เมืองน่าอยู่ (ต่อ)

เมืองน่าอยู่ (ต่อ)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คอลัมน์ เลาะรั้ว

นายช่าง

คำถามที่เคยถามนักผังเมืองหรือผู้กำหนดวางผังเมืองกรุงเทพฯ ว่าเมืองน่าอยู่ที่คิดว่าได้วางผังเมืองรวมกรุงเทพฯ นั้นเป็นอย่างไร นักผังเมืองเคยถามคนกรุงเทพฯ หรือไม่ว่าเมืองน่าอยู่ของคนกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร

ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ที่กำหนดการใช้พื้นที่เป็นสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน และกำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะให้ก่อสร้างอาคารหรือใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นเป็นอย่างไร จะบอกได้อย่างไรว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ที่น่าอยู่ กรุงเทพฯ มีความหลากหลายและแตกต่างกันในระดับต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครมีทั้งเขตชนบท เขตกึ่งชนบท เขตชุมชนย่อยที่อยู่อาศัย เขตชุมชนย่อยค้าขาย เขตธุรกิจ เขตอยู่อาศัยหนาแน่นในระดับต่างๆ ที่สลับซับซ้อนปนกัน

ในวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ก็แตกต่างกันอย่างมากเมืองหนึ่งของโลก ความแตกต่างทางชนชั้น ทั้งทางสังคมและความเป็นอยู่ก็ปรากฏอยู่ทั่วไป

ความแตกต่างของพื้นที่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และชนชั้นทางสังคม จึงเชื่อว่าความเป็นเมืองน่าอยู่ของแต่ละผู้คนชาวกรุงเทพฯ น่าจะไม่เหมือนกันและเท่ากัน นักผังเมืองจะเชื่อได้อย่างไรว่าจะทำเมืองให้น่าอยู่ได้โดยการใช้แผนผังกรุงเทพฯ ที่แบ่งสีสันและประโยชน์การใช้ที่ดิน

ความเป็นเมืองน่าอยู่ของนักผังเมืองที่เคยได้ยินได้ฟังจากการสัมมนา จากการประชุม ฟังประชาพิจารณ์ ก็เห็นบอกกันว่าเมืองน่าอยู่น่าจะเป็นดังนี้

1.เป็นเมืองที่มีสวนสาธารณะหรือพื้นที่ว่างหรือพื้นที่สีเขียว ว่ากันว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีสวนสาธารณะหรือที่ว่างไม่ถึงร้อยละ 10 ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร

คำถามก็คือ ในความแตกต่างของวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ฐานะทางชนชั้นสังคม จริงหรือที่คนกรุงเทพฯ ต้องการสวนสาธารณะมากกว่านี้

ผู้คนในวิถีชีวิตเกษตรชานเมือง เช่น เขตคลองสามวา ต้องการสวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวจริงหรือ เพราะรอบด้านของชุมชนเหล่านั้นคือเรือกสวนไร่นา เช่นเดียวกันผู้คนในพื้นที่เยาวราช ราชวงศ์ แถบถนนเจริญกรุง ต้องการพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะจริงๆ และถ้าถามผู้คนที่อาศัยอยู่ริมคลองบางกอกน้อย คลองบางหลวง ว่าต้องการสวนสาธารณะไหม ก็คงจะได้คำตอบไปอีกทางเป็นแน่

2.เป็นเมืองที่มีระบบสาธารณูปโภค ถนนหนทางดีสะดวก ดังคำขวัญสมัยปี 2500 ว่า น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ

ในเรื่องของถนนหนทางของเมืองน่าอยู่ ก็เชื่อว่านักผังเมืองคงวาดหวังว่าน่าจะมีถนนกว้าง มีต้นไม้ริมทาง แยกทางเดินเท้าออกจากรถยนต์ เหมือนเมืองหลวงของออสเตรเลีย ที่เชื่อว่าเป็นเมืองที่มีผังเมืองที่ดีที่สุดในโลกเมืองหนึ่ง

แต่ก็เช่นเดียวกัน ถ้าถามกับกลุ่มคนที่เอ่ยชื่อมาในเรื่องของความเห็นในเรื่องของสวนสาธารณะ คำตอบของถนนหนทางก็จะได้เป็นอีกทางหนึ่งเช่นกัน

3.เป็นเมืองสะอาด เรียบร้อย ไม่รกรุงรัง ไม่อึดอัด ไม่แออัด

เรื่องของความสะอาดเรียบร้อยก็อาจจะโยงต่อจากเรื่องของถนนหนทาง เรื่องความรกรุงรังของระบบสาธารณูปโภค สายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ ท่อระบายน้ำ ทางเท้า ก็ถามกันตรงๆ ว่าเรื่องนี้ผังเมืองรวมกำหนดกฎเกณฑ์ได้หรือไม่ และยังมีเรื่องหาบเร่ แผงลอย จอดรถ ยิ่งเห็นว่าผังเมืองรวมกำหนดไม่ได้ เพราะเป็นวิถีชีวิต เมืองน่าอยู่ของผู้คนที่มีวิถีชีวิตอย่างนี้ก็หมายถึงความสะดวกสบายที่เขาเหล่านั้นจะเลี้ยงชีวิตโดยชอบ

ที่เขียนมาก็คือ ไม่อยากเห็นบรรดานักผังเมืองที่ช่วยกันวางผังเมืองรวมกรุงเทพฯ บอกในสิ่งที่ทำไม่ได้ว่าจะทำให้เมืองน่าอยู่ ภายใต้กฎเกณฑ์ข้อกำหนดที่มีอยู่ทางกฎหมาย ภายใต้แนวคิดความหวังของนักผังเมือง ที่ความเป็นจริงแล้วไม่แน่ใจว่าเมืองน่าอยู่ในวิถีชีวิตอันแตกต่างของคนกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร

ในที่สุดผังเมืองรวมก็คงเป็นเพียงแผนที่ระบายสีที่มีข้อกำหนดให้ใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์อย่างไรและที่สำคัญคือ ข้อห้ามก่อสร้างอาคารประเภทต่างๆ เท่านั้น แผนที่ระบายสีทำให้เมืองน่าอยู่ไม่ได้ ทำได้แค่จำกัดสิทธิ์ของพลเมือง

ขอความกรุณาอย่าประชาสัมพันธ์กันว่าจะวางผังเมืองรวมให้เป็นเมืองน่าอยู่ เพราะเป็นไปไม่ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook