''เซ็นทรัลการ์ด''อัดฉีดงบลุยโค้งหลัง โหมแคมเปญดันลูกค้าเพิ่ม5หมื่นใบ

''เซ็นทรัลการ์ด''อัดฉีดงบลุยโค้งหลัง โหมแคมเปญดันลูกค้าเพิ่ม5หมื่นใบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เซ็นทรัลการ์ดอัดงบทั้งปี 500 ล้านบาท เร่งทำตลาดอีก 6 เดือนที่เหลือ หลังเห็นสัญญาณแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัว ออกแคมเปญ Your Identity...Anywhere ทั้งโปรโมชันและเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ลูกค้า ตั้งเป้าทั้งปีเพิ่มฐานบัตรอีก 50,000 บัตร

นายมนตรี สิทธิญาวณิชย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการบัตรเซ็นทรัลการ์ด เปิดเผยว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังซึ่งมีสัญญาณดีขึ้น บริษัทจึงเพิ่มงบทำตลาดทั้งปีเป็น 500 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 400 ล้านบาท หรือจะใช้งบประมาณใน 6 เดือนที่เหลือ 300 ล้านบาท ภายใต้แคมเปญ Your Identity...Anywhere ซึ่งงบประมาณ 70-80% จะใช้เพื่อจัดโปรโมชันและเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับลูกค้า ส่วนที่เหลือเป็นการใช้สื่อโฆษณาและทำกิจกรรมร่วมกับพันธมิตรภายนอก

ขณะเดียวกันบริษัทจะออกแคมเปญใหม่อย่างต่อเนื่องทุกเดือนตลอดทั้งปี เพื่อกระตุ้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ต้องการสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายบัตรเซ็นทรัล เครดิตการ์ดผ่านห้างสรรพสินค้าหรือพันธมิตรนอกห้างอีก 8 แห่งเพื่อให้ครอบคลุมการใช้จ่ายในทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งบริษัททัวร์ โรงแรม รีสอร์ต โรงพยาบาล สถานีบริการน้ำมัน สปา สถานเสริมความงาม สถานที่ออกกำลังกาย ครอบคลุมถึงการใช้จ่ายต่างประเทศ รวมทั้งแคมเปญคืนเงิน 1%ของยอดใช้จ่าย

นอกจากนี้ยังมีโปรโมชันพิเศษลดเพิ่มอีก 5 %ทุกวันที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลและเซนทุกสาขา โดยไม่มีขั้นต่ำและขั้นสูง และเงินเครดิตคืน 5%เมื่อใช้จ่ายผ่านสถานีบริการน้ำมันทุกแห่งทั่วประเทศ

หลังออกแคมเปญดังกล่าวคาดว่าจะมีลูกค้าเพิ่มประมาณ 20% จากครึ่งปีแรก (ม.ค.- มิ.ย. 2552) ยอดอนุมัติมีจำนวน 4,000 บัตรต่อเดือน คาดว่าทั้งปีเพิ่มอีก 50,000 บัตรเป็นฐานบัตรทั้งสิ้น 850,000 บัตร ขณะที่รายได้น่าจะเติบโตไม่ถึง 10 % ส่วนใหญ่ยังเป็นรายได้จากดอกเบี้ย 80 %ที่เหลือเป็นรายได้จากค่าธรรมเนียม ซึ่งปัจจุบันบริษัทคิดค่าธรรมเนียม 300 บาทต่อปี

นายมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ฐานลูกค้าบัตรเซ็นทรัลการ์ดส่วนใหญ่ หรือประมาณ 80% เลือกชำระเต็มวงเงิน เป็นการสะท้อนคุณภาพลูกค้าที่มีวินัย โดยครึ่งปีแรกยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรคลาสสิคอยู่ที่ 5,000 บาทต่อบัตรต่อเดือน บัตรทอง 8,000 บาทต่อบัตรต่อเดือน และบัตรแพลทตินั่ม 40,000 บาทต่อบัตรต่อเดือน ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)นั้น ยอมรับว่าในช่วง 2-3เดือนที่ผ่านมา ลูกค้ามีสัญญาณผ่อนชำระล่าช้ามากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ค้างชำระ 30 วันยังไม่ถึงกับเป็นเอ็นพีแอล โดยปัจจุบันเอ็นพีแอลอยู่ที่ระดับไม่ถึง 1%ของสินเชื่อรวม 10,000ล้านบาท

ภายในปีนี้บริษัทจะทยอยเปลี่ยนบัตรเป็นบัตรติดชิป เริ่มจากบัตรที่มีวงเงินสูงๆ ตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจะทยอยเปลี่ยนบัตรที่ครบกำหนดเพื่อป้องกันการทุจริต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook