ตลาดเวชสำอาง1,500ล.รุ่ง ''อาเวน''เพิ่มเม็ดเงินผ่านสื่อ/อีเวนต์''เอลก้า'' ขยายช่องทางขายดันยอด

ตลาดเวชสำอาง1,500ล.รุ่ง ''อาเวน''เพิ่มเม็ดเงินผ่านสื่อ/อีเวนต์''เอลก้า'' ขยายช่องทางขายดันยอด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ตลาดเวชสำอางแข่งเดือด ผู้นำตลาด โหมโฆษณา กระตุ้นกำลังซื้อ อาเวนรุกหนัก ทุ่มงบ 10 ล้าน เจาะตลาดคนผิวแพ้ง่าย พร้อมขยายช่องทางตลาด และโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์เจาะตรงกลุ่มเป้าหมาย ดันผลิตภัณฑ์น้ำแร่สร้างยอดขายโต 50% ด้านเอลก้าเร่งทัพบิวตี้แบงก์ เปิดช่องทางจำหน่ายใหม่ผ่านเคาน์เตอร์ห้างสรรพสินค้า พร้อมเปิดสินค้าใหม่ 2 รายการ ประเดิมในห้างเซ็นทรัล 4 สาขาต้นเดือนกรกฎาคมนี้ หลังประสบความสำเร็จจากการนำสินค้าผ่านช่องทางทีวีไดเร็คส่งยอดขายโตกว่า 100%

นายไพโรจน์ จงประสานวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว บริษัท แปซิฟิค เฮลธ์แคร์(ไทยแลนด์) จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกลุ่มเวชสำอาง Avene (อาเวน) จากประเทศฝรั่งเศส เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ ว่า ตลาดเวชสำอางมีการขยายตัวต่อเนื่อง สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจ จากตลาดรวมผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและคอสเมติก มูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นตลาดเวชสำอางประมาณ 15% ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีการขยายตัวไม่ต่ำกว่า 20% อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคนไทยให้ความสำคัญกับการดูแลผิวพรรณ และต้องการดูแลสุขภาพตัวเองมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ เจ้าของผลิตภัณฑ์เวชสำอางแบรนด์ต่างๆ ยังหันมาให้ความสำคัญกับการทำตลาด และมีการโฆษณามากยิ่งขึ้น

สำหรับตลาดเวชสำอาง มีผู้นำตลาดหลัก คือ แบรนด์ Eucerin(ยูเซอรีน) ของบริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ (ประเทศไทย) จำกัด มีส่วนแบ่งตลาดเกือบ 70% ตามมาด้วย VICHY (วิชชี่) และ LA ROCHE POSAY (ลา โรช โพเซย์) บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ส่วนแบรนด์ อาเวน ปัจจุบันเป็น 1 ใน5 ของแบรนด์เวชสำอางชั้นนำ

นางสาวมาริษา เอนกรัชดาพร ผู้จัดการผลิตภัณฑ์บำรุงผิว บริษัท แปซิฟิค เฮลธ์แคร์(ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า จุดแข็งของอาเวน คือ ผลิตภัณฑ์สำหรับคนผิวแพ้ง่าย ไลน์ผลิตภัณฑ์ที่มีครอบคลุมกลุ่มผิวแพ้ง่ายในระดับต่างๆ ซึ่งอาเวนถือเป็นเวชสำอางแบรนด์เดียวที่ผลิตภัณฑ์ครบกับทุกระดับของผิวแพ้ง่าย โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ริ้วรอยเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตดีสุด และมีการแข่งขันในตลาดสูงสุด

อาเวน เริ่มเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยประมาณ 4-5 ปี และตั้งแต่ปีที่แล้ว ถือเป็นปีที่เริ่มทำการตลาดจริงจัง และปีนี้จะเป็นปีที่มีความชัดเจนทางการตลาดมากขึ้น เนื่องจากตลาดมีศักยภาพในการขยายตัว และผู้หญิงส่วนใหญ่ยังยอมจ่าย เพื่อดูแลผิวและความสวยความงามของตัวเอง และกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง มักมีความจงรักภักดีกับแบรนด์ (Brand Loyelty) สูง ใช้แล้วไม่ค่อยเปลี่ยนแบรนด์ ดังนั้นบริษัทจึงให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ การสร้างการรับรู้ในแบรนด์มากขึ้น

การทำตลาดของเราไม่เหมาะกับการโฆษณาทางทีวี เราจึงเน้นไปที่อีเวนต์ และการประชาสัมพันธ์ ซึ่งปีนี้ ใช้ตัวน้ำแร่เป็นสินค้านำร่องในการขยายตลาด โดยเน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง มีการจัดโรดโชว์ไปตามออฟฟิศบิลดิ้งต่างๆ การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ และโฆษณาผ่านสื่อใหม่ๆ เช่น โฆษณาในลิฟต์ ตามออฟฟิศทำงานต่างๆ นายไพโรจน์กล่าวและว่า สื่อที่เป็นแมส เน้นเจาะที่สื่อแม็กกาซีน และยังทำอีเวนต์ร่วมกับสื่อวิทยุ เช่น รายงานวิทยุของเวอร์จิ้น เรดิโอ ประเทศไทย รวมทั้งสื่อบนรถไฟฟ้าบีทีเอส สื่อนอกบ้าน (OHM) โดยปีนี้ใช้งบการตลาดมากกว่าทุกปี คือ ประมาณ 10 ล้านบาทจากเดิมที่ใช้อยู่เพียง 5-6 ล้านบาท แบ่งเป็นงบที่ใช้กับ above the line ประมาณ 65-70%

ส่วนช่องทางการตลาด อาเวนเริ่มต้นจากการเจาะตลาดผู้ใช้ตามโรงพยาบาลต่างๆ หลังจากนั้น ขยายตลาดสู่เพอร์ซันนัลสโตร์ เช่น วัตสัน บู๊ทส์ และร้านยา รวมทั้งเคาน์เตอร์ยาทั่วไป ซึ่งขณะนี้มีการขยายช่องทางจัดจำหน่ายมากขึ้น 30-40% คาดว่าหลังการบุกตลาดเต็มที่ ปีนี้จะสามารถผลักดันยอดขายผลิตภัณฑ์น้ำแร่บำรุงผิวอาเวนให้เติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 50%

นางสาวเบญจมาส กลิ่นส่ง ผู้จัดการผลิตภัณฑ์แผนกความงามบิวตี้แบงก์ บริษัท เอลก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่า บริษัทมีแผนการขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ช่องทางจำหน่ายหลักจะเป็นร้านวัตสัน และที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายช่องทางใหม่ไปในกลุ่มของตลาดแบบตรงกับสินค้าในรายการทีวีไดเร็คที่ออกอากาศทั้งในช่องฟรีทีวีและเคเบิลทีวี ซึ่งส่งผลให้สินค้าได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคสูงมาก เห็นได้จากยอดขายในช่องทางดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 100% และส่งผลให้สัดส่วนการยอดขายผ่านจำหน่ายช่องทางทีวีไดเร็คเพิ่มขึ้นเป็น 50% จากยอดขายรวม เท่ากับร้านวัตสันที่มีสัดส่วน 50% ดังนั้นในเดือนกรกฎาคม 2552 นี้ บริษัทมีแผนการเปิดเคาน์เตอร์เครื่องสำอางบิวตี้แบงก์ผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด โดยจะเริ่มเปิดก่อนใน 4 สาขา คือ ห้างเซ็นทรัลสาขาชิดลม ,ลาดพร้าว, บางกะปิ และบางนา ซึ่งหากได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค ก็มีแผนขยายไปยังห้างสรรพสินค้าอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

จุดเด่นของเคาน์เตอร์ที่จะเปิดใหม่นี้ ได้วางตำแหน่งสินค้าเป็นเวชสำอาง ซึ่งในตลาดเคาน์เตอร์แบรนด์ตามช่องทางห้างสรรพสินค้ายังไม่มีใครดำเนินการมาก่อน และวางราคาในระดับที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้ โดยมีระดับราคาประมาณ 2,000-2,500 บาท รวมทั้งบริษัทมีแผนการออกสินค้าใหม่อีก 2 รายการ ภายใต้แบรนด์ กู๊ด สกิน แลป คือผลิตภัณฑ์แก้ปัญหาเฉพาะจุด และผลิตภัณฑ์ดูแลรอบดวงตา ซึ่งการวางตำแหน่งสินค้าจับกลุ่มเวชสำอาง ถือเป็นการสร้างความแตกต่างของตลาดเคาน์เตอร์แบรนด์ อีกทั้งจากการขยายช่องทางนี้จะช่วยให้บริษัทมีช่องทางจำหน่ายเป็น 3 ช่องทาง และจะส่งผลให้สินค้าและแบรนด์ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้แบรนด์มากยิ่งขึ้น บริษัทได้ทุ่มงบประมาณกว่า 10% ของยอดขายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามสื่อแม็กกาซีนต่างๆ รวมทั้งได้จัดกิจกรรมผ่านเว็บไซต์ โดยจะเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้ามาเล่นเกมต่างๆ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ Viral Marketing หรือการใช้กลยุทธ์ปากต่อปาก เพื่อให้ผู้บริโภครู้จัก

แบรนด์สินค้ามากขึ้น สำหรับแผนกบิวตี้แบงก์นี้ ประกอบด้วยแบรนด์หลัก 4 แบรนด์ คือ Good Skin ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลพื้นฐาน ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวเป็นพิเศษ เมกอัพ Good Skin Labs , Grassroots Research Labs ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มี ส่วนผสม หลักจากธรรมชาติแบรนด์ Flirt ผลิตภัณฑ์เมกอัพและน้ำหอมเน้นกลุ่มวัยรุ่น และแบรนด์ Amwerican Beauty ผลิตภัณฑ์ความงามครบวงจร เน้นวางจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศจะอยู่ในช่วงขาลง แต่บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เห็นได้จากยอดขายในช่วง 10 เดือน(กันยายน 2551 -ตุลาคม 2552) ยังมีการเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook