อย่าทิ้งคดีทักษิณ

อย่าทิ้งคดีทักษิณ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
บทนำมติชน

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และครอบครัวถือโอกาสหลังจากชมการเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน หลบหนีการไปรายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 11 สิงหาคม ด้วยการเดินทางไปยังประเทศอังกฤษ โดยมีครอบครัวรอรับอยู่ก่อนล่วงหน้าแล้ว ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ออกแถลงการณ์ระบุสาเหตุที่ไม่เดินทางไปรายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สรุปได้ว่า ขณะนี้มีกลุ่มบุคคลที่ถือ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นศัตรูทางการเมือง ดำเนินการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โดยเอาผลลัพธ์เป็นตัวตั้ง เพื่อจัดการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว โดยไม่คำนึงถึงระบบกฎหมาย และระบบข้อเท็จจริง

ด้วยเหตุดังกล่าว พ.ต.ท.ทักษิณ จึงต้องไม่เดินทางกลับมาสู้คดีในประเทศไทย โดยเลือกที่จะเดินทางไปยังประเทศอังกฤษแทน พร้อมกันนั้น พ.ต.ท.ทักษิณยังยืนยันว่า 1.พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ทุกพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้ 2.ยืนยันว่าตัวเองไม่ใช่คนเลวอย่างที่ถูกกล่าวหา และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมจะแถลงความจริงให้ทุกคนทราบ และ 3.พ.ต.ท.ทักษิณระบุว่า หากยังมีวาสนาจะกลับมาตายบนผืนแผ่นดินไทยเหมือนกับคนไทยทุกคน

คำประกาศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้การเมืองไทยมีคำตอบที่ชัดเจนขึ้น เพราะคำประกาศที่จะไม่เดินทางมาต่อสู้คดีในประเทศไทย คือ การประกาศยอมแพ้ทางการเมือง เหมือนกับกรณีที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หลบหนีคณะรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ หรือ รสช. ไปพำนักอยู่ในประเทศอังกฤษ หลังจากการยึดอำนาจเมื่อปี 2534 โดยประกาศยุติบทบาททางการเมืองไปชั่วคราว ซึ่งการยุติการดำเนินการเช่นนี้ ทำให้การเมืองไทยมีทิศทาง แม้จะเป็นทิศทางภายใต้การนำของคณะรัฐประหารก็ตาม ขณะเดียวกัน คำประกาศของ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับไม่ได้ให้คำตอบชัดเจนในคดีความที่ค้างคาอยู่ชั้นศาล ทั้งนี้เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว ได้กระทำตนเยี่ยงเดียวกับนายสมชาย คุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะ ที่ไม่รอรับฟังคำตัดสินของศาลฎีกา และนายวัฒนา อัศวเหม ที่หลีกหนีการฟังคำตัดสินของศาล หากแต่ทั้งนายสมชาย คุณปลื้ม และนายวัฒนา อัศวเหม ได้หลบหนีไปภายหลังจากดำเนินการยื่นพยานหลักฐาน และให้ปากคำต่อสู้คดีจนถึงที่สุดแล้ว ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณนั้น เพียงแค่เริ่มต้นของการพิจารณา ก็ตัดสินใจหนีทั้งๆ ที่คดียังมิได้นำสืบอย่างถึงที่สุด

การดำเนินการของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว ทำให้ประชาชนไม่ได้รับคำตอบจากกระบวนการยุติธรรมว่า คำฟ้องร้องของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ในคดีความต่างๆ นั้นเป็นจริงหรือเท็จ นอกจากนี้ประชาชนก็ไม่ได้รับคำตอบว่า แนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณที่โต้แย้งต่อข้อกล่าวหาจากฝ่าย คตส.นั้นเป็นจริงหรือเท็จ เป็นคำโต้แย้งที่ถูกหรือผิดกันแน่ พ.ต.ท.ทักษิณที่มีทีท่าว่าจะพึ่งพิงศาลยุติธรรมในครั้งแรกๆ พอเผชิญหน้ากับคดีเงินสินบน 2 ล้านบาท และผลการตัดสินคดีหลบเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ปก็กลับกลายเป็นว่า กระบวนการยุติธรรมไทยถูกแทรกแซงกระนั้นหรือ

ดังนั้น แม้แถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะให้คำตอบในทางการเมืองได้ชัดเจน แต่คำแถลงการณ์ดังกล่าวกลับไม่ได้ให้คำตอบในคดีความต่างๆ ที่มีการฟ้องร้อง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐไทย อันประกอบด้วยรัฐบาล และฝ่ายราชการไทย ที่จะต้องดำเนินการนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีมาดำเนินการชำระข้อเท็จจริงให้จงได้ เพื่อให้ทุกคดีมีคำตอบ และเป็นคำตอบที่เกิดจากการต่อสู้ในชั้นศาลที่ยึดพยานหลักฐาน และข้อเท็จจริงเป็นหลัก อันจะทำให้สังคมไทยได้รับคำตอบที่แน่ชัดว่า พฤติกรรมและวิธีการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผิดหรือถูก โกงหรือไม่โกง ควรเป็นเยี่ยงอย่างหรือไม่ควร ทุกประการน่าจะมีคำตอบจากโจทย์กระบวนการยุติธรรม

หน้า 2

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook