ภาพจำเมืองไทย ทำร้ายเมืองไทยหรือเปล่า?

ภาพจำเมืองไทย ทำร้ายเมืองไทยหรือเปล่า?

ภาพจำเมืองไทย ทำร้ายเมืองไทยหรือเปล่า?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาพหญิงไทยร่างเล็ก ท้องโต คุกเข่าทำความสะอาดพื้นห้อง ขณะที่ชายชาวต่างชาติร่างใหญ่กำลังนั่งทำงานในแล็ปท็อปบนโซฟา เป็นภาพตัวอย่างจากภาพยนตร์เรื่อง “Soi Cowboy (ซอยคาวบอย)” กำกับโดยโทมัส เคลย์ ผู้กำกับชาวอังกฤษ และได้รับคัดเลือกให้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ในปี 2008 ภาพยนตร์ชวนตั้งคำถามกับสถานที่ สิ่งของ การกระทำและสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ รวมไปถึงความสัมพันธ์ของคู่รักต่างเชื้อชาติผ่านความสวยงามในความธรรมดา

สิ่งที่ปรากฏในเรื่องซอยคาวบอย ล้วนแล้วแต่เป็นภาพจำของเมืองไทยที่ผู้ชมมักได้เห็นจากภาพยนตร์ที่มองผ่านสายตาของทีมงานต่างชาติ ผู้หญิง, ช้าง, วัด, ทะเล คือเมืองไทยที่ถูกจำกัดเอาไว้ และเกิดการผลิตซ้ำเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าอยู่เสมอ เมื่อภาพเหล่านี้ขายได้ ไม่แปลกใจว่าทำไมเราจึงเห็นสัญลักษณ์ความเป็นไทยเพียงไม่กี่อย่างในหนังต่างชาติ แล้วภาพจำเหล่านี้ส่งผลกับสังคมไทยอย่างไร และวิธีแก้ปัญหาภาพจำเหล่านี้ควรเป็นเช่นไร จึงเป็นคำถามที่เราควรคิดต่อ

ภาพยนตร์กับการท่องเที่ยว

เมืองไทยปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ต่างชาติหลายเรื่อง และปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์มีส่วนช่วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเป็นอย่างมาก การเกิดขึ้นของวัฒนธรรม “ตามรอยภาพยนตร์” ทำให้การเดินทางตามหาสถานที่ในภาพยนตร์กลายเป็นจุดหมายปลายทางของแฟน ๆ ทั่วทั้งโลก

เช่นกันในงานเสวนา “ไทยแลนด์ แดนเอ็กโซติก?” ที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ ที่ 17 สิงหาคม 2562 ณ หอภาพยนตร์ ดร. วิกานดา พรหมขุนทอง นักวิชาการภาพยนตร์ จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่าปรากฏการณ์การตามรอยภาพยนตร์ เป็นการต่อชีวิตให้กับภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ เป็นการทำให้มันโลดแล่นอยู่ในวัฒนธรรมประชานิยม (Popular Culture) ซึ่งทำให้เรื่องเล่าในภาพยนตร์เปลี่ยนไปอยู่ในบริบทอื่น ๆ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง The Beach (เดอะบีช) ที่ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาสัมผัสกับทะเลไทยไม่ขาดสาย Hangover 2 กับบาร์ Sirocco แสนโด่งดังที่ยังต้อนรับแฟนภาพยนตร์อยู่ทุกค่ำคืน หรือแม้แต่ภาพยนตร์จีนอย่าง Lost in Thailand ที่นำคนจีนเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยหลายสิบล้านคน กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้กระเตื้องขึ้นเป็นเวลาหลายปี

จะเห็นได้ว่าภาพยนตร์ต่างชาติมีส่วนสำคัญในการโปรโมตการท่องเที่ยวของไทย อย่างไรก็ตามภาพยนตร์ต่างชาติเหล่านี้ก็มักนำเสนอภาพเมืองไทยในบริบทของเมืองท่องเที่ยว และถูกเล่าผ่านสายตาของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย ดังนั้นภาพที่ออกไป จึงล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของไทยที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวเท่านั้น และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของการผลิตซ้ำภาพจำเมืองไทยที่ยังโลดแล่นอยู่ในภาพยนตร์จวบจนทุกวันนี้

ภาพยนตร์กับภาพจำเมืองไทย

ทอม วอลเลอร์ ผู้กำกับและผู้สร้างภาพยนตร์จาก De Warrenne Pictures ชี้ว่าภาพเมืองไทยในภาพยนตร์ต่างชาตินั้น ต้องมี “สาวไทย” ไม่ว่าจะเป็นสาวจริง ๆ หรือเลดี้บอย และต้องเป็นสาวไทยที่มาจากต่างจังหวัด และทำงานในบาร์ น้อยมากที่จะเจอผู้หญิงที่ทำงานในธุรกิจที่เรียบร้อย “ช้าง” ต้องมีอยู่ในภาพยนตร์ต่างชาติทุกเรื่องที่พูดถึงเมืองไทย แม้แต่ในภาพยนตร์เรื่องซอยคาวบอย ที่มาในรูปแบบตุ๊กตาช้างก็ตาม “พระและวัด” ที่แสดงออกถึงความเอ็กโซติก ก็ถูกผลิตซ้ำในภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง นอกจากนี้ “การรับสินบน” ก็ยังเป็นอีกหนึ่งภาพจำของไทย ที่ถูกนำเสนอในภาพยนตร์ต่างชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นมุมมองของคนเขียนบทที่เข้ามาท่องเที่ยว และคลุกคลีอยู่กับ “เมืองไทย” ของ “นักท่องเที่ยว” เป็นมุมมองของคนที่จินตนาการถึงเมืองไทย ซึ่งจินตนาการเหล่านั้นได้ทับซ้อนกันมาเป็นเวลาเนิ่นนานและไม่สามารถตัดขาดออกจากประวัติศาสตร์ได้ ด้วยเหตุนี้เมืองไทยจึงอยู่ในความทรงจำและมีภาพจำเช่นนี้อยู่

“อาจมองย้อนกลับไปได้ถึงยุคล่าอาณานิคม ความสัมพันธ์ของตะวันตกและตะวันออกที่เกิดการผลิตซ้ำสิ่งต่าง ๆ มากมาย มันเป็นการวางให้เป็นขั้วตรงข้ามของกันและกัน ความเป็นตะวันตกคือความศิวิไลซ์ ขณะที่ความเป็นตะวันออกคือความป่าเถื่อนแสนเอ็กโซติก” ดร.วิกานดากล่าว

การสร้างขั้วตรงข้ามแบบนี้อาจมองว่าเป็นการทำให้เข้าใจง่าย เสพง่าย เพราะไม่ได้เป็นภาพที่อยู่ในพื้นที่สีเทาที่ยากจะตัดสิน การแยกกันอย่างสุดขั้วนี้เองที่ทำให้ภาพยนตร์ดูตื่นตาตื่นใจ เพราะคนเราชื่นชอบสิ่งที่แตกต่างจากตัวเอง

ปัญหาภาพจำเมืองไทย

เมื่อคนต่างชาติมีภาพจำเฉพาะของเมืองไทย ภาพยนตร์ก็มีแนวโน้มที่จะสร้างภาพเหล่านั้นให้เว่อร์กว่าความเป็นจริงเพื่อสร้างจุดขายให้กับตัวเอง เกิดการผลิตซ้ำไม่รู้จบ กลายเป็นความเชื่อและมายาคติต่อประเทศไทยอย่างเสียไม่ได้

คุณทอม วอลเลอร์อธิบาย ว่า “ที่เมืองนอกสาวเซ็กซี่ของไทยจะขายได้ แต่ในไทยขายไม่ได้ ต้องดูที่ตลาด ส่วนมากคนต่างชาติจะหลงรักผู้หญิงจากต่างจังหวัด ต้องเน้นสาวอีสาน เหนือ น้อยมากที่จะเห็นผู้หญิงทำงานธนาคารหรือผู้หญิงที่ทำงานในธุรกิจที่เรียบร้อย ต้องเจอที่บาร์”

การสร้างภาพที่ดูเกินจริงและภาพความเอ็กโซติกของเมืองไทยในภาพยนตร์ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเมืองไทยอย่างแน่นอน เช่น เมืองไทยดูเป็นเมืองแห่งสาวบาร์ และการค้าประเวณี แม้ว่าเมืองไทยจะมีความสวยงามทางวัฒนธรรมในด้านอื่น แต่กลับไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอในภาพยนตร์ต่างชาติเลย

เช่นเดียวกับคนทำภาพยนตร์ที่ถูกครอบงำด้วยภาพจำเหล่านี้ พวกเขาก็ไม่สามารถสลัดเอาภาพของเมืองไทยที่ถูกผลิตซ้ำต่อ ๆ กันออกไปจากภาพยนตร์ได้ และนั่นนำไปสู่การตอกย้ำภาพจำของเมืองไทยให้เข้มข้นกว่าเดิม

“ในประเทศไทยมีสัญลักษณ์บางอย่างที่ถ้าไม่ดูในบริบทภาพยนตร์ก็ดูไม่มีอันตราย แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ไปอยู่ในสื่อภาพยนตร์จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที เช่น สามสถาบันหลักของไทย ที่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีภาพเหล่านี้อยู่ในภาพยนตร์ ก็ต้องดูแลเป็นพิเศษเพราะเป็นการนำเสนอภาพของรัฐ ที่เมื่อนำเสนอออกไปมันจะเกี่ยวข้องกับความมั่นคง” ดร.วิกานดาชี้

การเน้นย้ำภาพจำของเมืองไทยเช่นนี้ยังทำให้เกิดปัญหากับภาครัฐอีกด้วย ภาพจำที่เกิดขึ้น ไม่เคยถูกยอมรับ และถูกปฏิเสธโดยภาครัฐซึ่งมีความอ่อนไหวกับภาพลักษณ์บางอย่างของประเทศอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้องค์กรของภาครัฐจึงพยายามควบคุมด้วยการตรวจสอบบทภาพยนตร์หรือการตัดบางส่วนของภาพยนตร์ออกหากนำเสนอความไม่สวยงามของชาติ

การแก้ไขปัญหาภาพจำเมืองไทย

หากต้องการแก้ไขปัญหาภาพจำของเมืองไทย เป็นไปได้หรือไม่หากภาครัฐจะให้การสนับสนุนทีมผลิตภาพยนตร์ในประเทศเพื่อผลิตภาพจำที่นอกเหนือจากผู้หญิง ช้าง หรือวัด เพื่อเผยแพร่ด้านอื่น ๆ ของเมืองไทย พร้อมกับการสนับสนุนให้คนทำภาพยนตร์ก้าวออกจากกรอบเดิม ๆ โดยการใช้มุมมองแบบคนไทย และผลักดันภาพยนตร์ไทยไปสู่ระดับนานาชาติซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนต่างชาติจะได้รู้จักเมืองไทยด้วยภาพจำใหม่

อย่างไรก็ตามปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว ก็คือ ประเทศไทยยังไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานที่จะเป็นตัวกลางประสานระหว่างคนทำภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างชาติกับกระทรวงต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์ การบ้านของภาครัฐก็คือ ภาครัฐต้องจัดระเบียบองค์กรหรือก่อตั้งหน่วยงานที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในฐานะทรัพยากรที่จะเข้าไปช่วยเหลืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ขับเคลื่อนธุรกิจการท่องเที่ยวด้วยวัฒนธรรมการตามรอยและจะสามารถดึงเม็ดเงินเข้าประเทศได้อย่างมหาศาล

สิ่งสำคัญที่สุดคือการร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเมืองไทยให้ดีขึ้น ภาครัฐเองก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ เพราะมีอำนาจในการสั่งการและในระดับปฏิบัติการ ให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกก็อาจจะเป็นวิธีนำพาอุตสาหกรรมหนังไทยให้ไปได้ไกลมากขึ้น ขณะเดียวกันคนทำภาพยนตร์เอง ก็ควรจะออกจากกรอบภาพจำเดิม ๆ หยุดยั้งการผลิตซ้ำและสร้างภาพของเมืองไทยแต่เพียงด้านเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook