ธปท.ซัดมาตรการรัฐบาลสาเหตุเงินเฟ้อติดลบ มาร์คเชื่อเงินกู้8แสนล.สร้างงาน ช่วยไม่ให้เกิดเงินฝืด

ธปท.ซัดมาตรการรัฐบาลสาเหตุเงินเฟ้อติดลบ มาร์คเชื่อเงินกู้8แสนล.สร้างงาน ช่วยไม่ให้เกิดเงินฝืด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ถึงภาวะเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ติดลบ 4% ซึ่งถือว่ามากที่สุดในรอบ 12 ปีว่า ตัวเลขเงินเฟ้อจะมีอยู่สองตัว คือ ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปกับตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐาน เราก็คิดว่าถ้าเงินเฟ้อไม่สูงมากนัก จะช่วยให้รัฐบาลบาลยังมีช่องทางในแง่ของการทำนโยบายการเงินได้มากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงจะเข้าไปสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า คงไม่ คิดว่าเมื่อรัฐบาลเอาเงินออกจากระบบ 8 แสนล้านบาท ในลักษณะของเงินกู้ที่จะนำมาลงทุนสร้างงาน และให้เงินหมุนเวียน จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืดได้ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลตัดสินใจในเรื่องเงินกู้ เพราะเห็นแล้วว่าในกระบวนการของการเงินและระบบธนาคาร เงินจะอยู่เฉยๆ ดังนั้น จึงตัดสินใจอย่างที่ดำเนินการไปแล้ว

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หากไม่มีมาตรการรัฐบาลที่ให้เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค และนโยบายเรียนฟรี 15 ปี จะทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนพฤษภาคมขยายตัว 2.2% จากที่ติดลบ 3.3% และเชื่อว่าจะไม่มีโอกาสที่จะเกิดภาวะเงินฝืด จากอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนติดลบ 4% เมื่อเทียบจากปีก่อน

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท. เปิดเผยว่า ไม่มีความกังวลว่าจะเกิดภาวะเงินฝืด เนื่องจากความต้องการซื้อ (อุปสงค์) ในประเทศยังมีอยู่ และมีแนวโน้มที่ราคาอาหารจะปรับสูงขึ้น ส่วนที่เงินเฟ้อติดลบกับต่อเนื่อง 6 เดือน เป็นเพราะภาวะราคาน้ำมันปีที่แล้วสูงขึ้นมาก และผลพวงจากมาตรการรัฐบาล ทั้ง 5 มาตรการ 6 เดือน และนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดพลังงานและอาหาร จะอยู่ที่ 3.3%

หากรัฐบาลไม่ขายเวลา 5 มาตรการ 6 เดือน จะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการติดลบของเงินเฟ้อมาจากมาตรการของรัฐบาลเป็นสำคัญ แต่จำเป็นต้องมีมาตรการดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน อย่างไรก็ตาม ยังคาดว่าในไตรมาส 3 ปีนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) น่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ที่คาดว่าจะกลับมาเป็นบวก หากรัฐบาลมีเสถียรภาพ และคำสั่งซื้อที่เข้ามาเป็นคำสั่งซื้อที่แท้จริง นางอมรากล่าว

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่องและอาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืดนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะเป็นภาวะที่ผู้บริโภคไม่ยอมจับจ่ายซื้อสินค้า ทั้งที่ผู้ผลิตลดราคาลงมาจนอยู่ในภาวะที่เกือบขาดทุนแล้ว วิธีการแก้ปัญหาคือ ต้องเร่งสร้างงานให้คนมีงานทำเพื่อให้มีรายได้ จับจ่ายหาซื้อสินค้า การแจกเงินให้ประชาชนประมาณ 20,000 ล้านบาท ตามโครงการเช็คช่วยชาติ แม้จะเป็นการช่วยกระตุ้นการจับจ่าย แต่ก็ไม่ช่วยแก้ภาวะเงินฝืดได้

ต้องทำให้ประชาชนมีรายได้ ทำให้มีงานทำถาวร การแจกเงินให้ประชาชนไปซื้อสินค้าคงคลังขายไม่หมด แก้ปัญหานี้ไม่ได้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาสภาพคล่อง และการไม่ปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากเกินไปในขณะนี้ด้วย นายสุชาติกล่าว

ด้านนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณงานในส่วนการลงทุนก่อสร้าง ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรก วงเงิน 1.167 แสนล้านบาทว่า เรื่องนี้ถือเป็นการยืนยันเหตุผลได้ดีที่สุด ว่าทำไมการจัดสรรงบประมาณในส่วนงานลงทุนก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นโครงการถนนปลอดฝุ่นหรือแหล่งน้ำ ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรก จึงไม่สูงตามที่ร้องขอมา เพราะงานส่วนนี้มีขั้นตอนการดำเนินงานมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การแจกเช็คช่วยชาติคนละ 2,000 บาท การจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ หรือการเพิ่มค่าครองชีพให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นต้น

เบื้องต้นกำชับไปแล้วว่า งานลงทุนก่อสร้างตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกทั้งหมด ภายในเดือนกันยายนทุกโครงการจะต้องเซ็นสัญญาได้ทั้งหมด หากงานส่วนไหนทำไม่ได้ จะถูกตัดทิ้งทันที และไม่ต้องมาพูดถึงเรื่องขอใช้งบประมาณในส่วนของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสองอีก เพราะขนาดให้งบฯไปน้อยยังทำไม่ได้เลย นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า แม้ขณะนี้งานในส่วนการลงทุนก่อสร้างจะมีความล่าช้า แต่เชื่อว่างานทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด และภาพรวมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะหนึ่งที่ออกมาขณะนี้ ก็มีความพอใจในระดับหนึ่ง และเชื่อว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง หากรัฐบาลไม่ออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนนี้ออกมา เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศจะทรุดหนักลงไปมากกว่านี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการถนนปลอดฝุ่น อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม โควต้าพรรคภูมิใจไทย ได้รับงบประมาณจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกไป 1,500 ล้านบาท ส่วนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โควต้าพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นหลัก ได้รับงบประมาณไปมากกว่า 2,000 ล้านบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook