เงินเฟ้อลบ6ด.-เข้ายุคฝืด

เงินเฟ้อลบ6ด.-เข้ายุคฝืด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือดัชนีเงินเฟ้อประจำเดือนมิ.ย.52 มีการปรับตัวลดลง 4% เทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปี51 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 12 ปีนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี40 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ค่าน้ำ ค่าไฟและค่าประปา ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.52 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.4%

แม้ว่าการติดลบของเงินเฟ้อจะต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 6 แล้ว แต่ยืนยันว่ายังไม่ใช่ภาวะเงินฝืดอย่างที่เกิดความกังวล เนื่องจากการจะเกิดภาวะเงินฝืดนั้นสินค้าโดยส่วนใหญ่จะต้องปรับราคาลดลง แต่ในขณะนี้ราคาสินค้าในหมวดอาหารยังปรับตัวสูงขึ้น มีเพียงสินค้าในหมวดพลังงานที่ปรับตัวลดลง รวมทั้งยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ช่วยให้กระตุ้นการใช้จ่ายได้ ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเฉลี่ยระยะ 6 เดือน (ม.ค-มิ.ย.52) พบว่าลดลง 1.6%นายศิริพล กล่าว

สำหรับ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนมิ.ย.52 เท่ากับ 102.5 ลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่หากเทียบกับเดือนพ.ค.52 เพิ่มขึ้น 0.2% และเฉลี่ย 6 เดือน ปี52 ขยายตัวสูงขึ้น 0.7%

นายศิริพล กล่าวว่า ส่วนเงินเฟ้อทั้งปี52 ยังคงคาดไว้ที่เป้าหมายเดิมคือ 0-0.5% เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลังเชื่อว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวก เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะแข็งค่าขึ้น และบางมาตรการของรัฐที่จะเข้ามาช่วยประชาชนในด้านค่าครองชีพ อย่างไรก็ตาม ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้าจะมีการทบทวนเงินเฟ้อใหม่อีกครั้ง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.52 ที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ว่า ทางเทคนิคถือว่าประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว ทุกฝ่ายต้องยอมรับความจริง ประกอบกับเงินเฟ้อที่ติดลบยังเกิดขึ้นควบคู่ในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวอย่างต่อเรื่องโดยขยายตัวติดลบต่อเนื่อง 2 ไตรมาสแล้ว ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแลเงินฝืดที่เกิดขึ้นในขณะนี้

เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมิ.ย.ปีนี้เทียบกับปีก่อน พบว่าขยายตัวติดลบเป็นเดือนแรกคือ ลบ 1% แสดงให้เห็นว่าอาจจะเกิดปัญหาขึ้นกับอำนาจซื้อของประชาชน ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจไทยอาจเริ่มเข้าสู่ภาวะเปราะบาง ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว เร่งอัดงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ เบิกจ่ายงบประมาณ และลดความตรึงเครียดด้านการเมือง ให้มากที่สุดนายธนวรรธน์ กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook