เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีก ในช่วงที่เหลือของปี 2552

เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีก ในช่วงที่เหลือของปี 2552

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ค่าเงินบาทมีแนวโน้มสูงค่าขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนปีนี้ จาก 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 27 เมษายน มาอยู่ที่ 34.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 26 มิถุนายน และคาดว่าจะแข็งค่าขึ้นต่อไปอีกในช่วงครึ่งหลังของปี 2552

สาเหตุของการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทมาจากทั้งปัจจัยภายในประเทศ คือ การเพิ่มขึ้นของเงินสำรองระหว่างประเทศจากการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด และปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะลดลงต่อไปอีกค่อนข้างมากในครึ่งหลังของปี 2552 และอาจจะต่อเนื่องไปในปี 2553

ด้านปัจจัยภายในประเทศ การเพิ่มขึ้นของการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด จากที่การนำเข้าหดตัวรุนแรงกว่าการส่งออก โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกของไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวลงร้อยละ 21.2 ขณะที่การนำเข้าหดตัวมากถึงร้อยละ 37.8 ทำให้ประเทศไทยเกินดุลการค้าสูงถึง 8,418.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณการส่งออกที่ดีขึ้น โดยคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจของหลายประเทศ เช่น จีน ออสเตรเลีย บราซิล รวมไปถึงประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเริ่มฟื้นตัว ทำให้คาดว่าการส่งออกของไทยจะหดตัวน้อยลงในช่วงครึ่งหลังของปี

ขณะที่คาดว่าอุปสงค์ในประเทศจะยังคงทรุดตัวต่อไป ซึ่งทำให้การนำเข้ายังคงหดตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น ผมจึงเชื่อว่าดุลการค้าจะยังคงเกินดุลในระดับสูงต่อไป ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ยังมีการเกินดุลบริการและการโอนเงินสุทธิ จึงส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current account =ดุลการค้า+ดุลบริการ) เกินดุลมากขึ้น โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2552 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 9,537.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะยังเกินดุลในระดับค่อนข้างสูงต่อไปในครึ่งหลังของปี 2552

ปัจจัยต่างประเทศ คือการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 วิกฤติการเงินโลกอยู่ในขั้นรุนแรงมาก ส่งผลให้เงินทุนในตลาดโลกต่างก็ไหลเข้าสหรัฐฯ เพื่อลดความเสี่ยง ค่าเงินดอลลาร์จึงปรับตัวสูงขึ้น แต่ในระยะหลังปัญหาดังกล่าวเริ่มคลี่คลาย จึงทำให้นักลงทุนนานาประเทศเริ่มคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤติการเงิน ซึ่งดูได้จากดัชนีความมั่นใจของสหรัฐฯ ยุโรป เยอรมนี ญี่ปุ่น และประเทศพัฒนาแล้วเกือบทุกประเทศปรับตัวดีขึ้นใน 2 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีเงินไหลออกจากสหรัฐฯเพื่อไปลงทุนในตลาดอื่นๆ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจึงเริ่มปรับตัวลดลง

นอกจากนี้ การที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ต่ำกว่ายุโรปและประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเร่งการไหลออกของเงินทุนอีกทางหนึ่ง ประกอบกับทางธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ใช้วิธีอัดฉีดเงิน (Quantitative Easing) เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯหลายวิธี เช่น การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล การซื้อตราสารหนี้ที่อิงกับสินเชื่อเคหะของสถาบันการเงินที่สนับสนุนโดยรัฐบาล รวมไปถึงการปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินโดยตรง การกระทำเช่นนี้ทำให้ปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ผลโดยรวมของการเพิ่มขึ้นของอุปทานเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จึงกดดันให้ค่าเงินอ่อนตัวตามมา

แนวโน้มที่ดอลลาร์สหรัฐฯจะอ่อนค่าลง ทำให้รัฐบาลของหลายประเทศปรับลดการถือครองดอลลาร์สหรัฐฯ ลงไปแล้ว โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลกลางของจีนปรับลดการถือดอลลาร์สหรัฐฯ ลง จาก 767,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนก่อนเหลือ 763,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 ส่วนบราซิลปรับลดลงจาก 126,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือ 126,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รัสเซียปรับลดลงจาก 138,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือ 137,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และฮ่องกงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จาก 80,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือ 78,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการเงินและการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้การขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจาก 440,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีงบประมาณ 2551 เป็น 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2552 หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของมูลค่าเศรษฐกิจ (GDP) การขาดดุลงบประมาณมูลค่ามหาศาลเช่นนี้ ในขณะที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมากอยู่แล้ว ทำให้ยากที่จะดึงดูดให้นักลงทุนโดยเฉพาะธนาคารกลางและรัฐบาลของต่างประเทศเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่จะออกมาใหม่ได้ทั้งหมด

การที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯเริ่มขาดแรงดึงดูดสำหรับนักลงทุน ทำให้เห็นแนวโน้มว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะไม่สามารถขายพันธบัตรได้เพียงพอที่จะชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ ซึ่งจะทำให้ Fed ต้องเข้ามารับซื้อพันธบัตรที่เหลือไว้เอง โดยวงเงินที่ Fed ตั้งไว้ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาจจะไม่เพียงพอและต้องเพิ่มวงเงิน ซึ่งในที่สุดจะเป็นการเพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าสู่ระบบการเงินอีกมาก

จากปัจจัยทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จึงคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ดอลลาร์สหรัฐฯ จะอ่อนค่าลงมากในครึ่งหลังของปีนี้ ประกอบกับการที่ประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูง ขณะที่มีหนี้ต่างประเทศโดยเฉพาะหนี้ระยะสั้นต่ำ ทำให้มีแนวโน้มว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมากในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook