แม่ คือพรหมของลูก

แม่ คือพรหมของลูก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
โดย พระมหาสายัญ ศรีอ่อน

คำว่า แม่ เป็นภาษาไทย หมายถึง ผู้หญิงที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกด้วยความเอ็นดู

ภาษาบาลีใช้คำว่า มาตุ

ภาษาสันสกฤตใช้คำว่า มาตฺฤ (อ่านว่า มา-ตะ-ริ หรือ มา-ตริ)

ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Mother (ออกเสียงว่า มา-เธอร์ ดู Longman Dictionary, 2005:1071)

คำว่า มาตุ หรือ มาตฺฤ ใช้ในภาษาไทยว่า มารดา ทั้งคำว่า มาตุ และ มาตฺฤ มาจากรากคำเดิมว่า มานฺ (ออกเสียงว่า มาน) มีความหมายว่า รัก, ทะนุถนอม, เอ็นดูด้วยคุณธรรม (ของผู้เป็นแม่)

คำว่าแม่คำเดียวนี้ยังหมายถึง ผู้ให้กำเนิดแก่ลูกหรือบุตร และเป็นผู้ให้นมแก่ลูก ดังนั้น ลูกที่กินนมจากอกแม่จึงเรียกว่า โอรส (แปลว่าเกิดจากอก) มาจากคำเดิมว่า อุระ ที่แปลว่า อก (สระ อุ และ โอ เป็นสระฐานเดียวกัน)

เมื่อเป็นเช่นนี้ ลูก จึงถือได้ว่าเป็นผู้ที่เกิดมาและเติบโตขึ้นจากอกของแม่ แม่ต้องคอยประคบประหงมเลี้ยงดูด้วยความรักและเป็นห่วงเพราะกลัวว่าลูกอาจเกิดโรคร้ายหรืออาจเสียชีวิตได้ เหตุเพราะว่าเด็กอ่อนมีภูมิต้านทานโรคไม่แข็งแรงจึงต้องดูแลเป็นพิเศษ

เมื่อเป็นช่นนี้ จึงทำให้มีคำศัพท์ที่ใช้เรียกเด็กว่า กุมาร มาจาก กุ ที่แปลว่า ง่าย มาร มาจากรากศัพท์เดิมว่า มรุ แปลว่า ตาย คำว่า กุมาร จึงหมายถึงเด็กอ่อนที่อาจจะตายได้ง่ายเพราะขาดภูมิต้านทานโรค

ด้วยประการดังอธิบายมานี้จึงเห็นได้ว่า แม่ในทุกๆ วัฒนธรรมมีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องถึงกัน

แม่จึงเป็นผู้หญิงที่ทั้งให้กำเนิดลูกแล้ว ยังต้องเลี้ยงดูลูกด้วยน้ำนมจากอกของตนและด้วยคุณธรรม หมายถึงอบรมสั่งสอนให้ลูกของตนดำเนินชีวิตด้วยคุณธรรม

อีกทั้งยังต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิด เพราะลูกที่เกิดมานั้นยังเป็นเด็กอ่อนที่อาจเสียชีวิตได้ง่าย เหตุนี้แม่จึงเป็นผู้หญิงที่มีความสำคัญกับลูกมากเป็นพิเศษ

และวันแม่แห่งชาติ จึงเป็นวันที่แม่หลายๆ คนรอคอยที่จะได้ยินคำบอกรักจากลูกที่เลี้ยงดูมาด้วยน้ำนมจากอกของตน

ทางราชการกำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันแม่แห่งชาติ ซึ่งได้กำหนดเอาวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนพสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้ทำกิจกรรมในวันสำคัญดังกล่าวนี้ และเพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ผู้ทรงเป็นแม่ของแผ่นดิน นับเป็นวันมหามงคลและมหาปีติของคนไทยทั้งชาติ

สมเด็จแม่พระองค์นี้ทรงทุ่มเทพระวรกายให้โครงการในพระองค์มากมาย เช่น โครงการศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร หรือโครงการป่ารักน้ำ เป็นต้น จะว่าไปแล้วโครงการศูนย์ศิลปาชีพก็เปรียบได้กับแม่ที่คอยปกป้องแก่ลูกไทยที่มีภูมิต้านทานน้อย คือพระองค์ทรงมีพระราชดำริขึ้นเพื่อสตรีที่มีฝีมือในการเย็บปักถักร้อยแต่มีรายได้น้อย

โครงการป่ารักน้ำ ก็เปรียบป่าที่โอบอุ้มแหล่งน้ำได้เช่นเดียวกับแม่ที่คอยโอบอุ้มลูก

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมุ่งหวังให้ลูกไทยทุกคนปรองดองกัน สามัคคีกัน และไม่แบ่งแยกเชื้อชาติหรือศาสนา ไม่ว่าลูกไทยเหล่านั้นจะเป็นใครก็ตามก็ทรงมีพระหฤทัยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา แก่ลูกไทยถ้วนทั่วกัน

ข้อนี้จึงนับเป็นบุญของประเทศ

อีกประการหนึ่ง นับว่าเป็นโชคดีของคนไทยที่มีวันแม่แห่งชาติ คือวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่ประชาชนไทยได้ทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างแม่กับลูก แม้ว่ามนุษย์ในโลกนี้หลายชาติหลายภาษาจะออกเสียงคำว่าแม่แตกต่างกัน แต่ความกรุณาหรือคุณธรรมของผู้เป็นแม่ทั่วโลกที่มีให้แก่ลูกมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน

คือแม่ทุกคนในโลกนี้ทำสิ่งที่ผู้อื่นทำได้ยาก เพราะเป็นผู้มุ่งหวังแต่สิ่งดีหรือสิ่งที่เป็นมงคลให้เกิดแก่ลูกของตน

แม้ผู้หญิงบางคนที่ยังไม่ได้อยู่ในฐานะแม่ คือยังไม่มีลูกก็ยังดิ้นรนขวนขวายเที่ยวอ้อนวอนขอพรหรือแม้แต่กราบไหว้ เซ่นสรวงบูชาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ คือเทพหรือเทวดาในศาสนาที่ตนเคารพนับถือหวังจะได้มีลูก หวังจะได้เป็นแม่คน

เมื่อรู้ว่าตนตั้งครรภ์ แม่คนเดียวกันนี้ยังนับวัน นับสัปดาห์ นับเดือน ที่ลูกจะคลอด แม่จึงเป็นผู้หญิงคนเดียวในโลกที่ทำหน้าที่คลอดหรือเบ่งลูกเอง แล้วยังให้ลูกรักของตนดื่มน้ำนมจากอก และกล่อมลูกด้วยเพลงกล่อมลูกที่ออกมาจากใจหรือตามคติในท้องถิ่นนั้นๆ ที่แม่อยู่ หวังเพียงให้ลูกหลับและตนเองจะได้หลับบ้างแม้ระยะสั้นในคืนหนึ่งๆ

วันหนึ่ง แม้ว่าลูกของแม่จะเป็นอันธพาล เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา แม่ไม่เคยเหยียบย่ำหรือผลักไสลูกของตน

ตรงกันข้ามกลับคอยเป็นห่วงเป็นใย อบรมลูกให้ตั้งสติได้ แม้วันหนึ่งลูกจะแต่งงานมีครอบครัว ย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่บ้านภรรยาหรือสามี แม่ก็ไม่ได้ถือว่าลูกตนเป็นคนอื่นตามทะเบียนบ้านที่ลูกย้ายไปสังกัดด้วย และไม่เคยคลายความรักลูกแม้ว่าคำที่ลูกบอกรักและเป็นห่วงอยู่นั้นจะมีก็เฉพาะคู่ชีวิตที่เมื่อโตขึ้นจึงได้มาพบกัน

แม่จึงถือว่าเป็นพรหม เป็นเทวดา เป็นบุรพาจารย์ของลูก และเป็นผู้ที่ลูกควรบูชา

แม่ถือว่าเป็นพรหม เพราะเป็นผู้หญิงคนเดียวในโลกที่เฝ้าภาวนา (เหมือนพรหมที่บำเพ็ญภาวนาจนได้เป็นพรหมชั้นต่างๆ) ให้ลูกของตนได้ดีและเฝ้าคอยห่วงภาวนาอยู่เสมอ

แม่เป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา อย่างหนักแน่นต่อลูก แม่จึงถือว่าเป็นพรหมของลูก

แม่ถือว่าเป็นเทวดา ก็เพราะเป็นบุคคลคนเดียวในโลกที่ไม่เคยจ้องจับผิดลูกของตน แต่เมื่อลูกกระทำความผิดกฎหมายบ้านเมืองแม่ได้กระทำการวางอุเบกขาธรรม ซึ่งเป็นคุณธรรมที่บำเพ็ญได้ยากยิ่ง

กล่าวคือไม่เข้าข้างลูกที่ทำผิดกฎหมาย ตรงกันข้ามกลับพยายามให้ลูกได้สติ แม้บางครั้งหัวใจดวงนี้ต้องวางอุเบกขาธรรมให้ลูกได้สำนึก และยอมกระทั่งให้ลูกต้องรับชดใช้ผลแห่งการกระทำของตนตามกฎหมายบ้านเมือง

คุณธรรมขั้นอุเบกขานี้ผู้ที่เป็นแม่เท่านั้นที่บำเพ็ญได้อย่างครบถ้วน เพราะหวังให้ลูกได้สำนึกจึงต้องวางเฉยและไม่เข้าข้างลูกที่ทำผิด แม่ถือว่าเป็นบูรพาจารย์ (ครูคนแรก) ของลูกเพราะเป็นผู้หญิงคนแรกที่สอนให้ยืน ฝึกหัดให้นั่ง ฝึกให้กลืนข้าว เป็นต้น สอนให้จดจำชื่อพ่อหรือเครือญาติสนิท ก่อนครูคนอื่นๆ

ดังนั้น แม่ จึงถือว่าเป็นพรหมของลูก

วันแม่แห่งชาติปีนี้ จึงเป็นโอกาสพิเศษที่ลูกไทยทุกคนจะได้ทำความดีถวายแม่ของแผ่นดิน พร้อมทั้งสำนึกและตอบแทนผู้หญิงคนเดียวที่ไม่เคยหวังร้ายต่อลูก คือ แม่

หน้า 6

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook