แขวนงบฯ บริหารหนี้สาธารณะ กมธ.ยังไม่เคลียร์แผนชำระเงิน

แขวนงบฯ บริหารหนี้สาธารณะ กมธ.ยังไม่เคลียร์แผนชำระเงิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ในการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 โดยมีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองประธาน กมธ. ทำหน้าที่เป็นประธานพิจารณางบประมาณหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง คือ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ที่พิจารณายังไม่เสร็จสิ้น

นายอัสนี เชิดชัย ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการ เปิดเผยว่า การชี้แจงในสัปดาห์ที่ผ่านมา สบน.ชี้แจงด้วยความรวดเร็ว แต่ไม่ได้ชี้แจงถึงรายละเอียดการกู้เงิน 400,000 ล้านบาท รวมถึงแผนการชำระหนี้ และเหตุผลในการออกพันธบัตรกู้เงินในประเทศ ว่าเหตุใดจึงไม่ใช้ช่องทางในต่างประเทศ

ขณะที่ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สบน. ชี้แจงว่า เป้าหมายของ สบน.คือ การระดมเงินทุนในจำนวนที่พอเพียงต่อการใช้จ่ายของภาครัฐในต้นทุนที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยให้อยู่ภายใต้กรอบความเสี่ยงที่เหมาะสม สบน.ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะทำให้หนี้เป็นศูนย์ ไม่เช่นนั้นคงไม่จำเป็นต้องมี สบน.

ทั้งนี้ สบน.คาดว่าหากมีการกู้เงินตาม พ.ร.ก. และร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจแล้วจะทำให้ปริมาณหนี้สาธารณะปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดที่ร้อยละ 60 ของจีดีพีในปี 2556 และหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวเข้าสู่สภาวะปกติ โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 5 จะทำให้ปริมาณหนี้สาธารณะปรับลดลงในปี 2557-2558 โดยปริมาณหนี้จะปรับตัวมาอยู่ในจุดที่เหมาะสม คือ ประมาณร้อยละ 40 ของจีดีพีในปี 2561

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ สบน. ยังชี้แจงว่า สถาบันการเงินระหว่างประเทศมีวงเงินที่จัดสรรสำหรับประเทศไทยเป็นวงเงินจำกัด ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถกู้ได้ตามความต้องการใช้เงินทุกครั้งไป ประกอบกับการกู้เงินต่างประเทศมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศจะต่ำกว่าในประเทศ แต่เมื่อคำนึงถึงอัตราแลกเปลี่ยนแล้วต้นทุนไม่ได้ต่ำเสมอไป และกลับทำให้ความเสี่ยงในการบริหารหนี้สินมีความลำบากมากขึ้น เนื่องจากต้องบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนด้วย นอกจากนี้สภาพคล่องในประเทศยังอยู่ในระดับสูง โดยมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท

ดังนั้น หากไม่มีการกู้เงินใหม่ภายใน 30 ปีนี้ หนี้สาธารณะจะหมดไป โดยมีข้อแม้ว่า รัฐบาลจะต้องตั้งงบประมาณชำระหนี้เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากปัจจุบันงบประมาณชำระหนี้ส่วนใหญ่เป็นงบชำระดอกเบี้ย ส่วนงบชำระเงินต้นมีอยู่ไม่มาก

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการตั้งข้อสังเกตในเรื่องของอัตรากำลังของ สบน. ว่าเพียงพอต่อการบริหารหนี้หรือไม่ ยอมรับว่ามีความกังวลอยู่ระดับหนึ่ง แต่มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณเข้ามาช่วยดูแล และหาก กมธ.เห็นระเบียบการจัดการโครงการไทยเข้มแข็งแล้วเชื่อว่า กมธ.จะคลายความกังวลได้

สำหรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 กระทรวงการคลังได้รับการจัดสรรจำนวน 215,886 ล้านบาท โดยผลการประชุม กมธ. ล่าสุด พบว่า ในที่ประชุมได้พิจารณาแขวนงบประมาณในบางโครงการของกระทรวงการคลังเอาไว้ก่อน

ขณะที่น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 เปิดเผยฐานเศรษฐกิจว่า เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่าข้อมูลที่นำมาชี้แจงนั้นยังไม่ครบถ้วน ไม่ละเอียดเพียงพอ อาทิ งบประมาณในส่วนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจำนวน 197,946 ล้านบาท แบ่งเป็นงบสำหรับการชำระหนี้ภายในประเทศจำนวน 186,539 ล้านบาท และงบประมาณสำหรับการชำระหนี้นอกประเทศจำนวน 11,406 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ กมธ.ทำงานตรงตามกรอบเวลาที่วางไว้ จึงได้ตั้งอนุกรรมาธิการจำนวนหนึ่งเพื่อเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม โดยอนุกรรมาธิการดังกล่าวมีองค์ประกอบสำคัญ คือ เป็นฝ่ายรัฐบาลจำนวน 6 คน ฝ่ายค้านอีก 4 คน และอีก 7 คนมาจากหน่วยงานใดก็ได้ ทั้งนี้ เชื่อว่า สุดท้ายแล้วงบประมาณจำนวนดังกล่าวจะได้รับความเห็นชอบจาก กมธ. ได้ในที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook