ไทยตายแล้ว2-หวัด09

ไทยตายแล้ว2-หวัด09

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ชาวกทม.-ชลบุรี อีก2อาการหนัก

ไทยมีตายแล้ว 2 ราย เซ่น ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ สาธารณสุขแถลงเป็นผู้ชาย อายุ 42 ปีอยู่ชลบุรี กลับจากยุโรป แล้วมาเที่ยวผับในเมืองชล กระทั่งป่วยหนัก อาการทรุด เสียชีวิตเมื่อเช้าวันที่ 27 มิ.ย. อีกรายเป็นหญิงวัย 40 ปี อยู่กรุงเทพฯ เข้ารักษาในร.พ.เอกชน ก่อนตายไปเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. รวมยอดป่วยสะสม 1,209 หายปกติแล้ว 1,191 ยังรักษาอยู่ในร.พ. 16 มี 2 รายต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ น.พ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาโรคไข้หวัดใหญ่, รศ.(พิเศษ) น.พ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11 กรมการแพทย์, น.พ. ศุภมิตร ชุณสุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 10 กรมควบคุมโรค, น.พ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 10 กรมควบคุมโรค, และน.พ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมแถลงพบผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1

นายวิทยา กล่าวว่า มีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพิ่มอีก 77 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมถึงวันที่ 27 มิ.ย. รวม 1,209 ราย หายเป็นปกติแล้ว 1,191 ราย เหลือรักษาตัวอยู่ที่ร.พ. 16 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เสียชีวิต 2 ราย รายแรกเป็น เพศชาย อายุ 42 ปี อยู่ จ.ชลบุรี รายที่ 2 เพศหญิง อายุ 40 ปี อยู่ที่กรุงเทพฯ และรายงานให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รับทราบแล้ว โดยนายกฯ มีความเป็นห่วง และกำชับให้กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนถึงรายละเอียดของโรค ว่าสามารถเกิดการเสียชีวิตขึ้นได้ และเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก

รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า ประเทศไทยทำตามมาตรฐาน ทั้งการเฝ้าระวังและการรักษาโรคมาเป็นอย่างดี และใช้มาตรการสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ด้วยซ้ำ ยืนยันมาตลอดว่าโรคนี้มีโอกาสเสียชีวิตได้ ไม่เคยบอกว่าป่วยแล้วจะไม่เสียชีวิต โดยในขณะนี้ที่สหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยเสียชีวิตกว่า 100 รายแล้ว ขณะที่ไทยก็อยู่ในเกณฑ์เดียวกัน ที่สามารถเกิดขึ้นได้ หากมีผู้ป่วยเสียชีวิต ทาง ร.พ.จำเป็นต้องรายงานให้กระทรวงสาธารณสุขทราบ เพื่อติดตามสถานการณ์ แต่จะไม่บอกชื่อและที่อยู่ แต่จำเป็นต้องรายงานเพื่อเคารพสิทธิของผู้อื่นเช่นกัน

ด้าน น.พ.คำนวณ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 40 ปี ที่เสียชีวิต พบว่ามีโรคประจำตัว คือหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด เคยได้รับการผ่าตัดเมื่ออายุ 12 ปี เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีอาการคล้ายไข้หวัด มีน้ำมูก ไอ หลังจากนั้น 7 วัน เข้ารับการรักษาที่ร.พ. เอกชนแห่ง หนึ่งย่านรามคำแหง วันที่ 14 มิ.ย. ด้วยอาการไข้สูง หอบ เหนื่อย เอกซเรย์พบปอดบวม แพทย์ให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ จบครบชุดการรักษา 5 วัน กระทั่งในวันที่ 20 มิ.ย. ผู้ป่วยอาการทรุดลงและเสียชีวิต และกระทรวงสาธารณสุข เพิ่งได้รับรายงานจากร.พ. เอกชนที่รักษาเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.

ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 10 กรมควบคุมโรค กล่าว ต่อว่า ส่วนผู้ป่วยเพศชาย อายุ 42 ปี ที่เสียชีวิตอีกราย เดินทางกลับจากประเทศโรมาเนีย และกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในวันที่ 14 มิ.ย. เมื่อกลับมาได้ไปเที่ยวในผับแห่งหนึ่งที่ จ.ชลบุรี คาดว่าจะติดเชื้อจากสถานที่ดังกล่าว โดยเริ่มป่วยวันที่ 18 มิ.ย. มีอาการไข้ มีน้ำมูก ไอเล็กน้อย ไปพบแพทย์ที่ร.พ. เอกชนแห่งหนึ่งใน อ.ศรีราชา ครั้งแรกวันที่ 19 มิ.ย. และกลับมาพบแพทย์อีกครั้ง วันที่ 23 มิ.ย. ด้วยอาการไข้สูง เหนื่อยมาก ไอเป็นเลือด มีภาวะปอดบวม แพทย์ให้ยาต้านไวรัส ต่อมาวันที่ 26 มิ.ย. ร.พ.ได้ขอความช่วยเหลือ จึงมีทีมแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปให้ร่วมรักษา แต่ผู้ป่วยอาการทรุดลง หัวใจหยุดเต้น แพทย์ช่วยเหลือได้ทัน แต่อาการก็ทรุดลงอีก และเสียชีวิตในเวลา 09.00 น. วันที่ 27 มิ.ย.

ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีโรคประจำตัว หรือการใช้ยาอะไรเป็นประจำ แต่ก็มีโอกาสเสี่ยงจะเสียชีวิตได้ ตามสถิติคนที่แข็งแรงจะมีความเสี่ยงเสียชีวิตประมาณร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับผู้มีโรคประจำตัว จะเสี่ยงร้อยละ 90 สำหรับผู้ป่วยที่เสียชีวิตรายแรกนั้น ร.พ.เอกชน เพิ่งรายงานให้กระทรวงสาธารณสุขทราบ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. หลังจากที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 6 วัน เนื่องจากญาติต้องการทำพิธีศพให้เรียบร้อยก่อน และไม่อยากเปิดเผยตัว ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 10 กรมควบคุมโรค กล่าว

น.พ.คำนวณ กล่าวอีกว่า ตามหลักการเฝ้าระวังโรคระบาด ทางกระทรวงสาธารสุขทำหนัง สือเวียนกำชับให้ร.พ.ทุกแห่ง ต้องรายงานให้ทราบ เมื่อผู้ป่วยมีการเปลี่ยนสถานะ ทั้งผู้ป่วยเฝ้าระวัง ผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อ และกรณีผู้ป่วยเสียชีวิต ต้องรายงานภายใน 24-48 ชั่วโมง เพื่อให้กระทรวงเข้าไปติดตาม และดำเนินกระบวน การเฝ้าระวังโรค แต่ทางร.พ.ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยประวัติ ชื่อ อาชีพของผู้ป่วยแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ร.พ.สามารถประสานให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมเข้าไปดูแลรักษาได้ โดยมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจพร้อมให้ความช่วยเหลือ จะเป็นเรื่องดีหากประสานงานกัน

ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 10 กรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในร.พ.อีก 16 ราย เบื้องต้นมี 2 ราย ที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด คือ หญิงอายุ 57 ปี เริ่มมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ และนักเรียนจากโรงเรียนชุมพลทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่อาการดีขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน โดยรายนี้ไม่มีโรคประจำตัว แต่มีน้ำหนักมาก เนื่องจากคนอ้วนเมื่อป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับปอด จะมีอาการรุนแรง เพราะหายใจได้ลำบากกว่าคนผอม และ จนถึงขณะนี้ถือว่าอัตราการเสียชีวิตของประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 0.2 เท่านั้น

ส่วน รศ.(พิเศษ)น.พ.ทวี กล่าวว่า สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ยังคงใช้แนวทางเดิม หากมีอาการป่วยน้อย อาการหวัดทั่วไป มีน้ำมูก ไอ ไม่มีไข้ ให้รักษาตามอาการ เช่น กินยาลดไข้ ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ เพราะการไปสถานที่แออัดอย่างร.พ. ทำให้เกิดความเสี่ยงและอันตราย เพราะมีเชื้อโรคปะปนอยู่มาก อาจติดเชื้ออื่นร่วมด้วย และสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการเสี่ยงที่ต้องพบแพทย์โดยด่วน คือ ไข้สูง 3 วันขึ้นไป และไม่ยอมลด มีน้ำมูกมาก ไอมาก เหนื่อยหอบ เพลียมาก อาเจียน

ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ แม้จะมีร่างกายแข็งแรง แต่ก็มีความเสี่ยงเสียชีวิตได้ เพราะจากสถิติพบว่า ผู้ป่วยอายุ 10 ปี จะป่วยมาก ผู้ป่วยอายุ 20 ปี จะนอนร.พ.มากที่สุด และผู้ป่วย 37-40 ปีเสียชีวิตมากที่สุด เพราะเมื่อมีอายุมากขึ้น ก็มีโรคประจำตัวเพิ่มขึ้น ระบบการทำงานภายใน หัวใจ ตับ ปอด มักเริ่มมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง รศ.(พิเศษ)น.พ.ทวี กล่าว

ผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11 กรมการแพทย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีประเทศที่มีปริมาณผู้ป่วยใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น อังกฤษ มีผู้ป่วย 1,300 คน มีผู้เสียชีวิต 21 คน, แคนาดา ป่วย 6,700 เสียชีวิต 19 คน เทียบกันแล้ว ถือว่าไทยเสียชีวิตน้อยกว่ามาก ขณะที่ จีน และญี่ปุ่น มีผู้ป่วยเท่าๆ กับไทย แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ใน อนาคตเชื่อว่าจะมีผู้เสียชีวิตเช่นกัน ส่วนสหรัฐ อเมริกา มีผู้ป่วย 28,000 คน เสียชีวิต 120 คน ซึ่งสหรัฐหยุดรายงานตัวเลขผู้ป่วยนานแล้ว จึงคาดว่าจะมีคนติดเชื้อมากถึง 1,000,000 คน เช่น นิวยอร์ก มีประชากร 10 ล้านคน และมีลักษณะคล้ายกรุงเทพฯ ที่มีประชากรแออัด เชื่อว่ามีผู้ป่วยถึง 700,000 คน อย่างไรก็ตาม สหรัฐและอังกฤษเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการป้องกัน เป็น การรักษาแล้ว

ขณะที่ น.พ.เอื้อชาติ กล่าวว่า การที่ร.พ.ไม่ได้ประสานมายังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยเหลือรักษาอาการผู้ป่วยนั้น เพราะการรักษาของร.พ.ถือว่ามีมาตรฐาน สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ไม่มีมาตรฐาน และหากเสียชีวิตจะต้องแจ้งมายังกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว แต่ในรายนี้ต้องเคารพสิทธิผู้ป่วยเป็นหลัก เนื่องจากญาติผู้ป่วยต้องการชะลอการแจ้งต่อสาธารณะ เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับผลกระทบ เพราะเป็นผู้เสียชีวิตรายแรก หากมีผู้เสียชีวิตเป็นรายที่ 5 รายที่ 6 ก็คงไม่มีใครสนใจ และหากต้องรายงานทุกวันก็จะเบื่อไปเอง

นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อยากขอให้รัฐมนตรีถอนมาตรการเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ หรือเทอร์โมสแกน ที่สนามบิน เพราะไม่ใช่โรคระบาดรุนแรงเหมือนโรคซาร์ส หรือไข้หวัดนก แต่กลับทำให้ประชา ชนตื่นตระหนก และไม่ได้ประโยชน์อะไร ถือเป็นเรื่องปกติ แต่จะต้องระมัดระวังให้ความรู้กับประชาชนดูแลตัวเอง ป่วยแล้วเมื่อไหร่ต้องมา ร.พ. เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น หากมีอาการแทรก ซ้อนต้องมาโรงพยาบาล อย่าไปอยากรู้ว่าติดเชื้อตัวไหน เพราะรักษาเหมือนกัน ส่วนค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ ไม่จำเป็นต้องออกหนังสือเวียนไปยัง ร.พ.เอกชนต่างๆ เพราะร.พ.แต่ละแห่งมีมาตรฐานค่ารักษาพยา บาล หรือตรวจวินิจฉัยอยู่แล้ว แต่โรงพยาบาลอาจมีหลายระดับ ซึ่งผู้เข้าไปใช้บริการก็ต้องทราบอยู่แล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook