขเคอร์จี รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียในรัฐบาลชุดก่อน เดินทางมาราชการที่กรุงเทพฯ เลยถือโอกาสติดต่อขอตัวไปดำเนินคดี

เนื่องจากข่าวกรองทางการอินเดีย เชื่อว่า เคพีอยู่เบื้องหลังการสังหารอดีตนายกฯ ราจีฟ คานธี ของอินเดีย ขณะเดินทางมาหาเสียงเลือกตั้งที่รัฐทมิฬนาดูเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2534 โดยราจีฟถูกมือระเบิดพลีชีพหญิงพยัคฆ์ทมิฬ บุกประชิดตัวกดชนวนระเบิดแหลกเละคาที่

แต่ปรากฏว่าทางการไทยปฏิเสธ ไม่มีการจับกุมเคพีตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด และข่าวคราวของเคพีเงียบหายไปตั้งแต่นั้น จนกระทั่งโผล่ล่าสุดมาเป็นข่าว ขึ้นเป็นหัวหน้าใหญ่กบฏพยัคฆ์ทมิฬคนใหม่

เคพียอมรับว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธ ตามแนวทางของนายประภาการัน คงไปไม่รอดเหมือนเดิม ดังนั้นเป้าหมายใหม่จะหันมาเน้นด้านการเมือง โดยเริ่มจากการก่อตั้งรัฐบาล พลัดถิ่นในต่างแดนแล้วค่อยขยายแนวทางในภายหลัง.

เลนซ์ซูม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook