สามสีชี้ปมหุ้นเขย่ารัฐบาล อาจถึงขั้นยุบสภา นักวิชาการเชื่อศาลปกครองไม่รับคำร้องถือหุ้น

สามสีชี้ปมหุ้นเขย่ารัฐบาล อาจถึงขั้นยุบสภา นักวิชาการเชื่อศาลปกครองไม่รับคำร้องถือหุ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สามสีชี้ปมหุ้นอาจถึงขั้นยุบสภา นักวิชาการเชื่อศาลปค.ไม่รับคำร้องของกลุ่ม40 ส.ว. ศาลอาจมองเขตอำนาจในลักษณะที่เราคาดไม่ถึง กกต.ยันทำงานรอบคอบปม16 สว. สดศรี ปฎิเสธเล่นเกมอุ้มรัฐบาล

กกต.ยันทำงานรอบคอบปม16 สว.

นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน กรณีที่กลุ่ม 40 ส.ว.เตรียมยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้คุ้มครอง 16 ส.ว.ที่ กกต.ลงมติ พ้นจากสมาชิกภาพ เนื่องจากกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 48 ประกอบมาตรา 265 (2) (4) กรณีถือครองหุ้นในกิจการสื่อและบริษัทที่เป็นคู่สัญญาหรือสัมปทานกับรัฐในลักษณะผูกขาดตัดตอนว่า ไม่มีปัญหาอะไร หากกฎหมายให้ไว้ก็เป็นสิทธิที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ส่วนที่แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.บอกว่า 16 ส.ว.ที่อาจพ้นสมาชิกภาพไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก กกต.นั้น ยืนยันว่าคณะอนุกรรมการไต่สวนได้พิจารณาทั้งหมดแล้วให้โอกาสชี้แจงโดยละเอียดรอบคอบ

นายประพันธ์กล่าวกรณี นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ระบุกฎหมายไม่ได้ห้าม ส.ส.และ ส.ว.ถือหุ้น เพียงแต่ห้ามการถือครองสัมปทานนั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องข้อกฎหมายที่แต่ละคนคิด เพราะเรื่องดังกล่าวจะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป

กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ส.ส.44คนที่ถูกร้องเรื่องการถือหุ้นเช่นกัน และกกต.มีมติขยายเวลาออกไปอีก 15 วัน เพื่อให้โอกาสชี้แจงนั้น เนื่องจากเห็นว่าการชี้แจงเป็นประโยชน์ และมีโอกาสแก้ข้อกล่าวหาได้ว่าถ้าถือหุ้นมาตั้งแต่เมื่อไร แต่ถ้าไม่มาชี้แจงก็จะเสียประโยชน์ กกต.ถือว่าไม่มีติดใจ และกกต.จะพิจารณาสำนวนเท่าที่มีอยู่ต่อไป

สดศรี ปฎิเสธเล่นเกมอุ้มรัฐบาล

นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ฝ่ายกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า การตรวจสอบส.ว.และส.ส.ที่กกต.กำลังดำเการอยู่นั้น ไม่ใช่การเล่นเกมเพื่อช่วยรัฐบาล เพราะทุกวันนี้กกต.เหนื่อยกับนักการเมืองมาเล่นเกมกับกกต.อยู่แล้ว จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่ต้องไปเล่นเกม เพราะการไต่สวนเมื่อยังไม่เสร็จ เป็นไปไม่ได้ที่กกต.จะปิดคดีในลักษณะที่ไม่เสร็จ

ส่วนเรื่องที่ 40 ส.ว.เตรียมฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุดนั้น นางสดศรีกล่าวว่า ถือเป็นสิทธิ แต่ ส.ว.ควรเข้าใจว่าการตรวจสอบการถือหุ้นครั้งนี้ ไม่ใช่กกต.ไปขุดคุ้ยขึ้นมาทำเอง แต่มีคนยื่นเรื่องร้องเรียนมา กกต.ก็ต้องทำตามหน้าที่ที่กฏหมายกำหนดไว้ และไม่รู้สึกอะไรหากต้องถูกฟ้องเพิ่มขึ้นอีกคดี เพราะที่ผ่านมาก็โดนมาหลายคดีแล้ว

นักวิชาการเชื่อศาลปค.ไม่รับ

นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวกับศาลปกครอง และเชื่อว่าศาลปกครองจะไม่รับคำร้องของกลุ่ม40 ส.ว. เพราะมติที่กกต.ออกมาไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง อีกทั้งกกต.ก็เป็นองค์กรอิสระ ศาลปกครองไปคุม กกต.ไม่ได้ โดยหลักแล้วในกรณีดังกล่าว เมื่อกกต.มีมติออกมาให้ ส.ว.พ้นจากความเป็นสมาชิกภาพ เรื่องก็ต้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ดังนั้น กลุ่มส.ว.ดังกล่าวน่าจะไปต่อสู้ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญจะดีกว่า

นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า คำสั่งกกต.ที่มีมติออกมาให้ส.ส.หรือส.ว.พ้นความเป็นสมาชิกภาพแล้วตรงนี้จะเป็นเรื่องคุณสมบัติ ที่กกต.พิจารณาวินิจฉัยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย คิดว่าการที่กลุ่ม 40 ส.ว.จะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองนั้น คิดว่าไม่น่าจะผ่านช่องทางดังกล่าวได้ ประเด็นนี้ กกต.ไม่ได้ออกคำสั่งทางปกครองแต่ กกต.วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่น่ารับคำร้อง แต่ศาลอาจมองเขตอำนาจในลักษณะที่เราคาดไม่ถึงก็ได้

สามสีชี้ปมหุ้นอาจถึงขั้ยุบสภา

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีชื่อเป็น 1 ในส.ส.ที่ถูก กกต.ตรวจสอบว่าถือหุ้นในบริษัทรับสัมปทานรัฐว่า เกิดมาไม่เคยเล่นหุ้น แต่มาเล่นตอนเปิดตลาดหุ้นใหม่ๆ ประมาณปี 2530 สมัยที่เป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พานักศึกษาไปเล่นหุ้น เพื่อเรียนรู้การซื้อขาย ซึ่งเล่นอยู่แค่เดือนเดียวจากนั้นก็ไม่เล่นอีกเลย แต่ที่ครั้งนี้ นางนุช สุวรรณคีรี ภรรยาไปเล่นหุ้นกับพี่สาวและน้องสะใภ้ โดยซื้อหุ้นปตท.เมื่อปี 2550 และตอนนี้ก็เลิกเล่นแล้ว

ผมก็พาซื่อชี้แจงในบัญชีทรัพย์สินที่แสดงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจรติแห่งชาติ ก็เลยโดนกกต.วินิจฉัย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนขึ้นมาเพื่อป้องกันการซุกหุ้น โดยเอากรณีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดปัญหา เพราะถ้ากกต.วินิจฉัยออกมาว่าผิดและศาลรัฐธรรมนูญรับลูก อาจต้องยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ทำให้เสียหายเป็นพันล้านบาท ถ้าผมโดน ก็ต้องหลุดจากการเป็นส.ส.เพราะผมเป็นส.ส.สัดส่วน แต่ก็สามารถลงใหม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้โดนตัดสิทธิ์ 5 ปี แต่ปัญหาคือถ้าส.ส.และส.ว.โดน ก็ไม่สามารถประชุมได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ ดังนั้น ก็ไม่แน่ว่ากกต.อาจจะวินิจฉัยแผลงๆก็ได้ เพราะห่วงว่าประเทศจะเสียหาย นายไตรรงค์กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook